เบาหวานขึ้นจอตา

เบาหวานขึ้นจอตา กำเริบหนัก… เสี่ยงตาบอด!!

คุณหมอจุฑาไลตั้งข้อสังเกตไว้ว่า หากคุณตรวจสอบตนเองแล้วพบว่ามีพฤติกรรมดังกล่าวครบทั้งสามข้อ คุณมีความเสี่ยงมากที่จะมีอาการ เบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic Retinopathy)

โดยอาการ เบาหวานขึ้นจอตา เกิดได้ในหลายลักษณะ คุณหมอจุฑาไลอธิบาย
ไว้ดังนี้
“ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่อง จะทำให้หลอดเลือดฝอยทั่วร่างกายเสื่อม รวมถึงหลอดเลือดฝอยที่ดวงตาด้วย โดยเมื่อเส้นเลือดฝอยบางเส้นในดวงตาเสื่อมลงมาก ๆ จะมีน้ำหรือเลือดซึมออกมากลายเป็นภาวะจอตาบวมน้ำหรือมีเลือดออกในดวงตาได้

สาว, ผู้หญิง, รอยยิ้ม, มีความสุข, กาแฟ

ซึ่งในช่วงเริ่มต้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่รู้สึก อีกทั้งมองไม่เห็นจากภายนอก ต้องส่องด้วย
เครื่องมือเฉพาะของแพทย์จึงจะเห็นว่า มีจุดเลือดเล็ก ๆ อยู่ ซึ่งหากปล่อยไว้นานจะเกิดภาวะเลือดออกในวุ้นตาและภาวะจอตาหลุดลอก ซึ่งจะมีอันตรายตามมา”

เมื่อสอบถามถึงอาการบ่งชี้ที่ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการคุณหมอจุฑาไลชี้ว่า
“คนไข้มักมาพบแพทย์ด้วยอาการเดียวกันคือ ‘ตามัว’ เพียงแต่จะมัวในระดับที่แตกต่างกัน โดยหากมีอาการจอตาบวมก็แค่มองเห็นในระดับที่มัวลงไม่มาก แต่หากมีอาการเลือดออกใน
วุ้นตาหรือจอตาลอกจะมองเห็นในระดับที่มัวลงมาก จนบางรายถึงขั้นมองไม่เห็นนิ้วมือตัวเอง หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็จะตาบอด”

โดยปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอตานั้น มี 2 ปัจจัยสำคัญ

1. ระยะการป่วยเป็นโรคเบาหวาน

นายแพทย์ณวัฒน์ วัฒนชัย อธิบายไว้ในหนังสือ ตาดีได้ ตาร้ายไม่เสีย ว่า เมื่อป่วยเป็นโรคเบาหวานนาน 5 ปี จะมีโอกาสพบอาการเบาหวานขึ้นจอตาทั้งในระดับอาการที่รุนแรงและไม่รุนแรงประมาณร้อยละ 20 โดยความเสี่ยงจะเพิ่มเป็นร้อยละ 80 เมื่อป่วยด้วยโรคนี้เกิน 15 ปี

2. ความสามารถในการคุมระดับน้ำตาลในเลือด

คุณหมอจุฑาไลชี้ว่า หากผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีอย่างต่อเนื่อง โอกาสที่จะเกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอตา ก็จะช้ากว่าคนทั่วไป หรือหากมีอาการก็จะไม่รุนแรงแต่ผู้ป่วยโรคเบาหวานหลายท่านอาจสงสัยว่า ทั้งที่ผลการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดของเขาไม่เคยเกินมาตรฐาน แต่เหตุใดจึงยังป่วยด้วยภาวะเบาหวานขึ้นจอตาได้ คุณหมอจุฑาไลอธิบายว่า การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดมี 2 วิธี ดังนี้ค่ะ

