โรคพาร์กินสัน

เป็น โรคพาร์กินสัน ก็ยังฟรุ้งฟริ้งได้ โรคแทรกซ้อน และ การรักษาทางเลือก

เป็น โรคพาร์กินสัน ก็ยังฟรุ้งฟริ้งได้ โรคแทรกซ้อน และ การรักษาทางเลือก ความโชคดีมักไม่ค่อยเข้ามาในชีวิตเรา แต่ความโชคร้ายจะแวะเวียนเคาะประตูบ้านบ่อย ๆ 

เนื่องจาก โรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่ต้องดูแลรักษาตลอดชีวิต ไม่มีคำว่าหายขาด ดังนั้น นอกจากกินยาหลัก 2 ตัว คือ Madopar กับ Sifrol แล้วต้องมีผู้ช่วยพะเอกขี่ม้าขาวมาร่วมปราบพาร์กิมสันด้วย

ของแถม…โรคทางเดินปัสสาวะอักแสบ

ดังที่กล่าวไว้ ในเรื่องอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เวลาไอ หรือจาม จะรดกางเกงชั้นในเปียกเลย ต่อมาใส่ผ้าอนามัยก็ไม่อยู่ ต้องเปลี่ยนวันละหลายอัน ผู้ป่วยหลายคนใชวิธีใส่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แต่ใส่ผ้าอ้อมนาน ๆ ก็จะติดเชื้อ เพราะมันอบ มันร้อย ปัสสาวะแช่อยู่ข้างใน ดังนั้น จะได้เพิ่มมาอีก 1 – 2 โรค คือ โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบหรือติดเชื้อ

ใหม่ ๆ  กระถินก็ใส่ผ้าอนามัย แต่ต่อมาเวลาไอหรือจาม มักหกลงพื้นให้อับอายขายหน้าชาวพาราเลย จึงต้องกัดฟัน ใช้คำว่า “กัดฟัน”อย่างแท้จริง เพราะเป็นคนขี้กลัว ปอดแหกเอามาก ๆ  เข้าผ่าตัดที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง กับคุณหมอที่เป็นกระบี่มือหนึ่งของประเทศไทยด้านโรคทางเดินปัสสาวะและโรคต่อมลูกหมาก มาประจำโรงพยาบาลเอกชน เฉพาะตอนเย็น และเสาร์ – อาทิตย์ ไปอยู่โรงพยาบาล 3 วัน 2 คืน หมดไปแสนห้า เจี๊ยกคร่อก!

เบิกที่ทำงานตามกฎได้เพียง 5 หมื่นบาท เลือดชิบ ๆ เข้าเนื้อไป 1 แสนบาท หมอเขียนในใบรับรองเเพทย์ว่า “ผ่าตัดโรคหูรูดในกระเพาะปัสสาวะหย่อน” หลังผ่าตัดแจ๋วมาก เราน่าจะทำเสียนานเเล้ว หลังผ่าตัดจะไอจะจามอะไร ฉี่ไม่เลยเล็ดเลย เฮ้อ! โล่งไปเปลาะหนึ่ง ทีนี้อาการแข็งซีกซ้ายล่ะจะทำยังไงดี ผู้ป่วยในประเทศไทยเข้าใจเรื่องการทำกายภาพบำบัดน้อย จ้องจะรักษาแต่ทางยาอย่างเดียว การทำกายภาพบำบัดก็มีส่วนสำคัญในการรักษา โดยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดอาการเกร็ง ตลอดจนช่วยในการประสานการทำงานของกล้ามเนื้อ กระถินจึงเข้าทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เสียเงินวันละ 1,000 บาท บวกค่ายาหมอ 7 วัน จ่ายไป 1 หมื่นบาท

การรักษาทางเลือกลดความปวด

การรักษาใช้เวลาประมาณครั้งละ 1 ชั่วโมง นักกายภาพบำบัดจะเริ่มต้นด้วยการประคบร้อน พอกล้ามเนื้อเริ่มคลายก็มายึดแขนข้างซ้ายที่แข็งโป๊กเป็นหัวไอ้โจร ยกขึ้น ยกลง ยืดเข้ายืดออก นวดอย่างแรงและเจ็บมาก ๆ

วันแรก ทำเสร็จเจ็บมาก กระถินน่วมไปทั้งตัว เหมือนถูกซ้อมเลย เจ็บจนไข้ขึ้น ออกมาจากห้องกายภาพมีความรู้สึกว่าอยากอาเจียน ผู้ป่วยบางคนพอเจอวันแรกก็วิ่งหนีไปเลย ไม่กลับไปทำอีก แต่อย่ากังวลไปนะ พอวันที่สองก็ค่อยยังชั่วปวด ไม่ตัวร้อน ไม่อาเจียนแล้ว พอจบคอร์ส 7 วัน ซีกซ้ายที่แข็งก็กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง 

