รู้ก่อน ป้องกันได้ โรคหลอดเลือดหัวใจ คนอายุน้อยก็เป็นได้

รู้ก่อน ป้องกันได้ โรคหลอดเลือดหัวใจ คนอายุน้อยก็เป็นได้

โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือ โรคหัวใจขาดเลือด เกิดจากหลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจตัน ส่งผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีเลือดไปเลี้ยงหัวใจ และอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้ไม่เพียงพอ จึงทำให้กล้ามเนื้อ หัวใจทำงานผิดปกติ ซึ่งโรคนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น แต่กลุ่มคนอายุน้อย ร่างกายแข็งแรง ก็สามารถเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน

อาการเตือนหลอดเลือดหัวใจ ที่ควรไปพบแพทย์

โรคหลอดเลือดหัวใจส่วนใหญ่เกิดจากไขมันและเนื้อเยื่อสะสมในผนังของหลอดเลือด ทำให้เยื่อบุผนังหลอดเลือดมีการตีบและแคบลง โดยอาการที่พบบ่อย มีดังนี้

  1. อาการเจ็บหนักๆ บริเวณหน้าอก เหมือนมีอะไรมาทับ บริเวณกลางหน้าอกหรือใต้กระดูกกลางหน้าอก เป็นนานครั้งละ 2-3 นาที
  2. หน้ามืด วิงเวียน ร่วมกับอาการแน่นหน้าอก ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากมีความดันโลหิตต่ำเฉียบพลัน
  3. หายใจเหนื่อยหอบ โดยเฉพาะเมื่อมีการออกแรงหรือออกกำลังกาย จะหายใจติดขัดไม่เต็มปอด เกิดขึ้นได้เฉียบพลัน มักเป็นๆ หายๆ
  4. มีอาการหมดสติหรือหัวใจหยุดเต้นได้

ทั้งนี้ข้อมูลการศึกษา Thai Registry in Acute Coronary Syndrome พบว่า ปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อยจากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ มีทั้งหมด 5 ปัจจัย ได้แก่ ภาวะไขมันในเลือดสูงร้อยละ 83.2  ตามด้วย ถาวะความดันโลหิตสูง ร้อยละ 59.5  โรคเบาหวาน ร้อยละ 50.7   การสูบบุหรี่ ร้อยละ 32.1  และครอบครัวมีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจ ร้อยละ 9.3

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น ผลจากโรคพิษสุรา ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบรุนแรง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หรือบางครั้งอาจไม่ทราบสาเหตุ

ส่วนในกลุ่มที่เป็นผลจากพฤติกรรมนั้น จากผลการสำรวจของประชากรไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป ที่ได้รับการตรวจร่างกายครั้งที่ 3-5 พบว่ากลุ่มคนอายุน้อย 15-24 ปี ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากที่สุด

เจ็บหน้าอก โรคหลอดเลือดหัวใจ
อาการเจ็บแน่นบริเวณหน้าอก เป็นหนึ่งในอาหารของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นได้ทั้งคนอายุมากและน้อย

นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ ศัลยแพทย์หัวใจและผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว เล่าถึงสาเหตุและเคสตัวอย่างของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่อายุน้อยไว้ว่า คนไข้รายสุดท้ายที่เคยผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจก่อนวางมือจากออาชีพแพทย์ผ่าตัดโรคหัวใจนั้นอายุเพียง 27 ปี แสดงให้เห็นว่า ก่อนหน้านี้ต้องมีปัญหาหลอดเลือดขาดความยืดหยุ่น ตีบ และมีไขมันเกาะเป็นเวลานานแล้ว

