ช่วยห่างไกลโรคอัลไซเมอร์

เรียนรู้หลากวิธี…ช่วยห่างไกลโรคอัลไซเมอร์

เรียนรู้หลากวิธี…ช่วยห่างไกลโรคอัลไซเมอร์

ว่ากันด้วยเรื่อง “อัลไซเมอร์” ธรรมชาติมักไม่ชอบการฝืนกฎเกณฑ์ โดยเฉพาะสมอง ที่เป็นอวัยวะสุดพิเศษของพวกเราที่คอยรับใช้ไม่หยุดหย่อน แต่เมื่อคุณเริ่มไม่ปฏิบัติต่อสมองอย่างที่ควรจะเป็น สมองเองก็พร้อมนำเรื่องหนักใจมาให้ในเวลาต่อมา และไม่ต้องรอนานด้วยภาวะ สมองเสื่อม “อัลไซเมอร์” โรคความจำบกพร่องที่มนุษย์หวั่นวิตกมากที่สุด ซึ่งเป็นโรคที่ไม่มีใครอยากพบเจอ

เพราะไม่มีอะไรเจ็บปวดไปกว่าการที่คุณค่อยๆ หลงลืมคนที่คุณรัก ประสบการณ์หวานขมที่เคยฝ่าฟันมา หรือแม้กระทั่งความทรงจำต่อตนเองที่ค่อยๆ ลบเลือนหายไป โดยที่สมองคุณไม่สามารถรับใช้ความทรงจำเดิมได้อีก

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างพยายามหาทางพิชิตอัลไซเมอร์ด้วยกระบวนการวิจัยต่างๆ จนเป็นวาระสำคัญระดับโลก แต่ส่วนใหญ่ไปมองที่ปลายเหตุ นั่นคือสมองที่เสียหายแล้วจากโรคอัลไซเมอร์ เซลล์ประสาทถูกทำลายไปจำนวนมากโดยเฉพาะบริเวณที่มีอิทธิพลต่อความทรงจำ ทำให้เกิดความเสื่อมถอยทางด้านสติปัญญา ความทรงจำ ความคิด การมีเหตุผล และยังทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้

วิธีช่วยห่างไกลโรคอัลไซเมอร์

ได้ไปอ่านเจอบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้จาก ศ.เกียรติคุณ ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโสคนสำคัญของไทย ท่านได้บอกเอาไว้ว่าพฤติกรรมการกินของเราเป็นตัวร้ายทีเดียวที่นำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ คนรุ่นใหม่อยู่กับอาหารแคลอรีสูง แทบยังไม่ต้องไปถึงระดับผู้สูงอายุเลยนะ ภาวะติดน้ำตาล กินอาหารไขมันสูงที่มีอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะ นำไปสู่โรคเบาหวาน

งานวิจับพบว่า โรคเบาหวานมีอิทธิพลนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน ซึ่งคนทั่วไปยังไม่ทราบ คนอายุน้อยๆ เดี๋ยวนี้เป็นเบาหวานกันเยอะมาก ทำงานหนัก เครียดเรื้อรัง จนพัฒนาไปสู่โรคซึมเศร้าด้วยอีก และจากโรคซึมเศร้ายังพัฒนาต่อเนื่องเป็นโรคอัลไซเมอร์ในท้ายสุด มันเป็นวัฏจักรราวกับวงจรอุบาทว์

การนอนจำเป็นมากที่เราควรรีบแก้ไข การนอนที่ดีจะมีวงจรของตัวมันเองอันเป็นธรรมชาติ เราจะผ่อนคลาย หัวใจเต้นช้าลง เราก็จะสงบ อุณหภูมิในร่างกายลดต่ำลง การนอนเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สมองจะเก็บเกี่ยวการเรียนรู้ต่างๆ ให้เป็นระบบระเบียบ เพราะฉะนั้นคนที่นอนเป็นระบบมักมีความทรงจำดี ในช่วงเวลานี้สมองจะทำการเก็บกวาดขยะอย่างเบตาอะมีลอยด์ การนอนหลับหรือให้เมลาโทนินทดแทนมีส่วนช่วยกระตุ้นสร้างเซลล์ประสาทใหม่ และซ่อมแซมเซลล์ประสาทที่ตายไประหว่างเป็นโรค ลดเอ็นไซม์ที่สร้างสารที่เป็นพิษซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคสมองเสื่อมอีกด้วย

ดังนั้น คนเราควรต้องนอนให้เป็นจังหวะ ไม่ใช่เกิดอยากนอนตอนไหนก็ได้จนผิด การนอนที่ดี ในเวลาที่เหมาะสมจะทำให้ร่างกายเกิดสมดุลสมดุล และปัญหาสมองเสื่อมก็จะไกลตัวเราออกไปนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เราจะหลีกเลี่ยงพันธุกรรม อายุ และเพศของตัวเองไม่ได้ แต่ยังมีองค์ประกอบอีกมากมายที่เราสามารถดูแลตัวเองให้ห่างไกลอัลไซเมอร์ได้นะคะ… และนี่คือวิธีที่จะช่วยให้เราห่างไกลโรคสมองเสื่อมประเภทอัลไซเมอร์มากขึ้น

1.เล่นเกม ฝึกสมอง ศึกษาเรียนรู้ไม่หยุด

อย่าให้สมองหยุดการเรียนรู้สิ่งใหม่ เพราะสมองยิ่งใช้ ยิ่งฉลาด ยิ่งแข็งแรง การหมั่นศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความรู้วิชาการ หรือแม้แต่การใช้สมองเพื่อเล่นเกม ก็นับเป็นการฝึกสมองอยู่ตลอดเวลา เป็นการช่วยลดความเสี่ยงโรคสมอ เสื่อมอัลไซเมอร์ได้

