ห้อม

ห้อม สมุนไพรสีน้ำเงินคราม ตำรับยาลดปวดของชาวไทยพวนทุ่งโฮ้ง

การเดินทางในครั้งนี้ของผู้เขียนจึงเลือกเดินทางด้วยรถไฟขบวนกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ โดยมีจุดหมายปลายทางที่สถานีเด่นชัย เพื่อไปค้นหาเรื่องราวภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพและสมุนไพรของชุมชนไทยพวนดั้งเดิมที่บ้านทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่ ซึ่งมีพืชโบราณให้สารสีน้ำเงินครามและเป็นสมุนไพรอย่างดีอีกชนิดหนึ่ง นั่นคือ ต้น ห้อม

พ่อหมอทวี ก๋าทองทุ่ง หมอพื้นบ้านดีเด่น จังหวัดแพร่ ปี พ.ศ. 2562 และเจ้าของโรงงานโชคทวีโอสถ เล่าว่า จากการศึกษาค้นคว้าในตำรายาโบราณเมืองแพร่หลายเล่ม พบว่า ห้อม มีอยู่ 4 ชนิด คือ ห้อมแท้ หรือ ห้อมบ้าน

ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ชาวไทยพวน นำเข้ามาปลูกในชุมชนบ้านทุ่งโฮ้ง ตั้งแต่อพยพมาจากเมืองพวน แขวงเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ลักษณะของห้อมชนิดนี้มีลำต้นเป็นพุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 1 เมตร ใบรูปไข่ปลายแหลม ขอบใบมีลักษณะหยัก แบบฟันเลื่อย
ห้อมช้าง มีลักษณะเหมือนห้อมแท้ แต่ใบมีขนาดใหญ่กว่า และลำต้นสูง ห้อมชนิดนี้ให้สารสีครามสูงกว่าห้อมบ้าน
ห้อมเกี้ยว เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก พบเห็นได้ทั่วไปตามสวนหรือทุ่งนา ดอกมีขนาดเล็กสีขาว

และ ห้อมเกี้ยวคำ มีลักษณะเหมือนห้อมเกี้ยว แต่ดอกมีสีเหลืองทอง หมอพื้นบ้านเมืองแพร่จะใช้ห้อมทั้ง 4 ชนิดนี้เข้ายาสำคัญหลายตำรับ

“สมัยก่อน หากละอ่อนหรือเด็กเล็ก ๆ ในบ้านมีอาการเป็นไข้ตัวร้อนจะตำห้อมบ้านพอกไว้ที่หน้าผากและศีรษะ ใช้ผ้าสะอาดพันทับไว้…ห้อมบ้านเป็นยารสเย็น จึงมีสรรพคุณช่วยลดไข้”

เส้นทางหมอยาแห่งบ้านทุ่งโฮ้ง

ความรักในสมุนไพรของหมอพื้นบ้านดีเด่นแห่งบ้านทุ่งโฮ้ง เริ่มมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็กวัด อาศัยอยู่ที่วัดปทุม อำเภอเหมืองหม้อ จังหวัดแพร่ มีพระครูถาวรชัยกิจ เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งท่านเป็นพระหมอยา ที่มีความเชี่ยวชาญการปรุงยาสมุนไพรหลายตำรับ จนเป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้านทั้งใกล้และไกลในยามเจ็บป่วย

“ตั้งแต่เป็นเด็กวัด ก็มักจะอาสาไปช่วยพระเก็บหาสมุนไพร เราก็ไปด้วย ไปศึกษา ไปจดไปจำมาตลอด สมัยนั้น ที่วัดมีชื่อเสียงเรื่องยาผงเหลืองขนานที่ 1 ยาสีมูลหลวง และยาแก้ลูกขาว ซึ่งยาทั้ง 3 ชนิดนี้ หลวงพ่อจะทำอยู่ตลอดไว้รักษาชาวบ้าน เราก็ไปช่วยกันหาสมุนไพรตามสวนตามทุ่งนา จึงรักสมุนไพรตั้งแต่นั้นมา”

นอกจากพ่อหมอทวีจะได้เรียนรู้เรื่องสมุนไพรและตำรับยาจากพระครูถาวรชัยกิจแล้ว ก็ยังมีโอกาสเดินทางไปศึกษาเรียนรู้จากหมอพื้นบ้านชื่อดังของเมืองแพร่อีกหลายท่าน จนวันหนึ่งมีชาวบ้านเกิดอาการเจ็บท้องอย่างรุนแรงมาให้ช่วยรักษา เมื่อพ่อหมอทวีตรวจคลำดูที่ท้องก็พบว่ามีลักษณะเป็นก้อน ซึ่งหมอพื้นบ้านจะบอกว่าเป็นเถาดาน จึงวินิจฉัยว่าคืออาการของโรคฝีลม หรือในปัจจุบัน คือโรคกรดไหลย้อน อาการดังกล่าวหากปล่อยให้เป็นเรื้อรังโดย
ไม่รักษาจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคร้ายอย่างมะเร็ง

“ชาวบ้านเขามาถามยา เราก็คุ้นเคยตัวยาของหลวงพ่อสมัยก่อนกระทือก็มี ปูเลยก็มี กระชายก็มี มะข่าง หัสดึงมีหมด สมุนไพรเหล่านี้เป็นยารักษาฝีลม จึงเป็นยาปากแรกที่พ่อทำ”

