ไม่กินเนื้อแดง

ไลฟ์สไตล์ขั้นเทพป้องกันมะเร็ง

ไลฟ์สไตล์ขั้นเทพป้องกันมะเร็ง

เราต่างรู้กันดีว่า โรคมะเร็ง เป็นแล้วรักษายาก บางรายรักษาไม่หาย การป้องกัน โรคมะเร็ง มิให้เกิดกับทานและครอบครัวจึงเป็นวิธีที่ท่านสามารถนำไปปฏิบัติ การป้องกัน มะเร็ง ทำได้ไม่ยาก เนื้อหาที่จะเกล่าเป็นแนวทางในการดูแลตัวเองให้แข็งแรงและลดปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็ง

แม้ทุกองค์กรด้านสาธารณสุขและนิตยสารสุขภาพทุกฉบับจะเน้นย้ำให้ทราบว่าไลฟ์สไตล์ใดบ้างที่ทําให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง แต่หลายคนยังนิ่งนอนใจ วันนี้ชีวจิตจึงนําข้อมูลไลฟ์สไตล์ป้องกันมะเร็งจากหนังสือ คัมภีร์สุขภาพ สํานักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ มาสรุปให้ฟังอีกครั้งดังนี้ค่ะ

  • ลดความอ้วน โรคอ้วนมีความสัมพันธ์กับมะเร็งชนิดต่าง ๆ ถึง 20 ชนิด งานวิจัยของอังกฤษในปี 2008 สรุปว่า น้ำหนักตัวที่มากเกินไปมีความสัมพันธ์ กับโรคมะเร็งมากถึง 1 ใน 5 ของโรคทั้งหมด ดังนั้นการรักษาน้ำหนักให้อยู่ใน เกณฑ์ปกติสามารถลดโอกาสเกิดมะเร็งได้

ลดความอ้วน

  • ออกกําลังกาย ในปี 2002 มีการวิเคราะห์งานวิจัย 51 เรื่อง ซึ่งทําโดยสถาบันวิจัยโรคมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักร สรุปว่า การออกกําลังกายครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้งขึ้นไป ช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งลําไส้ได้กว่าครึ่ง ลดความเสี่ยงโรคมะเร็งปอดได้ร้อยละ 40 และโรคมะเร็งเต้านมได้เกือบ 1 ใน 3
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดบี นายแพทย์ซานจิฟ โชปรา กล่าวไว้ว่า วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีคือวัคซีนชนิดแรกที่ต้านมะเร็งได้อย่างแท้จริง พบว่า การฉีดวัคซีนให้เด็กในประเทศไต้หวันเป็นเวลาต่อเนื่องถึง 2 ทศวรรษ ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กจากโรคมะเร็งตับได้ถึงร้อยละ 75
  • ไม่กินเนื้อแดง งานวิจัยหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ใน Journal of the National Cancer Institute ได้พบข้อมูลว่า คนที่กินเนื้อแดง(เนื้อวัว เนื้อหมู) ประมาณวันละ 170 กรัม หรือกินเนื้อที่ผ่านการแปรรูปทุกวันมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่สูงกว่าคนที่กินเนื้อแดงน้อยกว่าวันละ 28.3 กรัม ดังนั้นจึงแนะนําให้เลิกการกินเนื้อแดง

กินไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว

  • กินไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว กรดไขมันแต่ละชนิดมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคมะเร็งต่างกัน โดยพบว่า ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวซึ่งพบในถั่วเปลือกแข็ง อะโวคาโด โฮลเกรน  น้ำมันมะกอก น้ำมันงา น้ำมันปาล์ม ไม่มีความสัมพันธ์ กับการเกิดมะเร็งชนิดใดเลย ต่างจากไขมันอิ่มตัวที่พบในเนื้อสัตว์ ซึ่งมีความ สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านม  มะเร็งลําไส้ใหญ่ และมะเร็งต่อมลูกหมาก

คอยสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายและรีบไปพบแพทย์หากมีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้

  • มีการเปลี่ยนแปลงในการย่อยอาหารและการขับถ่ายอย่างเรื้อรัง เช่น ท้องผูกสลับท้องเสีย ปัสสาวะเป็นเลือด เป็นต้น
  • มีเลือดออกผิดปกติ เช่น ทางช่องคลอดหรือเลือดกำเดาไหลบ่อยๆ
  • มีแผลเรื้อรังไม่หายใน 3 สัปดาห์
  • มีก้อนที่เต้านมหรือตามตัว ไฝโตขึ้น หรือเปลี่ยนสี
  • ไอเรื้อรังหรือเสียงแหบ
  • น้ำหนักลดโดยไม่ตั้งใจ
  • หูอื้อเรื้อรัง

ไลฟ์สไตล์ง่ายๆ แบบนี้ ลองนําไปปรับใช้เพื่อป้องกันมะเร็งกัน แล้วอย่าลืมดูแลจิตใจให้สงบผ่อนคลายด้วยนะคะ

ข้อมูลประกอบบทความจาก  : นิตยสาร ชีวจิต ฉบับที่ 430

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

หน่อไม้ฝรั่ง ป้องกันเบาหวาน+มะเร็ง

UPDATE กฎเหล็กป้องกันมะเร็งเต้านม

ระวัง! ท้องผูกนานๆ มะเร็งอาจถามหา

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.