ทั้งนี้ต้องรักษาตัวต่อที่บ้านด้วยการบริหารแขนทุกวัน ต้องแกว่งทั้งแขนซ้ายและแขนขวา 360 องศา วันละ 300 ที ก็จะหายขาด กลับมานุ่มและกลับมาเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ เห็นไหมคะ ชีวิตมันก็ไม่ได้ เลวร้ายอะไรน้า

ผู้ช่วยพระเอกตัวที่ 3 คือ การฝังเข็ม กระถินเคย ถามคุณหมอว่า “ขออนุญาตฝังเข็มช่วยด้วยได้ไหมคะ” คุณหมอซึ่งรักษาแบบตะวันตกบอก “เสียเงิน เสียเวลา เปล่า ๆ ครับแต่ถ้าคุณกระถินอยากไปทำเพื่อความสบายใจก็ไปทำได้ครับ ผมไม่ห้าม” เมื่อไม่ห้าม เราจึงไปที่คลินิกแพทย์แผนตะวันออก โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งแถวพระราม 2 การฝังเข็มจะเป็นคอร์ส คอร์สละ 10 ครั้ง ครั้งละ 800 บาท กระถินฝังกับแพทย์ท่านหนึ่ง เพื่อเป็นตัวเสริมช่วยรักษาพาร์กินสัน คุณหมอฝังเข็มที่หัว ประมาณ 5 – 6 เข็ม ฝังที่ต้นคอข้างละ 1 เข็ม ฝังที่แขนและมือข้างซ้ายเยอะหน่อยประมาณ 5 – 6 เข็ม ฝังที่แขนขวาด้วยเพื่อไม่ให้พาร์กินสันลามมาซีกขวาประมาณ 3 – 4 เข็ม และฝังที่ขาและเท้าทั้ง 2 ข้าง อีกข้างละประมาณ 3 – 4 เข็ม เข็มขนาดยาว 1 นิ้วครึ่ง แล้วก็นอนฟังเพลงเพราะ ๆ อยู่ครึ่งชั่วโมง พยาบาลก็มาถอดเข็มออก กระถินทำจบไปแล้ว 2 คอร์ส กำลังเริ่มคอร์สที่ 3 

ประเมินจากตัวเองพบว่า ปกติก่อนจะหลับมือจะสั่นปั๊บ ๆๆ มาก หลังการฝังเข็ม สั่นอยู่แต่น้อยลง ลองถามคนในครอบครัวดู ทุกคนลงมติเป็นเอกฉันท์ว่าสั่นน้อยลง สมควรทำต่อ คนลงมติลงเฉย ๆ ไม่ได้นะ ต้องช่วยออกเงินด้วยนะ เรียกว่าต้องเสริมทั้งแพทย์แผนตะวันตกและแพทย์แผนตะวันออก กัดฟันฝังเข็มอยู่ 32 ครั้ง ก็ต้องเลิกไป หมดเงินไปทั้งสิ้น 32 ครั้ง x 800 บาท = 25,600 บาท ไม่นับค่าเดินทาง ที่ต้องเลิกทำเพราะดียังไงก็ยังสั่นอยู่ เพราะพาร์กินสันเป็นโรคที่ไม่หายขาด เป็นแล้วเป็นเลย ต้องกินยาตลอดชีวิตเพียงแต่คุณหมอที่รักษาจะพยายามช่วยให้เรามีความสุขตามอัตภาพ ให้พอดำเนินชีวิตประจำวันได้ ไม่ต้องเป็นภาระให้กับลูกหลาน

คุณหมอท่านมีความเห็นว่า การฝังเข็มจะดีมากกับอาการปวดหรือเจ็บ แต่ไม่สามารถแก้อาการสั่นได้

เรื่อง แม่ดอกกระถิน ภาพจาก Pixabay

ชีวจิต 495 – คอร์สปรับระบบเมแทบอลิก

นิตยาสารรายปักษ์ ปีที่ 21 : 16 พฤษภาคม 2562

– – –  – – – – –  – – – – –  – – – –  – – – –  – – –  – – –  – – –  – – –  – –  – –

บทความน่าสนใจอื่นๆ

5 วิธีแก้อาการปวดเข่า ข้อเข่าเสื่อมง่ายๆ ด้วยตัวเอง

Fast Check ผู้ชายวัยทอง คุณเป็นหรือเปล่า

รับมือ โรคข้อเข่าเสื่อม โรคหน้าหนาวประจำตัวผู้สูงอายุ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.