พ่อหมอทวีเล่าต่อว่า สมัยก่อนหมอยาพื้นบ้านจะไม่บอกตำรายาให้ใคร อีกทั้งหมอยาพื้นบ้านก็มีไม่มาก เมื่อล้มหายตายจากไป บางทีลูกหลานก็ไม่สนใจ ภูมิปัญญาเหล่านี้จึงจากไปพร้อมกับพ่อหมอ แต่ด้วยความที่ไม่อยากให้ตำราการรักษาดูแลสุขภาพต้องสูญหายไป พ่อหมอทวีจึงขอตำรายาของพ่อหมอที่เสียชีวิตมาเก็บไว้เพื่อให้คนรุ่นต่อไปได้ศึกษา

“เป็นของดี ผมเก็บมาเป็นบางส่วน เพราะพ่อหมอถ้าเสียชีวิตจะเผาตำรายาตามไปด้วย ผมก็ไปขอนำมาเก็บไว้ บางคนเขาก็ให้ บางคนไม่ให้ ก็ไปหยิบมาจากโลงศพเลยก็มี ..ตำรายาที่เอามาจากโลงศพจะมีกลิ่นเหม็นศพติดมาด้วย ถ้าเป็นปั๊บสาก็ต้องเอาไว้บนขื่อบ้านให้กลิ่นเหม็นหายไป แต่ถ้าเป็นตำราใบลานจะแกะสลักตัวหนังสือบนใบลาน ต้องเอาไปต้มให้กลิ่นศพหายเดือนถึงสองเดือนจนกลิ่นศพหมดไปผมก็เก็บไว้ ที่ทำแบบนี้เพราะเสียดายความรู้ที่จะสูญหาย จึงพยายามนำมาเก็บไว้”

วันนี้ที่บ้านของพ่อหมอทวี จึงมีตำรายาดังของภาคเหนือหลายตำรับ เช่น ยาแก้สารพัดพิษ และยากลบสัพพะพิษ

“พิษหรือปิ๊ดตามสำเนียงของชาวเหนือ มีความหมายคือ อาการเจ็บป่วย เจ็บปวด จากการกินและการสัมผัส…หมอพื้นบ้านล้านนา บอกเป็นปิ๊ด นั่นคืออาการที่ร่างกายผิดปกติ มีทั้งพิษไข้ พิษเลือด พิษลม พิษผิดเดือน”

ห้อมจากผืนดินสู่ผืนผ้าเพื่อสุขภาพ

ห้อมเป็นพืชที่ขึ้นทั่วไปในป่าธรรมชาติ ซึ่งมีความชุ่มชื้นชาวบ้านทุ่งโฮ้งจะเก็บส่วนยอด และใบห้อมจากป่ามาใช้ประโยชน์ในการย้อมผ้าหม้อห้อมตามวิธีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณของ
คนไทยพวน ผ้าหม้อห้อมที่ย้อมสีธรรมชาติ มีจุดเด่นคือ ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้สารเคมีสำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ ใช้ได้นาน ระบายอากาศได้ดีไม่ร้อนจนเกินไป ไม่เปื้อนง่าย จึงเป็นเครื่องนุ่งห่มเพื่อสุขภาพที่นิยมอย่างกว้างขวาง

การทำผ้าหม้อห้อมแบบดั้งเดิม จะใช้ผ้าฝ้ายทอมือจากดอกฝ้ายขาว มาทำเป็นเส้นด้ายแล้วทอด้วยกี่ทอผ้าพื้นเมืองจนได้ผ้าดิบสีขาว จากนั้นจึงนำไปตัดเย็บให้เป็นเสื้อหรือกางเกง นำไปแช่ในน้ำสะอาด 1 – 2 คืน แล้วนำมาทุบหรือฟาดกับไม้กระดานจนทำให้เนื้อผ้าอ่อนตัวลง ย้อมในน้ำห้อมที่ได้จากการหมักของต้นห้อม โดยการขยำผ้าให้เข้ากับน้ำห้อมพลิกกลับไปมาหลาย ๆ ครั้ง จนสีน้ำห้อมกลืนเข้าไปในเนื้อผ้าจนทั่วและมีสีเสมอกันทั้งผืน การผลิตผ้าห้อมจากวัตถุดิบธรรมชาติ จึงเป็นวิถีของกลุ่มผู้ผลิตที่รักและห่วงสุขภาพดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายอิงธรรมชาติ

เรื่องและภาพ กนกกาญจน์ เอี่ยมสะอาด เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ

ชีวจิต 529 – 22nd ANNIVERSARY

นิตยาสารรายปักษ์ ปีที่ 22 : 16 ตุลาคม 2563

– – –  – – – – –  – – – – –  – – – –  – – – –  – – –  – – –  – – –  – – –  – –  – –

บทความน่าสนใจอื่นๆ

5 ประสบการณ์ กระดูกพัง ด้วยพฤติกรรมประจำวันผิด ๆ

หยุดโรคร้ายได้เพราะหมั่นสังเกต มิ้นต์-ชาลิดา วิจิตรวงศ์ทอง

ภารกิจสุดท้ายของป้าแจ๋ว

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.