  1. การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทั่วไป (Fasting Blood Sugar Test) คือ การเจาะเลือดเพื่อตรวจสอบระดับน้ำตาลที่ล่องลอยอยู่ในน้ำเลือด ซึ่งจะมีปริมาณไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้ป่วย ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
  2. การตรวจระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (Glycosylated Hemoglobin Test) คือ การเจาะเลือดเพื่อตรวจหาน้ำตาลที่เกาะอยู่บนผนังเม็ดเลือดแดง (Hemoglobin A1c : HbA1c) ซึ่งมีอายุประมาณ 3 เดือน จึงสามารถหาค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลในเลือดในช่วงระยะ 3 เดือนที่ผ่านมาได้

“การตรวจวิธีนี้มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการตรวจแบบแรก และใช้เวลานานกว่า เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการในห้องแล็บ ดังนั้นแพทย์ส่วนใหญ่จะสั่งตรวจก็ต่อเมื่อสงสัยว่าผู้ป่วยไม่มีวินัยในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือด โดยดูแลสุขภาพอย่างเคร่งครัดเฉพาะช่วงก่อนถึงกำหนดตรวจร่างกายทำให้ผลตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นปกติ แต่ในความจริงตัวผู้ป่วยก็ยังมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอตาอยู่ดีค่ะ จึงอยากให้ผู้ป่วยทุกคนมีวินัยในการดูแลตัวเองต่อเนื่องค่ะ”อย่างไรก็ตาม คุณหมอจุฑาไลยืนยันว่า แม้ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มักมีอาการเบาหวานขึ้นจอตาเมื่อป่วยเป็นโรคนี้นานเกิน 5 ปี แต่ก็พบว่า ในผู้ป่วยบางรายที่มีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติคงที่ต่อเนื่อง อีกทั้งดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ก็อาจไม่ปรากฏอาการดังกล่าว

แว่นตา, แว่นอ่านหนังสือ, สวมใส่ตา

CHECKLIST! คุณเสี่ยงต่ออาการเบาหวานขึ้นจอตาหรือไม่

  • คุณเป็นโรคเบาหวานมานานเกิน 5 ปี
  • คุณไม่สามารถรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ หรือรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้แค่บางช่วง เช่น เฉพาะเวลาที่แพทย์นัดตรวจร่างกาย
  • คุณมีอาการตามัว ตั้งแต่ระดับที่มัวน้อยไปจนถึงมองไม่เห็นนิ้วมือ

2 เทคนิคป้องกันเบาหวานขึ้นจอตา

เมื่อผู้ป่วยเกิดอาการเบาหวานขึ้นจอตาขึ้นแล้ว จะรักษาได้หรือไม่ และควรดูแลตัวเองอย่างไร คุณหมอจุฑาไลแนะนำดังนี้ค่ะ

“หลังเกิดอาการตามัวจากภาวะเบาหวานขึ้นจอตาแล้ว ในบางกรณีหากมาพบแพทย์เร็วก็สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ แต่โดยส่วนใหญ่ทำได้เพียงประคับประคองอาการไม่ให้แย่ลงค่ะ”

โดยวิธีการประคับประคองอาการต่าง ๆ ให้คงที่มี 2 วิธี

1. รักษาอาการของโรคเบาหวานไม่ให้ลุกลาม

คุณหมอจุฑาไลแนะนำว่า ทำได้โดยผู้ป่วยต้องควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงควบคุมไขมันในเลือดและความดันโลหิตไม่ให้สูงเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดฝอยเปราะแตก

นอกจากนี้การงดสูบบุหรี่และการออกกำลังกายเป็นประจำก็ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติได้

2. พบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาอย่างสม่ำเสมอ

คุณหมอจุฑาไลกล่าวว่า ในกรณีที่มีอาการเบาหวานขึ้นจอตาแล้ว ควรมาพบแพทย์ตามกำหนดอย่างสม่ำเสมอ ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ยังไม่ปรากฏอาการเบาหวานขึ้นจอตา ก็ควรตรวจดวงตาอย่างน้อยปีละครั้ง

