สมุนไพรถั่งเช่า

“ถังเช่า” กับหลากเรื่องน่ารู้ก่อนซื้อกิน

“ถังเช่า” กับหลากเรื่องน่ารู้ก่อนซื้อกิน

ณ วันนี้คงไม่มีใครที่ไม่เคยได้ยิน คำว่า “ถั่งเช่า” สมุนไพรที่เป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในบรรดาผู้ที่ต้องการหาอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ว่าเป็นสิ่งที่มีสรรพคุณทางยา ช่วยบำรุงร่างกายได้ดี ซึ่งจริงๆ แล้ว “ถั่งเช่า” คืออะไร มีสรรพคุณตามที่หลายคนพูดถึงหรือไม่? บทความนี้มีคำตอบค่ะ

“ถั่งเช่า”  ถือได้ว่าเป็นยาสมุนไพรที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศจีนนานนับศตวรรษ ถั่งเช่าอุดมไปด้วยสารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ ได้แก่ โพลีแซคคาไรด์ (galactomannan), นิวคลีโอไทด์ (adenosine, cordycepin), cordycepic acid, กรดอะมิโน และสเตอรอล (ergosterol, beta-sitosterol) นอกจากนี้ยังประกอบด้วยสารอาหารสำคัญอื่น ๆ เช่น โปรตีน วิตามินต่างๆ (Vit E, K, B1, B2 และ B12) และแร่ธาตุต่างๆ (โพแทสเซียม โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี และซิลิเนียม) เป็นต้น (ข้อมูลจาก https://bit.ly/3a0LSSx )

ทำความรู้จัก “ถั่งเช่า” กันก่อน

“ถั่งเช่า” (Ophiocordyceps sinensis) หรือหญ้าหนอน เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง เกิดมาจากสปอร์เชื้อราที่ไปเจริญเติบโตบนตัวอ่อนหนอนผีเสื้อ คนไทยจะเรียกว่าเห็ดถั่งเช่า ซึ่งจำศีลอยู่ใต้ดินในฤดูหนาว แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนจึงทำให้สปอร์เห็ดเติบโตขึ้นโดยดูดสารอาหารจากตัวอ่อนหนอนและงอกขึ้นบริเวณส่วนหัวของตัวหนอน จึงพบว่าถั่งเช่าจะประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนที่เป็นตัวอ่อนของผีเสื้อและอีกส่วนเป็นสปอร์เห็ด มักพบในเขตภูเขาสูงแถบเทือกเขาหิมาลัย ที่ราบสูงทิเบตและจีน

จริงๆ แล้ว ถั่งเช่ามี 400 กว่าสายพันธุ์ บางชนิดบริโภคได้ บางชนิดมีพิษ แต่ถั่งเช่าที่คนไทยรู้จักดีเนื่องจากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้อนุญาตมาเป็นเวลาร่วม 10 ปี ได้แก่ ถั่งเช่าสายพันธุ์ทิเบต เราจึงมักได้ยินชื่อถั่งเช่าทิเบตบ่อยๆ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ยังมีถั่งเช่าสายพันธุ์อื่นๆ อีก และไม่ใช่ถั่งเช่าปลอม แค่มีชื่อและสกุลที่ต่างกัน เช่น ถั่งเช่าสีทอง

ถั่งเช่าแห้ง

ถั่งเช่าหิมะ แม้กระทั่งถั่งเช่าที่ค้นพบในประเทศไทยเอง อย่างถั่งเช่าเขาใหญ่ แต่สรรพคุณนั้นแตกต่างกัน เพราะแน่นอนว่าต่างสายพันธุ์ก็ต่างสารออกฤทธิ์ ส่วนถั่งเช่าสายพันธุ์ทิเบตที่จัดว่าปลอม ส่วนมากเป็นการค้าขายที่ไม่สุจริต เช่น สอดไส้ตะกั่วเพื่อเพิ่มน้ำหนัก การต้มสกัดน้ำออกไปและนำมาทำแห้งขายใหม่ ดังนั้นก่อนที่ผู้บริโภคจะซื้อหามารับประทานก็ควรศึกษาถึงแหล่งที่มั่นใจและเชื่อถือได้เป็นสำคัญ