ทั้งนี้คุณหมอสันต์ยังเตือนให้เห็นภาพว่า หลายคนอาจเข้าใจว่าตนเองมีพฤติกรรมที่ทำให้สุขภาพ เช่น ไม่สูบบุหรี่ ความดันโลหิตไม่สูง ไม่เป็นเบาหวาน แถมขยันออกกำลังกาย แต่ขณะเดียวกันหากมีไขมันในเลือดสูงติดต่อกันนานหลายปีโดยไม่รู้ตัว หรือไม่ได้รับการแก้ไข ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้  ซึ่งวิธีที่จะช่วยให้รู้ตัวที่ถูกต้องที่สุด ควรตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อได้รู้ข้อมูลสุขภาพของตัวเอง และปฏิบัติตนให้ครบตามคำแนะนำของแพทย์ได้

นอกจากนี้คุณหมอยังอธิบายเพิ่มเติมว่า เรื่องผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจในคนอายุน้อยนั้น ในวงการแพทย์มีข้อสงสัยว่าทำไม คนอายุน้อย ที่เส้นเลือดยืดหยุ่นดี มีตุ๋มบนไขมันเล็กน้อย แต่เมื่อเกิดอาการภาวะหัวใจล้มเหลวจึงแทบเอาชีวิตไม่รอด  ขณะที่คนสูงอายุ เส้นเลือดมีตุ๋มไขมันจนทำให้เส้นเลือดขาดความยืดหยุ่น แต่กลับเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวแบบไม่รุนแรง จึงเป็นที่มาของสมมุติฐานที่เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์โรคหัวใจว่า ตุ่มไขมันในหลอดเลือดของคนอายุน้อย เป็นชนิดอ่อนไหวง่าย พอมีความดันโลหิตสูงหรือเกิดแรงบีบ เช่น ความเครียด ทำให้หลอดเลือดหดตัว เยื่อคุลมตุ่มไขมันจึงแตกออกได้ง่าย ส่งผลให้หลอดเลือดแตกเสียหาย และเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมานั้นเอง

ดูแลสุขภาพ

5 วิธี ช่วยลดเสี่ยงโรคหัวใจล้มเหลว

1. ทำใจให้เย็นๆ ไม่โกรธหรือโมโหง่าย เพราะการโมโห จะเป็นการเพิ่มโอกาสทำให้หลอดเลือดหดเกร็ง และเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลวกะทันหันถึง 8.5 เท่า เลยทีเดียว

2. งดกินอาหารไขมันสูงมื้อหนักๆ เพียงมื้อเดียว เพราะจะส่งให้หลอกเลือดหดตัวได้นานถึง 6 ชั่วโมง

3. งดการเติมเกลือและเครื่องปรุงอื่นๆ ที่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ เพราะมีผลต่อระดับความดันโลหิตโดยตรง

4. ดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 แก้ว โดยฝึกให้เคยชินว่าต้องจิบน้ำอยู่เสมอ อย่างน้อยทุกๆ 30 นาที เพราะเมื่อร่างกายขาดน้ำ จะส่งผลต่อหลอดเลือดและความดันโลหิตตามไปด้วยนั่นเอง

5. กรณีที่เป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ เคยผ่าตัดหัวใจและต้องกินยาต่อเนื่อง ห้ามหยุดยาเอง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น โดยวิธีเดียวที่จะช่วยหยุดยาคือ ต้องดูแลสุขภาพอย่างเคร่งครัด คุมน้ำตาล เหลือ ไขมัน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ

แต่ทั้งนี้การตรวจสุขภาพประจำปี ยังเป็นอีกวิธีหนึ่ง ที่จะช่วยให้คุณห่างไกลโรคหลอดเลือดหัวใจได้อีกทาง

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
นิตยสารชีวจิต531
bumrungrad.com

– –  – – – – –  – – – – –  – – – –  – – – –  – – –  – – –  – – –  – – –  – –  – –

บทความน่าสนใจอื่นๆ

เรื่องหัวใจ ดูแลให้ดีช่วงโควิด 19

เรื่องต้องรู้ วิธีป้องกันโรคหัวใจ ด้วย 3 ซูเปอร์ฟู้ด

วิถีกินอยู่อย่างง่าย ประหยัด หยุดความเสี่ยง โรคหัวใจ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.