สร้างภูมิคุ้มกัน

สร้างภูมิคุ้มกัน และ เสริมภูมิชีวิต เกราะป้องกันมะเร็ง ลดการเป็นซ้ำ

สร้างภูมิคุ้มกัน และ เสริมภูมิชีวิต เกราะป้องกันมะเร็ง ลดการเป็นซ้ำ (CANCER FIGHTER) มะเร็งไม่ใช่โรคไกลตัวเราเหมือนแต่ก่อน ประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่สูงถึงวันละ 336 คน มากกว่าโควิด-19 อีกนะคะ บางคนถึงขั้นปลงว่า ชีวิตนี้ฉันคงหนีไม่พ้นมะเร็ง เพราะปัจจุบันมีปัจจัยเสี่ยงมากมายเหลือเกิน

ชีวจิต ไม่อยากให้รู้สึกท้อใจอย่างนั้นค่ะ เราสามารถดูแลตัวเองเพื่อป้องกันมะเร็ง หรือถ้าเป็นแล้วก็สามารถลดความเสี่ยงการเป็นซ้ำหรือแพร่กระจายได้ด้วยพลังของระบบภูมิคุ้มกันและภูมิชีวิต

เพื่อให้คุณผู้อ่านมีสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลมะเร็ง ชีวจิต จึงได้ค้นคว้าข้อมูลมาเรียบเรียงเป็นแนวทางส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และ ภูมิชีวิต เพื่อลดความเสี่ยงโรคมะเร็งมานำเสนอไว้ ดังนี้

ระบบภูมิคุ้มกันต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้อย่างไร (HOW IMMUNE SYSTEM FIGHTS CANCER)

เภสัชกรหญิง ดอกเตอร์สุพรรณิการ์ ถวิลหวัง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า โดยธรรมชาติระบบภูมิคุ้มกันของคนเรามีหน้าที่สำคัญในการตรวจจับทำลายเซลล์ ของร่างกายที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมหรือกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งอยู่แล้ว แต่มีเซลล์มะเร็งจำนวนหนึ่งหลุดรอดจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันไปได้

ในกรณีที่เซลล์มะเร็งไม่ถูกทำลายโดยสมบูรณ์ แต่ถ้าระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ตามปกติ ก็ยังสามารถรักษาภาวะสมดุลทำให้เซลล์มะเร็งที่มีชีวิตอยู่ไม่สามารถเติบโตเป็นก้อนมะเร็งได้

แต่ถ้าเซลล์มะเร็งมีการปรับตัว หรือการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพลดลงจะทำให้เซลล์มะเร็งหลบหนีการกำจัดไปได้จนเติบโตและกลายเป็นเนื้อเยื่อมะเร็งในที่สุด

ข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ว่าระบบภูมิคุ้มกันมีบทบาทสำคัญต่อการลดโอกาสเกิดมะเร็งคืองานวิจัยที่ศึกษากลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี และผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันต่อเนื่องเป็นเวลานาน พบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอัตราเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามสูงกว่าคนปกติรวมถึงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งผิวหนัง

สร้างภูมิคุ้มกัน

ส่วนประกอบของระบบภูมิคุ้มกัน (HOW IMMUNE SYSTEM WORKS)

เมื่อเอ่ยถึงระบบภูมิคุ้มกัน คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงต่อมน้ำเหลืองเป็นหลัก ซึ่งก็ถูกต้อง แต่ยังไม่ครบถ้วน ทั้งนี้ข้อมูลจากสถาบันวิจัยมะเร็ง (Cancer Research Institute) สหรัฐอเมริกา ระบุว่า ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ประกอบด้วยต่อมและอวัยวะซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับเชื้อโรครวมถึงเซลล์มะเร็ง ดังนี้