ทำไมถั่งเช่ามีทั้งถูกและแพง แตกต่างกัน

ถั่งเช่าทิเบตที่เก็บเกียวจากธรรมชาติ ส่วนมากจะมีราคาสูง (ตัวละ 300-5,000 บาท) เนื่องจากความเชื่อที่มีมาแต่โบราณว่าของดีต้องมาจากธรรมชาติเท่านั้น หรือถั่งเช่าแท้จะต้องเป็นตัวๆเท่านั้น ทำให้ความต้องการของถั่งเช่านั้นพุ่งขึ้นไปพร้อมๆกับราคาเพราะถือว่าเป็นสิ่งที่หายากและมีจำกัด ต่อมามีข้อมูลจากงานวิจัยบ่งชี้การพบปริมาณสารหนู (arsenic) ของถั่งเช่าหลายๆแหล่งที่พบในธรรมชาติ ดังนั้นผู้บริโภคที่นิยมบริโภคถั่งเช่าเป็นตัวๆ ควรส่งวิเคราะห์โลหะหนักก่อนการบริโภค

ปัจจุบันมีการนำถั่งเช่าทิเบตผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารค่อนข้างหลากหลาย และพวกนี้แตกต่างกันอย่างไร?

คำตอบคือ ถั่งเช่าทิเบตนั้นในต่างประเทศหลายๆ ประเทศ เช่น อเมริกาและจีน มีการเพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งกระบวนการที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงย่อมแตกต่างกันไป ทำให้มีราคาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสารออกฤทธิ์คอร์ไดซิปินที่ถูกผลิตขึ้นนั่นเอง ซึ่งถั่งเช่าทิเบตที่เพาะเลี้ยงออกมาแล้วมีสารคอร์ไดซิปินในปริมาณที่ต่ำมาก หรือบางแหล่งก็ตรวจหาสารออกฤทธิ์ไม่เจอเลย ราคาจึงถูกกว่า นั่นเพราะด้วยปัจจัยการเพาะเลี้ยงที่มีต้นทุนและกรรมวิธีแตกต่างกัน ทำให้ถั่งเช่าในท้องตลาดมีคุณภาพหลายเกรด และแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงถึงแม้จะถูกนับเป็นถั่งเช่าแท้เหมือนกันก็ตาม เพราะผลการตรวจ DNA ตรงกันกับถั่งเช่าทิเบตในธรรมชาติถึง 99.8%

แม้ว่าถั่งเช่าจากการเพาะเลี้ยงจะเป็นสมุนไพรจากยุคโบราณ ที่มีสรรพคุณและประโยชน์หลากหลายที่มีงานวิจัยรองรับ และค่อนข้างปลอดภัยในการรับประทาน เนื่องจากไม่มีสารตกค้างหรือผลข้างเคียงที่อันตรายอะไรนัก แต่ถั่งเช่าเองก็มีข้อห้ามหรือข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่จะรับประทานบางคนเช่นกัน หรือบางคนก็ควรระวังและทานในปริมาณที่เหมาะสม ดังนั้นมาลองดูกันว่า ถั่งเช่ามีข้อควรระวังสำหรับใครบ้าง

ถั่งเช่าเป็นสมุนไพรจากยุคโบราณ

“ถั่งเช่า” ข้อควรระวัง ใครบ้าง

ถั่งเช่า ข้อที่ควรระวังในการรับประทานดังที่กล่าวมา ซึ่งก็เป็นข้อห้ามและคำเตือนสำหรับผู้ที่ต้องการรับประทานถั่งเช่าที่เราหรือลูกหลานของผู้สูงอายุอาจจะต้องตรวจสอบดูด้วยว่าร่างกายของเราหรือพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเราอยู่ในข่ายนี้หรือไม่