เล่นเกมฝึกสมอง

2.รักษาความดันโลหิตให้เป็นปกติ

ใครที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ควรควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติให้ได้ นอกจากจะเป็นผลดีช่วยลดความเสี่ยงในทุกๆ โรคแล้ว ยังลดเสี่ยงอัลไซเมอร์ได้ด้วย นอกจากนี้ก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนดึก เลิกดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และจำกัดการกินของเค็ม หวาน มัน อาหารรสจัดและอาหารแปรรูปด้วย

3.อย่าปล่อยให้หูเป็นอะไร

การที่เรามีหูตึง หูเสีย ได้ยินไม่ชัดเจน จนทำให้การรับรู้เสียงต่างๆ แย่ลง สมองที่ทำหน้าที่แปลงเสียงเป็นความหมายก็จะค่อยๆ ถูกปิดกั้นไปด้วย ซึ่งถือเป็นการกระทบต่อการพัฒนาสมองส่วนอื่นๆ เป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้โดยไม่รู้ตัว ใครที่ชอบฟังเพลงเสียงดังๆ หรือทำงานอยู่ในที่ที่เสียงดังๆ ควรเลิกหรือหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะหูเสื่อมไว้ด้วย

4.อ้วนไปผอมไป ต้องรีบแก้ไขน้ำหนักตัว

ไม่น่าเชื่อว่าน้ำหนักตัวที่ผิดปกติจะมีผลต่อการเป็นอัลไซเมอร์ ดังนั้น เราควรรักษาน้ำหนักตัวให้ได้มาตรฐาน คือมีดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อ้วนลงพุงหรือผอมเป็นหนังหุ้มกระดูก ใครที่รู้ตัวว่าอ้วนหรือผอมเกินไป ต้องจัดสรรการกิน การนอน และหมั่นออกกำลังกายลดไขมัน เพิ่มกล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอด้วยนะ

5.เบาหวาน ต้นเหตุอีกหลายโรค

ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีเลย เพราะผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะส่งผลให้เป็นโรคอื่นๆ ได้อีกหลายโรค เช่น โรคหลอดเลือดตีบ โรคหัวใจ รวมถึงอัลไซเมอร์ด้วย ดังนั้น ควรพบแพทย์เป็นประจำ กินยาตามคำแนะนำ และควบคุมการกินให้ดีเพื่อสุขภาพโดยรวม

หันมาออกกำลังกาย

6.ทำตัวให้คึกคัก หาเวลาพักร้อนไปเที่ยวบ้าง

เชื่อไหมว่า.การคิดบวก มองโลกในแง่ดี เปิดโลกให้กว้าง การเดินทางพักร้อน จะช่วยให้สมองปลอดโปร่ง นอกจากจะช่วยลดเสี่ยงโรคซึมเศร้าแล้ว ยังช่วยลดเสี่ยงอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย และหากใครที่กำลังมีปัญหาชีวิต ควรรีบไปปรึกษาแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนวิธีคิด และใช้ชีวิตให้มีความสุขขึ้นให้ได้

7.จ็อกกิ้ง วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ช่วยได้

หันมาออกกำลังกายแบบที่ทำให้หัวใจเต้นแรงที่เรียกว่า “คาร์ดิโอ” กันเถอะ เพราะอัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มขึ้นระหว่าง 60-85% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดจะทำให้ร่างกายแข็งแรง เลือดสูบฉีด สมองแจ่มใส และควรทำให้ได้อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือจะฟิตกล้ามด้วยก็ได้นะ เพราะการมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงจะทำให้ออกกำลังกายได้ดีขึ้นด้วย

8.หมั่นเข้าสังคมบ่อยๆ

การเข้าสังคม ได้พูดคุย ทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ เป็นการกระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้น อาจเลือกทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น เต้นรำ งานประดิษฐ์ เป็นอาสาสมัคร เข้าร่วมชมรมร้องเพลง เพื่อสร้างความบันเทิง ได้หัวเราะ ได้ท่องเที่ยว หรือการไปเล่นกับเด็กๆ เป็นครูอาสา หรือแม้แต่การเลี้ยงหลานเล็กๆ ก็จะช่วยให้สมองมีชีวิตชีวา สดชื่นแจ่มใสนะ

เป็นยังไงกันบ้างคะกับหลากหลายวิธีที่จะช่วยบริหารสมอง ให้กลับมาสดใส ห่างไกลอัลไซเมอร์ ลองเลือกทำตามที่ชอบ เลือกมาปรับใช้ให้ชีวิตและสุขภาพดีขึ้น ก็จะสุขทั้งกายและใจ แถมโรคอื่นใดก็จะห่างไกลไปอีกด้วย คราวนี้ก็จะแข็งแรงและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไปเต็มเปี่ยมด้วยพลังกันเลยทีเดียว

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

CHECK NOW! สัญญาณเตือน โรคสมองเสื่อม (อัลไซเมอร์) ที่ต้องระวัง

กิจกรรมที่ผู้สูงอายุ ช่วยลดภาวะซึมเศร้า ชะลอภาวะสมองเสื่อมได้

ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงวัย สิ่งที่ผู้ดูแลต้องรู้ไว้ก่อนสายเกินแก้!

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.