ต่อมน้ำเหลือง เป็นต่อมเล็ก ๆ ที่มีอยู่ทั่วร่างกาย มีลักษณะคล้ายเม็ดถั่ว ภายในประกอบไปด้วยหลอดน้ำเหลืองและเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) จำนวนมากต่อมน้ำเหลืองนั้นพบได้ทั่วร่างกาย ปกติมีขนาดเล็กเพียง 0.5 – 1 เซนติเมตร เมื่อเกิดการเจ็บป่วยทำให้ต่อมน้ำเหลืองต้องทำหน้าที่มากขึ้น จึงคลำพบต่อมน้ำเหลืองได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย ตัวอย่างจุดที่คลำพบ ได้แก่ บริเวณลำคอ รักแร้ เต้านม และขาหนีบ

หน้าที่สำคัญของต่อมน้ำเหลืองคือกรองและดักจับเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัสและยังรวมถึงเซลล์มะเร็งเมื่อดักจับผู้บุกรุกได้แล้วต่อมน้ำเหลืองจะเป็นสถานที่ทำลายผู้บุกรุกโดยเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์เป็นเพชฌฆาตจัดการกับเหล่าเชื้อโรคและเซลล์มะเร็ง

ต่อมน้ำเหลืองทำงานร่วมกับต่อมทอนซิล ต่อมไทมัส และม้าม รวมเรียกว่าระบบน้ำเหลือง

ต่อมไทมัส เป็นต่อมที่อยู่ใต้ลิ้นปี่หรือกระดูกสเตอร์นัมทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทโมซินซึ่งซ่วยกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์เจริญเติบโต เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้วลิมโฟไซต์จะเคลื่อนตัวออกจากต่อมไทมัสไปอยู่ที่ม้ามและต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคจากการกระทำของเซลล์ (Cellular Immunity) ได้แก่ ปฏิกิริยาภูมิแพ้ การไม่ยอมรับเนื้อเยื่อแปลกปลอมที่ปลูกถ่ายกับร่างกาย การป้องกันการติดเชื้อจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา รวมถึงเซลล์มะเร็ง

ทั้งนี้ต่อมไทมัสไวต่อการติดเชื้อ รังสี และการเจ็บป่วยมาก หากมีการติดเชื้อนาน ๆ เมื่อหายดีแล้วจะพบว่าต่อมไทมัสมีขนาดเล็กลงเล็กน้อยได้ด้วย

ม้าม เป็นอวัยวะที่อยู่ทางด้านหลังค่อนไปทางด้านข้างซ้ายของช่องท้อง อยู่ใต้กะบังลมและซี่โครง ทำหน้าที่ควบคุมปริมาณของเลือดในร่างกายให้คงที่ดึงเอาธาตุเหล็กจากเฮโมโกลบิน ของเซลล์เม็ดเลือดแดงนำมาใช้ในร่างกาย และนำของเสียออกจากกระแสเลือดในรูปของน้ำปัสสาวะ

ส่วนประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกันคือ ทำหน้าที่สร้างแอนติบอดี้ ในการต่อต้านเชื้อโรค ทำลายเม็ดเลือดแดงที่มีอายุมาก ผลิตเม็ดเลือดแดงขึ้นมาใหม่ และกำจัดสิ่งแปลกปลอมในร่างกายโดยเฉพาะเชื้อโรคต่าง ๆ

ไส้ติ่ง ศาสตราจารย์บิล พาร์คเกอร์ มหาวิทยาลัยดุ๊กสหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลกับนิตยสาร Scientific ไว้ว่า ไส้ติ่งเป็นลำไส้ตันที่มีความยาว 4 – 6 นิ้ว แยกมาจากลำไส้ใหญ่ส่วนต้นตำแหน่งของไส้ติ่งอยู่บริเวณท้องน้อยด้านขวา มีหน้าที่สร้างและปกป้องเชื้อจุลินทรีย์ดีในช่องท้องของคนเราซึ่งทำหน้าที่ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น

เมื่อนำไส้ติ่งไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบว่าภายในมีเม็ดเลือดขาวอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีการสันนิษฐานว่า ไส้ติ่งอาจทำหน้าที่เป็นบ้านพักให้เม็ดเลือดขาวที่ช่วยป้องกันภัยบริเวณลำไส้นั่นเอง