STORY SHARING เพื่อสนับสนุนข้อเท็จจริงดังกล่าว

ขอยกประสบการณ์ของ คุณวาสนา ไทรงาม(อายุ 41 ปี) ซึ่งดูแลคุณพ่อและคุณอาที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานทั้งคู่ แต่มีเพียงคนเดียวที่มีอาการเบาหวานขึ้นจอตาค่ะ“แม้ว่าทั้งพ่อและอาจะป่วยเป็นโรคเบาหวานทั้งคู่ แต่มีพฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลที่แตกต่างกัน พ่อป่วยด้วยโรคนี้มา 10 ปี

โดยหลังจากตรวจพบโรคพ่อก็จริงจังกับการเลือกกินอาหารมากหรือหากวันใดเกิดอยากตามใจปากด้วยการกินของหวาน ก็จะมีแม่และฉันคอยห้ามปราม อีกทั้งคอยกระตุ้นให้ออกกำลังกายช่วงเย็นเกือบทุกวัน

“ขณะที่อาซึ่งป่วยเป็นโรคเบาหวานมา 5 ปี เป็นคนตามใจปากและไม่ค่อยชอบออกกำลังกาย ยกเว้นเมื่อใกล้กำหนดนัดตรวจร่างกาย อาจะหันมาควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดล่วงหน้า 3 – 4 วัน เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงเกินไปและไม่ถูกคุณหมอตักเตือน แต่ท้ายที่สุดอาก็มีอาการเบาหวานขึ้นจอตา ทำให้มีอาการตามัว มองเห็นไม่ชัด เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตพอสมควรค่ะ”

ก๋วยเตี๋ยว, Bandnudeln, พาสต้า, ดิบ


เทคนิคควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วยวิถีชีวจิต

อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต ได้ให้คำแนะนำวิธีการควบคุมระดับน้ำตาลของผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานไว้ในคอลัมน์ โรคภัยใกล้ตัว และคอลัมน์ ถาม – ตอบ ของนิตยสาร ชีวจิต (ปีที่ 9 ฉบับที่ 208) ดังนี้

  1. กินให้ถูก ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรกิน “อาหารชีวจิตสูตร 2” คือ ข้าวไม่ขัดขาวร้อยละ 30 ผักร้อยละ 35 โปรตีนจากถั่วและปลาร้อยละ 25 และกินถั่วเมล็ดเป็นมื้อว่างอีกร้อยละ 10 หากทำได้เช่นนี้ นอกจากระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงจนอยู่ในระดับปกติแล้ว น้ำหนักตัวยังลดลงอีกด้วย
  2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ออกกำลังกายตามความถนัดจะเป็นการรำกระบอง โยคะ ไทชิ หรือเวตเทรนนิ่งก็ได้ เพียงแต่ต้องออกกำลังอย่างต่อเนื่องจนถึงพีค คือหายใจถี่หอบ
  3. เสริมแร่ธาตุที่จำเป็น ควรกินโครเมียมและทองแดง วันละ 0.5 มิลลิกรัม เพื่อช่วยให้ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ดีขึ้น
  4. พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ แม้จะไม่มีอาการ รวมถึงระดับน้ำตาลในเลือดเป็นปกติ แต่ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรพบแพทย์ เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้รวมถึงโรคเกี่ยวกับดวงตาด้วย

เรื่อง ศุภรา ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ

ชีวจิต 458 นิตยสารรายปักษ์ ปีที่ 20 : 1 พฤศจิกายน 2560

– – –  – – – – –  – – – – –  – – – –  – – – –  – – –  – – –  – – –  – – –  – –  – –

บทความน่าสนใจอื่นๆ

เช็ก 7 สัญญาณ ชี้ ปัญหาดวงตา ที่คุณควรทำอะไรสักอย่างก่อนจะแย่กว่านี้

วิธีป้องกัน ดวงตาแห้ง ปัญหาสุขภาพตา ที่มากับหน้าหนาว

รู้หรือไม่ “แสงแดด” ทำร้ายดวงตาได้มากกว่าที่คุณคิด

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.