สร้างภูมิคุ้มกัน

5 วิธี สร้างภูมิคุ้มกัน ตามหลักแพทย์แผนไทย

การ สร้างภูมิคุ้มกัน ตามแบบการแพทย์แผนไทย (การสร้างเสริมให้ร่างกายแข็งแรง มีความสมดุลของธาตุในร่างกาย ธาตุในร่างกายทำงานปกติ)

การ สร้างภูมิคุ้มกัน ตามหลักแพทย์แผนไทย สามารถสร้างได้หลายวิธี ดังนี้

1. อาหาร

เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างร่างกายให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง ช่วยให้เซลล์ต่าง ๆ ได้รับสารอาหารและทำงานเป็นปกติ ตลอดจนกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี โดยเฉพาะอาหารไทยที่มีความหลากหลายของการใช้ผัก ผลไม้ และสมุนไพรในตำรับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเทศ เครื่องแกง หรือผักแนม ที่รับประทานร่วมกับอาหาร ก็ล้วนให้ประโยชน์ต่อร่างกายในหลาย ๆ ด้าน ทั้งเป็นอาหารทำให้อิ่มท้อง เป็นส่วนเสริมในการช่วยย่อยอาหารเป็นกากใยช่วยในการขับถ่าย ช่วยขับลมบำรุงธาตุ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และช่วยป้องกันอาการหรือโรคภัยไข้เจ็บ

อย่างเช่น ไข้ ไข้หวัด เป็นต้น ตัวอย่างเช่น เครื่องต้มยำ เครื่องต้มโคล้ง เครื่องแกงเลียง เครื่องแกงป่า เครื่องแกงอ่อม ซึ่งประกอบด้วยเครื่องยาสมุนไพรหลากหลายชนิด ที่มีคุณสมบัติหรือสรรพคุณต่าง ๆ หรือแม้แต่เครื่องดื่มสมุนไพร เช่น น้ำตะไคร้ใบเตย น้ำมะนาวอัญชัน น้ำมะขามป้อม น้ำมะตูม น้ำขิง น้ำตรีผลา เป็นต้น

2. การออกกำลัง

เป็นการสร้างสมรรถภาพทางร่างกาย สร้างความแข็งแกร่ง และแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหว กระตุ้นการสร้างมวลกระดูก

3. การพักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ

การนอน ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ระบบประสาทเสื่อมช้าลง และส่งผลให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานปกติ มีสมรรถภาพที่ดี กลไกการทำงานต่าง ๆ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนช่วยทำให้ระบบเคมี และระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้เป็นปกติ

4. การใช้ยาเสริมหรือยารักษา

4.1 การใช้ยาเสริม หมายถึง กลุ่มยาที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพ หรือสมรรถภาพของร่างกายให้แข็งแรง ช่วยป้องกันโรค และสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งอาจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ใช้ขณะที่ร่างกายขาด หรือประสิทธิภาพของร่างกายลดลง โดยที่ไม่ได้มีการเจ็บป่วย (อายุมากขึ้นหรือทำงานหนัก) หรือใช้ในขณะ หรือหลังการเจ็บป่วย เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวเร็ว กลับสู่ภาวะปกติ
ร่างกายแข็งแรง
4.2 ยารักษา คือ ยาที่ใช้รักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วย ในตำรับยาอาจมียาช่วยปรับสมดุลของร่างกาย หรือยาช่วยเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายร่วมอยู่ ในทางแพทย์แผนไทยมองว่า ขณะที่เจ็บป่วยอาจมีภาวะการเสียสมดุลของธาตุในร่างกาย การใช้ยารักษาโรคเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จึงต้องมียาปรับสมดุล หรือช่วยรักษาสมดุลของธาตุร่วมด้วย การใช้ยาที่จะช่วยปรับสมดุลนั้น ต้องไม่ส่งผลในการขัดฤทธิ์ หรือสรรพคุณในการรักษา และ
ต้องเหมาะกับบุคคลแต่ละคน

5. การฝึกสมาธิ

พบว่า ในปัจจุบันมีคนสนใจเรื่องการฝึกสมาธิมากขึ้น และมีความหลากหลายของรูปแบบการฝึกสมาธิ มีการผสมผสานศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะกับความชอบของบุคคล บางคนอาจชอบนั่งสวดมนต์ พร้อมกำหนดลมหายใจเข้า – ออก บางคนชอบฟังดนตรี พร้อมสงบนิ่งและกำหนดลมหายใจ บางคนชอบออกกำลัง หรือเคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้า ๆ ควบคู่กับการกำหนดลมหายใจ อย่างเช่น การออกกำลังแบบฤาษีดัดตน การออกกำลังแบบชี่กง โยคะ เป็นต้น

ทั้งหมด ส่งผลให้ร่างกายหลั่งสารสื่อความสุข ที่เรียกว่า “เอนดอร์ฟิน” ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี อวัยวะต่าง ๆทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เรื่อง พทป.วันทนี เจตนธรรมจักร ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ

ชีวจิต 527 – 22 สมุนไพรไทย ยาอายุวัฒนะใกล้ตัว

นิตยาสารรายปักษ์ ปีที่ 22 : 16 กันยายน 2563
บทความน่าสนใจอื่นๆ

HOW TO เลือกซื้อแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย และ วิธีทิ้งหน้ากากอนามัย ในช่วงโควิด

ห้องน้ำสาธารณะ ใช้อย่างไร ให้ปลอดภัย ลดเสี่ยงโควิด19

เช็ก! โรคหอบหืด หรือ โควิด -19 กันแน่

Happy Hypoxia อาการแปลก ในผู้ป่วยโควิด 19 เหนื่อยปุ๊บ เสียชีวิตฉับพลัน

การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยวิธีนอนคว่ำ ?

เหลือเชื่อ! พบแม่ติดโควิดคลอดลูกมีภูมิต้าน

สิทธิโชค ศรีโช วิหคคืนรังอีสาน กับสวนครัว เกษตรอินทรีย์ อิ่มท้อง อิ่มใจ สู้ภัย โควิด

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.