ศาสตราจารย์บิลอธิบายว่า ในกรณีที่ถูกเชื้ออหิวาต์หรือเชื้อโรคบิดเล่นงาน ไส้ติ่งจะช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหารให้กลับมาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้อีกครั้ง

ไขกระดูก เป็นแกนกลางของกระดูก มีเซลล์สร้างเม็ดเลือดในไขกระดูกซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือดทุกชนิด ทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ทั้งนี้เม็ดเลือดขาวนับเป็นกำลังสำคัญที่สุดในการดักจับสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย

หากไขกระดูกเกิดความผิดปกติ เช่น เป็นมะเร็งไขกระดูกซึ่งทำให้ไขกระดูกไม่อาจสร้างเม็ดเลือดได้ปกติ จะส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดลดลง โลหิตจาง มีโรคติดเชื้อ และมีเลือดออกผิดปกติ

สร้างภูมิคุ้มกัน

อิมมูนซิสเต็มหรือภูมิชีวิตของชีวจิต

ข้อมูลดังกล่าวนี้สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องอิมมูนซิสเต็ม (Immune System) หรือภูมิชีวิตของ อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง ผู้ก่อตั้งองค์ความรู้ชีวจิต ที่กล่าวว่า อวัยวะสำคัญที่ช่วยสร้างภูมิชีวิตนอกจากต่อมน้ำเหลือง ต่อมไทมัส ม้ามไส้ติ่ง ไขกระดูกแล้ว ยังมี

ต่อมทอนซิล และ ต่อมอดีนอยด์ เป็นต่อมน้ำเหลืองซึ่งมีเซลล์ต่อมน้ำเหลืองอยู่ เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิต้านทานและ เพเยอร์สแพตช์ส (Peyer’s Patches) เป็นต่อมน้ำเหลืองเล็ก ๆ หลาย ๆ ต่อมในช่องท้อง เป็นส่วนสำคัญของระบบภูมิต้านทานเช่นกัน

ต่อมต่าง ๆ เหล่านี้จะสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวหลากชนิดซึ่งมีหน้าที่ต่าง ๆ กัน

อาจารย์สาทิสอธิบายไว้ในหนังสือ มะเร็งแห่งชีวิต สำนักพิมพ์คลินิกบ้านและสวน ว่า

อิมมูนซิสเต็มตามความหมายโดยตรงนั้น

1. หมายถึงระบบซึ่งต่อต้านปราบปรามเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมซึ่งมาจากภายนอกร่างกาย ระบบต่อต้านและปราบปรามเกิดขึ้นจากการทำงานของต่อมและอวัยวะบางส่วนของร่างกาย คือ ต่อมทอนซิล ไทรอยด์ ไทมัส ม้าม เพเยอร์สแพตช์ส ไส้ติ่งและไขกระดูก นอกจากนี้ยังมีระบบอื่น ๆ ในร่างกายอีกมากมายที่ต้องทำงานร่วมกัน

2. นอกจากหมายถึงอิมมูนซิสเต็มโดยตรงแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงระบบอื่น ๆ ของร่างกายอีกด้วย เช่น ระบบย่อยอาหารระบบหายใจ ระบบเลือด เป็นต้น

“เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็พอจะพูดได้อีกอย่างหนึ่งว่าอิมมูนซิสเต็ม คือระบบซึ่งต่อสู้หรือปราบปรามศัตรูของร่างกาย และในขณะเดียวกันรวมทั้งระบบซึ่งทะนุบำรุงร่างกายให้เจริญเติบโตซ่อมแซ่ม สิ่งสึกหรอต่าง ๆ ในร่างกาย และรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของร่างกายไว้ด้วย”

ปัจจัยเสี่ยงก่อมะเร็งเกิดจากอะไร

หนังสือ The Gerson Therapy : The Amazing Nutritional Program for Cancer and Illnesses ให้ข้อมูลปัจจัยเสี่ยงก่อมะเร็งไว้สรุปว่าสารก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่ถูกปล่อยออกมาสู่อากาศ ดินและน้ำ เป็นการเพิ่มสารก่อมะเร็งชนิดใหม่ ๆ นับหมื่น ๆ ชนิดที่กดภูมิคุ้มกันของคนและยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ปัจจุบันมีปัจจัยบีบคั้น 49 ชนิดที่ส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมทางกาย จิต และอารมณ์ ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง

