ปวดข้อ โรคข้อต่ออักเสบ

5 วิธีสยบ ปวดข้อ อาการยอดฮิตผู้สูงอายุ

อาการ ปวดข้อ เป็นอีกหนึ่งอาการยอดฮิตของใครหลายคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อวัยวะเริ่มมีความเสื่อมไปตามวัย เริ่มตั้งแต่อาการปวดเล็กน้อยไปจนถึงอาการปวดรุนแรงทนไม่ได้ สำหรับ อาการปวดข้อ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและพยาธิสภาพที่เกิดขึ้น

โดยเราได้รวบรวมวิธีบำบัดแบบธรรมชาติ ที่ช่วยแก้อาการ ปวดข้อ ยอดฮิต มาแนะนำดังนี้

วิธีที่ 1 ยาพอกแก้อาการปวดข้อเข่า

สำหรับอาการปวดข้อเข่านั้นมีหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การปวดข้อเข่าจากความเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน) โรคเกาต์ (เกิดจากการมีกรดยูริก
ในเลือดสูง และมีการตกผลึกของกรดยูริก) ในทางการแพทย์แผนไทยแบ่งอาการปวดข้อเข่าออกเป็น 2 ประเภท คือ จับโปงแห้งและจับโปงน้ำ ซึ่งทั้งสองอาการมีความแตกต่างกันไป
ตามพยาธิสภาพ

จับโปงน้ำ คือข้อเข่ามีอาการปวด บวม แดงร้อน ส่วนจับโปงแห้ง คือมีอาการปวด แต่ไม่มี
อาการบวม แดง ร้อน มีเสียงในข้อเข่าเวลาเดินซึ่งการดูแลและรักษามีความแตกต่างกัน

NATURAL PAINKILLER

แนะนำว่า ผู้ที่มีอาการปวดข้อเข่าควรใช้ยาพอกเข่าในการรักษา เพื่อช่วยลดอาการปวด
ช่วยนำสารอาหารมาเลี้ยงข้อเข่ามากขึ้น และช่วยดูดพิษร้อน ซึ่งมีวิธีทำดังนี้
สูตรยาร้อน (สำหรับข้อเข่าที่มีอาการปวด แต่ไม่มีอาการบวม แดง ร้อน) ประกอบด้วยขิง
น้ำตาล ไพล ปริมาณเท่า ๆ กัน และพริก 2 – 3 เม็ด
สูตรยาเย็น (สำหรับข้อเข่าที่มีอาการปวด บวมแดง ร้อน) ประกอบด้วยดินสอพอง ยาเขียว
ใบย่านาง ตำลึง ปริมาณเท่า ๆ กัน
วิธีทำ ตำสมุนไพรทั้งหมดเข้าด้วยกันพอหยาบ แล้วนำมาพอกเข่าที่มีอาการปวด พันด้วยผ้า
พันแผล ทิ้งไว้ 15 – 20 นาที แล้วล้างออก

วิธีที่ 2 ปูไต่แก้อาการปวดข้อไหล่ติด

แพทย์หญิงชยาภรณ์ โชติญาณวงษ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า ไหล่ติดเป็นภาวะที่หัวไหล่ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้สุดพิสัย ตามองศาการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะขยับเองหรือให้ผู้อื่นช่วยขยับ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดไหล่
โดยสาเหตุการเกิดนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่า เกิดจากการอักเสบ
ของเยื่อหุ้มข้อและมีการหนาตัวของเยื่อหุ้มข้อจนเป็นพังผืดตามมา ทำให้เคลื่อนไหวข้อ
ได้น้อยลงนั่นเอง

NATURAL PAINKILLER

สำหรับท่าบริหารข้อไหล่เมื่อมีอาการไหล่ติด ขอแนะนำท่าปูไต่ เหมาะสำหรับคนที่
ใช้แขนข้างเดียวเป็นประจำ เช่น ครู อาจารย์ที่ต้องเขียนกระดาน ช่างตัดผม – ดรายผม
ฯลฯ โดยมีวิธีดังต่อไปนี้

  1. ยืนหันหน้าเข้าผนังหรือหันด้านข้างเข้าผนัง โดยยืนห่างจากผนังประมาณ 1 ฟุต
  2. วางมือที่ผนัง แล้วใช้นิ้วไต่ผนังขึ้นไปเรื่อย ๆ ให้สูงที่สุดเท่าที่จะทนปวดได้ แล้วทำ
    เครื่องหมายไว้ วันต่อมาก็พยายามทำให้สูงกว่าเดิม อย่าเขย่งหรือเอี้ยวตัว
  3. ทำซ้ำช้า ๆ อย่างน้อยวันละ 10 – 15 ครั้ง
    ในกรณีที่อาการปวดไหล่ไม่รุนแรงให้ประคบด้วยความร้อน โดยใช้ถุงนํ้าร้อน ผ้าชุบ
    นํ้าอุ่น หรือลูกประคบสมุนไพร และเริ่มบริหารข้อไหล่ได้ตามปกติ หรือทำเป็นประจำ
    ก็ช่วยป้องกันข้อไหล่ติดได้เช่นกัน

