ความขัดแย้งในครอบครัว

สถานการณ์ขัดแย้ง ในครอบครัว คุยอย่างไรให้เกิดสันติ – ชีวจิต

สถานการณ์ขัดแย้ง สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ หลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว ที่ทำงาน และอีกมากมาย เพราะการพูดคุยกันนั้นถือเป็นเรื่องธรรมชาติ ปัญหาครอบครัวก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป เพราะทุกครอบครัวล้วนมีเหตุที่อาจเกิดความขัดแย้งระหว่างสมาชิกภายในบ้านได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความเห็นที่แตกต่าง การเลี้ยงลูก ปัญหาสุขภาพ หรือสถานภาพทางการเงิน วันนี้เราจึงมีคำแนะนำหรือแนวทางการคุยกันในสถานการณ์ที่ขัดแย้งของครอบครัว จากคุณหมอมาฝากค่ะ

ผู้ช่วยศาสตรจารย์แพทย์หญิงทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญปัญหาด้านจิตใจความสัมพันธ์และโรคทางจิตเวช เล่าว่า

สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่เล็กที่สุด แต่ยิ่งใหญ่ที่สุด สถานการณ์ขัดแย้ง ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ซึ่งในสถานการณ์อย่างนี้ สิ่งที่สำคัญคือการกันหน้าคุยกันอย่างสันติ ด้วยการเปิดใจมาก ๆ เน้นว่าต้องเปิดใจมาก ๆ มากกว่าปกติ และสื่อสารด้วยความเคารพและให้เกียรติกัน เพราะสถานการณ์นี้มีความเปราะบางอย่างมากในความรู้สึกทั้งสองฝ่าย

สิ่งที่ควรตระหนัก

ความปังกับความพังใกล้กันนิดเดียว ถ้าคุยกันต่อไปไม่ไหว แนะนำให้หยุดการสนทนา ขอเวลานอก เพื่อให้สภาพร่างกายและจิตใจสงบลงก่อน เรียกสติกลับมาก่อนและเช็กใจใหม่ว่าเย็นพอที่จะคุยกันไหม ถ้ายังไม่พร้อมแนะนำให้พักการคุยกันไปก่อน ถ้าพร้อมเมื่อไหร่ค่อยเจรจากันใหม่

สิ่งที่ไม่ควรลืม

แม้ว่าอาหารสมอง (ความคิด ความเชื่อ) จะไม่เหมือนกัน แต่เรายังมีอาหารใจเดียวกันได้ค่ะ นั่นคือ ความรักและการยอมรับให้แก่กันได้เสมอ

ปัญหาส่วนใหญ่ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง

ปัจจัยต่าง ๆ ต่อไปนี้ มักเป็นสาเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในครอบครัว

  1. ภาวะเจ็บป่วย
  2. ปัญหาด้านการเงิน
  3. นิสัยและความเคยชินส่วนตัว
  4. ความบกพร่องในการรับผิดชอบหน้าที่
  5. การนอกใจ
  6. การใช้ความรุนแรง
  7. การขาดความเอาใจใส่และไม่มีเวลาให้กัน