ตัวอย่างปัจจัยเสี่ยงก่อมะเร็ง เช่น รังสีจากประจุไฟฟ้าเตาไมโครเวฟ รังสีนิวเคลียร์ สารตกค้างจากยากำจัดแมลงและพืชสารพิษจากอุตสาหกรรมยาสูบ และบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด เป็นต้น

แม้จะมีปัจจัยตั้งต้นในการก่อมะเร็งอยู่ในสภาพแวดล้อมแต่ถ้าบุคคลพยายามหลบเลี่ยง “การสัมผัส” กับปัจจัยเหล่านี้ก็เป็นไปได้ที่จะไม่เกิดมะเร็งเลยตลอดช่วงชีวิตของคนคนนั้นตามทฤษฎี Multiple-hit-theory มะเร็งทุกชนิดเกิดจากการที่เซลล์ถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยต่าง ๆ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในยีนที่ค่อย ๆ เติบโตไปเป็นมะเร็ง

สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความถี่และประเภทของสารก่อมะเร็งที่ได้รับและนำไปสู่การเกิดโรค ปัจจัยเสี่ยงบางชนิดเป็น “ตัวการเริ่มต้น”ในขณะที่บางชนิดเป็น “สิ่งสนับสนุนการเติบโต” ของมะเร็ง

ชนิดของสารก่อมะเร็งแบบที่ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็งเรียกกันว่าโปรคาร์ซิโนเจน (Procarcinogen) หรือสารก่อมะเร็งทุติยภูมิ คือสารก่อมะเร็งที่ไม่สามารถทำปฏิกิริยากับดีเอ็นเอโดยตรง ต้องผ่านการกระตุ้นด้วยปฏิกิริยาทางชีวเคมี เอนไซม์ หรือปัจจัยอื่น ๆ เมื่อโปรคาร์ซิโนเจนทำลายเซลล์ เซลล์ที่ถูกทำลายจะเริ่มแบ่งตัวผิดปกติและก่อตัวไปเป็นก้อนหรือเนื้องอกและลามไปสู่เนื้อเยื่ออื่น ๆ

กระบวนการเกิดมะเร็งเริ่มขึ้นเมื่อโปรคาร์ซิโนเจนเข้าไปจับกับเซลล์ในร่างกายแล้วก่อให้เกิดสารพิษที่เรียกว่าอนุมูลอิสระในช่วงนี้เองที่ตับจะมีปฏิกิริยาตอบโต้โดยการสร้างเอนไซม์ชนิดหนึ่งออกมาต่อสู้ ปฏิกิริยาดังกล่าวทำให้โปรคาร์ซิโนเจนกลายสภาพเป็นสารก่อมะเร็งเต็มตัว เรียกระยะนี้ว่า ระยะที่หนึ่ง (Phase One)

ระยะที่สอง (Phase Two) เพื่อกำจัดเศษซากที่เป็นพิษซึ่งเอนไซม์ในระยะที่หนึ่งทิ้งเอาไว้ ตับจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในกระบวนการก่อตัวเป็นเซลล์มะเร็งและกำจัดมันไปในขณะเดียวกันหากกระบวนการกำจัดเซลล์ผิดปกติของตับไม่ดีพอเซลล์ที่ชำรุดเสียหายเหล่านั้นจะเปลี่ยนรูปแบบการแบ่งตัวตามปกติของมันโดยเริ่มการแบ่งตัวเป็นจำนวนมหาศาลในที่สุดระบบภูมิคุ้มกันจะเรียนรู้ว่าเซลล์เหล่านี้เป็นสิ่งแปลกปลอมและลงมือกำจัดมัน อย่างไรก็ตาม ถ้าหากระบบภูมิคุ้มกันล้มเหลว เซลล์ที่ชำรุดเสียหายดังกล่าวจะกลายไปเป็นรอยแผลที่จะพัฒนาไปเป็นเนื้องอก