วิธีที่ 3 ฤาษีดัดตนป้องกันอาการปวดข้อมือ

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ศุภชัย รัตนมณีฉัตร ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า อาการปวดข้อมือที่พบได้บ่อยคือกลุ่มของ Carpal Tunnel Syndrome ทำให้เกิดอาการกระดูกข้อมือเจ็บปวด ข้อกระดูกนิ้วมือเสื่อมและชา ซึ่งเกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ เช่น การกดแป้นพิมพ์ และการใช้เมาส์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน การจับเมาส์โดยมีข้อมือเป็นจุดหมุน อาจเกิดพังผืดบริเวณข้อมือ หากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการชาจนไม่สามารถหยิบของได้ รวมไปถึงบุคคลที่มีอาชีพขายส้มตำ ช่างตัดผม ด้วยเช่นกัน

NATURAL PAINKILLER

ขอแนะนำท่าฤาษีดัดตน ท่าอวดแหวนเพชร ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดโรคนิ้วล็อก บริหารส่วนแขน ข้อมือ นิ้วมือ ทำให้เลือดลมไหลเวียนได้ดีขึ้นมีวิธีฝึกดังนี้

  • ท่าเตรียม นั่งชันเข่า
  • ท่าปฏิบัติ เหยียดแขนทั้งสองข้างให้ตรง และหงายฝ่ามือซ้ายขึ้น แล้วใช้มือขวาดัดที่บริเวณฝ่ามือซ้าย กางมือซ้ายออกแล้วค่อย ๆ พับนิ้วทั้ง 5 ลงทีละนิ้วจนครบ สลัดข้อมือขึ้น – ลงขณะที่กำลังกำมืออยู่ ทำ 5 – 10 ครั้งแล้วสลับข้าง

วิธีที่ 4 กระต่ายขาเดียว

ป้องกันข้อเท้าแพลงซ้ำ อาการปวดข้อเท้าที่พบได้บ่อยคือ อาการข้อเท้าแพลง เกิดจากการพลิกของข้อเท้าทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ ปวด และมีอาการบวม พบได้บ่อยในนักกีฬาหรือคนที่ใช้ข้อเท้าเยอะ ๆ การเดินบนพื้นที่ไม่เรียบ การกระโดด หรือแม้กระทั่งการสวมรองเท้าส้นสูงก็เพิ่มความเสี่ยงเกิดข้อเท้าแพลงได้ โดยเฉพาะคนที่เคยมีอาการเท้าพลิกมาก่อนยิ่งต้องระวัง และต้องทำให้ข้อเท้าแข็งแรง เพื่อป้องกันการเกิดข้อพลิกซ้ำ

นักกายภาพบำบัด วรท เอกพินิจพิทยา คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้มีโอกาสเท้าพลิกซ้ำ เพราะข้อเท้ามีเยื่อหุ้มข้อต่อและเอ็นอยู่รอบ ๆ ซึ่งมีหน้าที่สร้างความมั่นคงให้กับข้อต่อ นอกจากนี้ยังมีตัวรับความรู้สึก (Receptor) ของข้อต่อที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทรับความรู้สึก ดังนั้นคนที่เคยเท้าพลิกและเกิดการบาดเจ็บมาก่อนจะทำให้เยื่อหุ้มข้อและเอ็นเสียหาย และเกิดความบกพร่องของการรับรู้ความรู้สึกของข้อต่อ ปฏิกิริยาการตอบสนองอัตโนมัติมีความล่าช้าลง จึงเพิ่มโอกาสการบาดเจ็บซ้ำได้ง่ายขึ้น และหากบาดเจ็บซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จะทำให้ข้อเท้าหลวมได้

NATURAL PAINKILLER

ข้อมูลจากวารสาร Medicine & Science in Sports & Exercise แนะนำวิธีฝึกการทรงตัวเพื่อกระตุ้นการรับรู้ความรู้สึกของข้อต่อแบบง่าย ๆ ที่สามารถป้องกันและลดการบาดเจ็บ จากข้อเท้าแพลงซ้ำซ้อน โดยเรียงลำดับตามความง่ายไปยาก ดังต่อไปนี้