การหันหน้าคุยกันอย่างสันติมีแนวทางและกติกา ดังนี้

  1. ตั้งสติก่อนการสตาร์ตคุยกัน สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ ตั้งสติให้มาก และเตรียมใจดี ๆ เพราะการต้องฟังความเห็นอีกฝั่งที่เราไม่เห็นด้วยอย่างมากนั้น มีโอกาสที่จะหลุดโกรธหรือโมโหได้มาก จึงต้องตั้งสติให้มากและเตรียมใจดี ๆ ไว้ค่ะ
  2. ฟังอีกฝั่งให้จบ “ฟังจนเข้าใจ” ว่าสิ่งที่เขายึดถืออยู่มีคุณค่ากับชีวิตเขาอย่างไร ข้อนี้สำคัญมาก หลายคนพังกันตั้งแต่ข้อนี้เลยค่ะ คือไม่ฟังอีกฝั่ง การฟังที่ควรจะเป็นคือ การฟังจนเข้าใจในสิ่งทีเขาให้คุณค่ามีที่มาอย่างไร มีคุณค่าหรือความหมายกับจิตใจและชีวิตเขาอย่างไร เขาจึงได้ยึดมั่นขนาดนี้ เปิดโอกาสให้เขาได้เล่าในสิ่งที่เขาอยากสื่อจริง ๆ ฝั่งที่ฟังจะได้ประสบการณ์ดี ๆ จากมุมมองอีกด้าน ช่วยเปิดมุมมองชีวิตให้กว้างขึ้น และทำให้เข้ามากขึ้น
  3. ไม่พูดแทรก เพราะการพูดแทรกคือการที่ไม่ได้ฟังคู่สนทนาแล้ว แต่กำลังคาดหวังให้คู่สนทนาฟังเรา ความยุ่งเหยิงของมนุษย์มักเกิดจากจุดนี้ คือไม่ชอบฟังคนอื่น โดยเฉพาะความเห็นที่เราไม่ชอบ แต่คาดหวังให้เขาฟังเรา การทะเลาะกันมักเกิดจากจุดนี้
  4. บอกความรู้สึก เพราะความรู้สึกเป็นส่วนที่สำคัญของการสื่อสารที่ช่วยให้เข้าใจเพื่อนมนุษย์ รวมถึงเจ้าใจตัวเรา เพราะทำให้ได้กลับมาทบทวนความรู้สึกตนเองเหมือนกันว่า จริง ๆ เรื่องนี้เรารู้สึกอย่างไร
  5. ช่วยกันหาขุมทรัพย์ของแต่ละความเชื่อ (Collaboration) การฟังที่ดีจะช่วยให้เกิดการแบ่งปันขุมทรัพย์กัน ทุกสิ่งล้วนมีข้อดีในแบบของมัน สำคัญคือต้องหาให้เจอว่าอีกฝ่ายมีขุมทรัพย์อะไร ทั้งคุณค่าในระดับจิตวิญญาณและคุณค่ากับการดำเนินชีวิต เราจึงจะสามารถช่วยกันสร้างสิ่งที่ดีขึ้น
  6. ฝึกลดการตัดสิน เมื่อเกิดการตัดสินใจขึ้นในใจ ให้รู้เท่าทันกำลังตัดสิน การตัดสินผู้อื่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไวมาก โดยธรรมชาติมนุษย์จะมีการตัดสินสิ่งต่าง ๆ อยู่บ่อย ๆ เช่น แบบนี้ชอบ – ไม่ชอบ ดี – ไม่ดี การตัดสินเกิดขึ้นบ่อยมากและมักไม่ค่อยรู้ตัว มนุษย์จึงมักตกเป็นทาสการตัดสิน การตัดสินเกิดขึ้นไวมากและมีพลังที่แรงมาก มนุษย์จึงมักถูกการตัดสินครอบงำและทำพฤติกรรมรุนแรงไปตามที่ถูกครอบงำ การรู้เท่าทันจะช่วยลดความแรงจากการตกเป็นทาสการตัดสินได้มากค่ะ
  7. ห้ามด่าทอ ห้ามใช้คำพูดเหยียดหยาม ดูถูก กระแนะกระแหน ส่อเสียดคู่สนทนาเด็ดขาด เพราะการพูดออกไปด้วยถ้อยคำรุนแรง ด่าทอและดูถูกอีกฝั่ง นอกจากประโยชน์ที่ได้จะไม่ชัดเจน กลับได้แรงต่อต้าน ใจที่ปิดรับและความเกลียดชังมาเต็ม ๆ ถ้าหากฟังคู่สนทนาแล้วเกิดโมโหของขึ้น อยากด่า รู้สึกอึดอัดให้รีบตั้งสติ
  8. บอกการร้องขอที่ชัดเจนจากหัวใจ บอกอีกฝั่งให้ชัดเจนว่าเราต้องการอะไร อย่าให้อีกฝ่ายคิดไปเองหรือสำนึกเอง เพราะอาจจะสร้างปมให้ดราม่าโดยไม่จำเป็น เพราะเขาอาจตีความผิดตามความเข้าใจในมุมมองของเขาได้
  9. ตอนจบการเจรจา จบด้วยการ “ไม่คาดหวัง” ว่าเขาต้องเห็นด้วยกับเรา แม้เราอยากจะได้อย่างั้นมากก็ตาม เพราะเขามีสิทธิ์ไม่เห็นด้วย เหมือนกับที่เราก็มีสิทธิ์ไม่เห็นด้วยกับเขา ความเท่าเทียมมีหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือตระหนักได้ว่าคนอื่นมีสิทธิ์จะคิดไม่เหมือนเรา สิ่งนี้จึงเรียกว่า “เห็นต่าง” แต่อยู่ร่วมกันได้อย่างแท้จริง

ขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือนิตยสารชีวจิต 535 และ POBPAD

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ลลิตา ศรีหาบุญมา

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

รู้ทันโรคซึมเศร้า ฉบับครอบครัว

ครอบครัวกับการดูแลและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.