ในขั้นที่สามของการพัฒนาสู่มะเร็งที่เจริญเต็มที่ก้อนเนื้องอกดังกล่าวจะพยายามสร้างระบบส่งเลือดของมันเองเพื่อดึงสารอาหารไปเลี้ยงตัวมันได้อย่างต่อเนื่องจากนั้นมันจะค่อย ๆ รุกล้ำเนื้อเยื่อโดยรอบ กลุ่มเซลล์มะเร็งจะปล่อยสารที่จำเป็นต่อกระบวนการสร้างหลอดเลือดขึ้นมาใหม่ ซึ่งเรียกว่า แองจิโอเจเนซิส (Angiogenesis) อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นมะเร็ง

เรื่อง ศิริกร โพธิจักร ภาพ iStock
นิตยาสารชีวจิต เล่มที 519 ปีที่ 22 16 พฤษภาคม 2563


10 สูตรลดอ้วน ทำง่ายที่บ้าน

นิตยาสารชีวจิต เล่มที 519 ปีที่ 22 16 พฤษภาคม 2563

– – –  – – – – –  – – – – –  – – – –  – – – –  – – –  – – –  – – –  – – –  – –  – –

บทความน่าสนใจอื่นๆ

ผักผลไม้เพิ่มภูมิคุ้มกันต้าน COVID-19
เคล็ดลับกินแก้เบลอ ปลุกสมองให้สดชื่น (EAT TO REFRESH)
วิธีการรักษาอาการ “อ้วนอักเสบ” สาเหตุฮอร์โมนขาดสมดุล
เปิดตำรา กิน “กล้วยน้ำว้า” สู้โรคระบบย่อย
ชีวจิตพิชิตอ้วน (ลดความอ้วน) อย่างมีความสุขและเบิกบานใจ
แจก!!! วิธีทำน้ำอาร์ซี สูตรชีวจิตแท้ๆ ดื่มต้านภูมิแพ้ แทนกาแฟก็ได้
วิธีบอกลา ความเครียด ด้วยการกิน ทำได้ผ่อนคลายไปทั้งวัน
ชีวจิตแนะนำ อาหารสำหรับคนเป็นภูมิแพ้ ช่วยให้อาการดีขึ้น
วิธีกินช่วยทำความสะอาดหลอดเลือด ลดเสี่ยงเกิด โรคเรื้อรัง
4 วิธีป้องกันท้องอืดจากพืชผัก
ชวนรู้จัก 3 เมล็ดธัญพืช ต้านโรค ช่วยอายุยืน
อาหารเสริมภูมิคุ้มกัน หน้าหนาว 6 สารอาหาร กินแล้วดีต่อสุขภาพ ห้ามพลาด!
อร่อยปาก ลำบากกาย ภัยเงียบของคนรัก อาหารรสจัด เสี่ยงหลายโรค
วิธีการรักษาอาการ “อ้วนอักเสบ” สาเหตุฮอร์โมนขาดสมดุล
เปิดตำรา กิน “กล้วยน้ำว้า” สู้โรคระบบย่อย
ชีวจิตพิชิตอ้วน (ลดความอ้วน) อย่างมีความสุขและเบิกบานใจ
วิธีบอกลา ความเครียด ด้วยการกิน ทำได้ผ่อนคลายไปทั้งวัน
5 ข้อต้องรู้ก่อน กินงาดำ กินยังไงให้ปลอดภัย ได้ประโยชน์สูงสุด
ชีวจิตช่วยคนนอนน้อย แก้อาการโรคภูมิแพ้ แก้ไซนัสอักเสบ ด้วยเคล็ดลับง่ายๆ
เคล็ดลับกินแก้เบลอ ปลุกสมองให้สดชื่น (EAT TO REFRESH)
โรคกรดไหลย้อน โรคยอดฮิตของคนทำงานดึก นอนน้อย
เลือกทาน อาหารลดสารพิษ เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ (IMMUNITY BOOSTING FOOD)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.