  1. ยืนด้วยขาข้างเดียวบนพื้นแข็ง กางแขนสองข้าง ลืมตา
  2. ยืนด้วยขาข้างเดียวบนพื้นแข็ง กอดอก ลืมตา
  3. ยืนด้วยขาข้างเดียวบนพื้นนุ่ม กางแขนสองข้าง ลืมตา
  4. ยืนด้วยขาข้างเดียวบนพื้นนุ่ม กอดอก ลืมตา
  5. ยืนด้วยขาข้างเดียวบนพื้นแข็ง กางแขนสองข้าง หลับตา
  6. ยืนด้วยขาข้างเดียวบนพื้นแข็ง กอดอก หลับตา
  7. ยืนด้วยขาข้างเดียวบนพื้นนุ่ม กางแขนสองข้าง หลับตา
  8. ยืนด้วยขาข้างเดียวบนพื้นนุ่ม กอดอก หลับตา

วิธีฝึก ควรอยู่ใกล้กำแพงเพื่อให้สามารถยึดจับกำแพงได้ และสามารถลืมตาได้ในขณะที่รู้สึกไม่มั่นคง ในการฝึกแต่ละครั้ง ให้ทำท่าละ 30 วินาที จำนวน 3 รอบ โดยมีช่วงพักในแต่ละรอบนาน 30 วินาที

วิธีที่ 5 หลีกเลี่ยงอาหารที่มีพิวรีนสูง

โรคเกาต์ เป็นโรคหนึ่งที่มีสาเหตุมาจากการกินอาหาร ซึ่งวิธีการป้องกันและรักษาอาการปวดข้อจากโรคเกาต์ได้ดีที่สุดคือ การเลี่ยงอาหารที่มีสารพิวรีนสูงเพราะจะทำให้เกิดการอักเสบของข้อได้

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปารยะ อาศนะเสน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ระดับกรดยูริกในเลือดสูงเกิดจากร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมากกว่าปกติ หรือกินอาหารที่มีสารพิวรีนสูง ซึ่งสารนี้จะเปลี่ยนไปเป็นกรดยูริกในเลือด ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูง ผิดปกติจนกลายเป็นโรคเกาต์และมีอาการปวดข้อได้

NATURAL PAINKILLER

ดังนั้น คนที่มีกรดยูริกในเลือดสูงผิดปกติควรงดอาหารที่มีสารพิวรีนสูง ซึ่งมีดังนี้อาหารต้องห้าม…มีพิวรีนสูง

  • ถั่วและเมล็ดต่าง ๆ เช่น ถั่วพู ถั่วงอก ถั่วแขก ถั่วลันเตา ถั่วฝักยาว ถั่วลิสง ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว และถั่วเหลือง
  • ผักต่าง ๆ เช่น ผักคะน้า ผักบุ้งจีน ผักบุ้งไทย ต้นกระเทียม หน่อไม้ ดอกกะหล่ำ ตำลึง สะตอ กระถิน ใบขี้เหล็ก ชะอม
  • เนื้อสัตว์ต่าง ๆ เช่น หมู วัว ไก่ ปลาดุก ไต กึ๋น ตับ และเครื่องในอาหารแนะนำ…มีพิวรีนต่ำ
  • ข้าวชนิดต่าง ๆ ยกเว้นข้าวโอ๊ต
  • ผักต่าง ๆ เช่น ถั่วงอก คะน้า
  • ผลไม้ชนิดต่าง ๆ
  • ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น ไข่ นมสด เนย ขนมปัง ไขมันจากพืช และสัตว์

อย่าลืมว่า เราสามารถหยุดอาการปวดได้ด้วยตัวเอง หากรู้จักวิธีป้องกันและปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง เพราะว่าไม่มีหมอคนไหนจะดีเท่ากับการที่เราเป็นหมอรักษาตนเอง

เรื่อง พท.ป.ชารีฟ หลีอรัญ ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ

ชีวจิต 454 – FREE 84 TIPS FOR NEW AGING

นิตยาสารรายปักษ์ ปีที่ 20 : 1 กันยายน 2560

– – –  – – – – –  – – – – –  – – – –  – – – –  – – –  – – –  – – –  – – –  – –  – –

บทความน่าสนใจอื่นๆ

เทคนิค แก้ปวดข้อ สำหรับผู้ป่วยโรคเอสแอลอี

เกาต์… โรคปวดข้อที่ป้องกันได้

ปวดข้อมือไม่หาย ทำอย่างไรดี ?

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.