  1. ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ จะไปเสริมฤทธิ์กับยาลดน้ำตาลในเลือด
  2. ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด
  3. ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive) ทั้งนี้เพราะว่าถั่งเช่ามีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน
  4. ขนาดบริโภคของผู้ใหญ่ (อายุมากกว่า 18 ปี) อ.ย. แนะนำให้บริโภคไม่เกินวันละ 3 กรัม ชงกับน้ำร้อน หรือประกอบอาหาร ขนาดการใช้ที่มากเกินไปอาจจะก่อเกิดผลเสียได้
  5. การใช้ในหญิงมีครรภ์ หญิงในนมบุตร และในเด็ก ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ
  6. ห้ามใช้ในคนที่แพ้เห็ด Cordyceps ผู้ป่วยที่มีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และผู้ป่วยที่มีการเต้นของหัวใจผิดปกติ

ถั่งเช่าที่ไม่มีสารปนเปื้อน

เลือก “ถั่งเช่า” ที่ไม่มีสารปนเปื้อน        

เนื่องจากข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับถั่งเช่ายังเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ คำแนะนำในการรับประทานยังมีปริมาณที่อาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแหล่งที่มา

การบริโภคถั่งเช่าแบบดั้งเดิมจะใช้วิธีบดละเอียดแล้วชงเป็นชาหรืออาจรับประทานด้วยวิธีต้มน้ำในน้ำแกงจืด หรือโดยปรุงสุกพร้อมเนื้อสัตว์ นอกเหนือไปจากวิธีแบบเดิม ปัจจุบันการรับประทานถั่งเช่ามีความสะดวกสบายกว่าเดิมมาก เพราะมีการผลิตออกมาในหลายรูปแบบ เช่น ผงเส้นใย สารสกัดจากเส้นใย นอกจากนี้ยังมีในรูปแบบที่เป็นแคปซูลอัดเม็ด แต่ความน่าเชื่อถือหรือคุณภาพมาตรฐานของสินค้าเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมาก เช่น มีความบริสุทธิ์ของเชื้อถั่งเช่าที่เพาะเลี้ยงหรือไม่ มีโลหะหนักปนเปื้อนหรือไม่ และมีสารออกฤทธิ์คงเหลืออยู่ในเกณฑ์หรือไม่ในกระบวนการผลิต เป็นต้น (ควรขอข้อมูลการวิเคราะห์จากผู้ผลิตโดย)

หากพิจารณาถึงคุณภาพที่ดีของถั่งเช่าที่ปราศจากความเสี่ยงจากการปนเปื้อนของสารตะกั่วอาจพบได้ในถั่งเช่าที่เพาะเลี้ยงได้จากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ ซึ่งมีข้อมูลการวิเคราะห์สารออกฤทธิ์ต่างๆ และโลหะหนักน่าจะคุ้มค่ากว่าและมีประสิทธิภาพใกล้เคียงหรืออาจจะมากกว่าการรับประทานถั่งเช่าจากธรรมชาติ

ทั้งนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า ในกรณีของผู้ป่วยที่เป็นโรคไต สามารถรับประทาน “ถั่งเช่า” เพื่อช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยปรับสมดุลการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะให้ดีขึ้น เป็นการใช้ในลักษณะการช่วยเสริมการรักษาหลักให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นจึงห้ามละทิ้งการรักษาหลักโดยแพทย์ผู้รักษา และจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง อยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจต้องมีการตรวจติดตามการทำงานของไตอยู่เป็นระยะ

นอกจากนี้ กลุ่มผู้บริโภคทั่วไปที่ใส่ใจสุขภาพ ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างพร่ำเพรื่อ ควรใช้ด้วยความเข้าใจ จึงควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความรู้ด้านสมุนไพรทั้งก่อนและในระหว่างการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้นๆ อย่างสม่ำเสมอ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.