5 ผักผลไม้สีแดง มีสารต้าน โรคมะเร็ง และช่วยให้แก่ช้า

5 ผักผลไม้สีแดง มีสารต้าน โรคมะเร็ง และช่วยให้แก่ช้า

ปัจจุบัน โรคมะเร็ง ถือเป็นปัญหาทางสาธารณสุขทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเองด้วย โดยจากสถิติขององค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2561 คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยทั่วโลกที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งมีอยู่ราวๆ 18 ล้านคน และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณ 9.6 ล้านคน หรือ 1 ใน 6 รายของการเสียชีวิต เกิดจากโรคมะเร็ง ซึ่งปัจจัยของโรคมะเร็ง 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากมะเร็ง เกิดจากการมีพฤติกรรมทางด้านสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ สูบบุหรี่ ดื่มสุรา น้ำหนักตัวมาก กินอาหารประเภทผักและผลไม้ที่น้อยเกินไป รวมทั้งการขาดการออกกำลังกายที่เพียงพอ

บทความนี้ชีวจิตจะพามารู้จัก 5 ผักผลไม้สีแดง ที่มีสารต้านมะเร็ง และช่วยชะลอวัย

 

ผักผลไม้สีแดง

มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น ไลโคปีน แคโรทีนอยสด์ ฟีนอลิก และ แอนโทไซยานิน ซึ่งมีส่วนช่วยป้องกันและชะลอความเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย อีกทั้งยังสามารถป้องกันโรคมะเร็งต่างๆ อีกทั้งผักผลไม้สีแดงยังมีวิตามินซีสูงอีกด้วย

โกจิเบอร์รี่, เก๋ากี้

โกจิเบอร์รี่

หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ เก๋ากี้ ถือเป็นยาสมุนไพรตามตำราแพทย์แผนจีนโบราณ ที่มีสรรพคุณเด่นในเรื่องบำรุงสายตา เพราะมีสารซีแซนทีนและวิตาเอที่สูงมาก และรู้ไหมว่า เมล็ดเก๋ากี้ ประกอบไปด้วยกรดอะมิโน 18 ชนิด จาก 20 ชนิด ที่ร่างกายของเราใช้ประโยชน์ในการสร้างโปรตีน แถมยังมีแคลเซียมสูง นอกจากนี้ยังมีประโยชน์อีกมากมาย เช่น ช่วยรักษาอาการทางสายตา, มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมากปกป้องเซลล์จากความเสื่อมต่าง ๆ ช่วยดูแลเรื่องผิวพรรณ ชะลอวัย, ช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ช่วยต้านมะเร็งและยังสามารถช่วยหยุดเซลล์มะเร็งได้อีกด้วย

มะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ ดื่มน้ำมะเขือเทศ

มะเขือเทศ

เป็นผักผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญก็คือ ไลโคปีน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้มะเขือเทศมีสีแดงสด ช่วยลดความดันโลหิตและลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก อีกทั้งยังช่วยให้อสุจิแข็งแรง จึงช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์สำหรับผู้ที่มีบุตรยาก นอกจากนี้มะเขือเทศอุดมด้วยวิตามินที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินอี วิตามินซี

สตรอว์เบอร์รี่, ต้านโรคมะเร็ง

สตรอว์เบอร์รี่

อุดมไปด้วยสารต่อต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น เควอซิทิน เคมเฟอรอล แอนโทไซยานิน ซึ่งสารดังกล่าวมีส่วนช่วยในการยับยั้งสารก่อมะเร็งต่าง ๆ  และในสตรอว์เบอร์รี่ยังมีวิตามินซีในปริมาณสูง โดยสตรอเบอร์รี่สดประมาณ 100 กรัม จะมีวิตามินมากถึง 58 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ข้อมูลจากศูนย์มะเร็งครบวงจรมหาวิทยาลัยรัฐโอไฮโอ (The Ohio State University Comprehensive Cancer Center) ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่านักวิจัยได้ทดลองให้อาสาสมัคร 36 คน กินสตรอว์เบอร์รี่ 60 กรัม ทุกวัน ติดต่อกันนาน 6 เดือน พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อตรวจหามะเร็ง ก่อนและหลังการทดลอง ผลปรากฏว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งมีการขยายตัวของการอักเสบในหลอดอาหารลดลง สรุปได้ว่า สตรอว์เบอร์รี่มีผลช่วยชะลอ การเจริญของเซลล์มะเร็งและลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง ไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งหลอดอาหาร แต่ยังช่วยลดการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารอีกด้วย

แตงโม ผลไม้ แตงโม สรรพคุณ
แตงโมสีแดง

ผลไม้ที่กินง่าย รสหวานเย็น สร้างความสดชื่นให้กับร่างกายได้ดี แถมยังมีสารต้านฟรีแรดิคัลที่ช่วยชะลอวัยสูงกว่าแตงโมสีเหลืองหลายเท่า โดยเนื้อแตงโมสีแดงหนัก 100 กรัม มีเบต้าแคโรทีน 616 ไมโครกรัม และไลโคปีน 6,693 ไมโครกรัม และแตงโมสีแดงมีเบต้าแคโรทีนสูงกว่าแตงโมสีเหลือง 123 เท่า ซึ่งเบต้าแคโรทีนไม่เพียงช่วยต้านการอักเสบ ชะลอความเสื่อมของร่างกาย แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ส่วนไลโคปีนมีบทบาทสำคัญในระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยป้องกันร่างกายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอดและมะเร็งกระเพาะ

แอปเปิ้ล, ผลไม้

แอปเปิ้ลสีแดง

ในแอปเปิ้ลมีสารอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ สารแอนติออกซิเดนท์ ที่ช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความแก่ ลดความเครียด และช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ รวมถึงโรคเบาหวานด้วย เพราะการรับประทานแอปเปิ้ลจะช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือด และยับยั้งการเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรต นอกจากนี้แอปเปิ้ลมีสารฟลาโวนอยด์ ที่ช่วยเสริมสร้างการทำงานของหลอดเลือด ช่วยควบคุมความดันโลหิต ช่วยบำรุงหลอดเลือดและหัวใจให้แข็งแรง อีกทั้งเปลือกแอปเปิ้ลยังอุดมไปด้วยสารโพลีฟีนอลและฟลาโวนอยด์ ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งตับ มะเร็งผิวหนัง

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์ของร่างกายในการป้องกันมะเร็งและโรคอื่นๆ ควรทานอาหารให้ครบ  5 หมู่ หมั่นออกกำลังกาย และทานผักและผลไม้ที่มีสีต่างๆ ซึ่งมี 6 สีหลัก(สีแดง สีม่วง สีน้ำเงิน สีเขียว สีเหลือง สีส้ม) ที่สำคัญไม่ควรมองข้ามในเรื่องของสารตกค้างจากยาฆ่าแมลงด้วย ดังนั้นก่อนรับประทานควรล้างเปลือกให้สะอาด เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพ

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 467

rama.mahidol.ac.th

si.mahidol.ac.th

–  – – – – –  – – – – –  – – – –  – – – –  – – –  – – –  – – –  – – –  – –  – –

บทความน่าสนใจอื่นๆ

พริกแดง อาหารมาแรง ต้านมะเร็ง ต้านโรคหัวใจ ลดไขมันในเลือด ปี 2021

5 เมนูต้านมะเร็ง กินแล้วสตรอง

20 ผักและผลไม้ ต้านมะเร็ง จากห้องวิจัย

เมนูต้านมะเร็ง สูตรแอนดรูว์ ไวล์

พาร์สลีย์ ต้านมะเร็งคุณผู้หญิง

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.