สังคมของผู้สูงวัย

เทคนิคดูแลโรคจิตเสื่อมในผู้สูงวัย

เทคนิคดูแลโรคจิตเสื่อมในผู้สูงวัย

สมองเสื่อม เป็นภาวะที่มักพบได้ในผู้สูงอายุ จะทำให้ผู้ที่เป็นมีพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนไป มีอาการหลงลืม และใช้ภาษาผิดปกติ ซึ่งการเสื่อมของสมองจะค่อยเป็นค่อยไปและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ว่าแต่สาเหตุและการป้องกันภาวะสมองเสื่อมจะมีอะไรบ้าง วันนี้เรามีข้อมูลมาฝากค่ะ

โรคจิตเสื่อม คืออะไร

โรคจิตเสื่อม  หรือ ภาวะสมองเสื่อม เป็นอาการที่มักจะเกิดขึ้นในผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเป็นไปในลักษณะที่เสื่อมถอย การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายลดลง มีสุขภาพที่อ่อนแอลง ความสามารถในการดำเนินชีวิตนั้นก็มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งต้องมีครอบครัวและคนใกล้ชิดคอยดูแลและใส่ใจให้มากขึ้น

สมองเสื่อม เป็นภาวะหนึ่งของสมองที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ โดยพบว่า 70% ของผู้ป่วยสมองเสื่อมมีสาเหตุมาจากโรคอัลไซเมอร์ เกิดจากความเสื่อมสลายของเซลล์ประสาท รองลงมาคือ โรคหลอดเลือดสมองมีความผิดปกติ ซึ่งภาวะสมองเสื่อมเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสมอง ส่งผลกระทบต่อความคิด มีความสับสนในเรื่องของเวลา สถานที่ บุคคล มีพฤติกรรมแปลก ๆ บุคลิกภาพเปลี่ยนไป มีความผิดปกติในการใช้ภาษา การคำนวณ ความเข้าใจ และความสามารถในการปฏิบัติงานในชีวิตประจำวัน

โรคจิตเสื่อมในผู้สูงวัย

ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมของผู้สูงวัย ซึ่งผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาหลักสำคัญในผู้สูงอายุ คือ ปัญหาด้านสุขภาพ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลง และเสื่อมถอยของระบบต่างๆ ของร่างกายที่เกิดขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น การทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงและเสื่อมถอยนี้ เป็นพื้นฐานสำคัญในการดูแลส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้งป้องกันปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ โดยปัญหาด้านโรคที่เกิดจากความเสื่อม ทั้งทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ เช่น ภาวะข้อเสื่อม โรคทางระบบประสาท เช่น ภาวะสมองเสื่อม และโรคพาร์กินสัน

เรื่องนี้ นับเป็นปัญหาที่มีความสำคัญในการตรวจประเมิน ดูแล รักษา ส่งเสริมป้องกัน เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเหล่านี้ สามารถดำรงชีวิตได้โดยการพึ่งพาตนเองมากที่สุด และมีสุขภาพจิตมีคุณภาพชีวิตที่ดี

เกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมสุขภาพจิตก็ได้แนะวิธีป้องกัน ที่จะช่วยชะลอสภาวะสมองเสื่อมสำหรับผู้สูงวัย ได้แก่ ด้านการรู้คิด ด้านความจำ ด้านทักษะ ด้านอารมณ์จิตใจ และด้านพฤติกรรม เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิต พึ่งพาตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้ และมีสุขภาพจิต มีคุณภาพชีวิตที่ดี

ติดอุปกรณ์ช่วยบอกวันเวลา

ด้านการรู้คิด เป็นการกระตุ้นให้ใช้ความคิดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ รอบตัว โดยฝึกการรับรู้ เวลา สถานที่ บุคคล โดยใช้สถานการณ์หรือเหตุการณ์ประจำวันช่วยในการกระตุ้น เช่น การอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ และมีอุปกรณ์ช่วยบอกวันเวลา เช่น นาฬิกา ปฏิทิน เป็นต้น

ดูแลสายตา

ด้านความจำ จะเป็นการช่วยเพิ่มความจำให้กลับมาได้ในระดับเดิมมากที่สุด เช่น ฝึกจำหน้าคน การบอกชื่อคน ฝึกความจำด้วยการใช้สุภาษิต คำพังเพย ฝึกนับตัวเลข การเล่นเกมส์ เป็นต้น ที่สำคัญควนพาท่านไปตรวจวัดระดับสายตาเพื่อประสิทธิภาพในการมองเห็นสิ่งต่างๆ อยู่เป็นประจำ

ด้านทักษะ เพื่อรักษาระดับความรู้ความสามารถให้คงเดิมและเพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่เพิ่มขึ้น โดยการเรียนรู้และฝึกทักษะด้วยวิธีการที่ง่ายๆ เช่น การวาดภาพ การปั้นดินน้ำมัน การเต้นรำ รำวง เป็นต้น

รูปภาพในอดีต

ด้านอารมณ์จิตใจ เป็นการกระตุ้นความจำและอารมณ์ โดยใช้ประสบการณ์ชีวิตในอดีตและใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น รูปภาพ ดนตรี เสียงเพลง รวมทั้งการออกกำลังกาย จะช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้นและช่วยให้นอนหลับดีขึ้น และ

จัดบ้านให้น่าอยู่

ด้านพฤติกรรม เป็นการค้นหาสาเหตุของพฤติกรรมหรือตัวกระตุ้นเพื่อลดปัญหาเหล่านั้น เช่น การให้แรงจูงใจ การให้รางวัล การชื่นชม เป็นต้น การรักษาแบบนี้จะทำให้พฤติกรรมที่หายไปกลับคืนมา และลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เช่น ก้าวร้าว ตะโกนเสียงดัง เป็นต้น

ทั้งนี้ หากพบผู้สูงอายุที่มีอาการแสดงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อมมาก ควรส่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป

ข้อมูลจาก: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

CHECK NOW! สัญญาณเตือน โรคสมองเสื่อม (อัลไซเมอร์) ที่ต้องระวัง

กิจกรรมที่ผู้สูงอายุ ช่วยลดภาวะซึมเศร้า ชะลอภาวะสมองเสื่อมได้

ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงวัย สิ่งที่ผู้ดูแลต้องรู้ไว้ก่อนสายเกินแก้!

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.