Happy Hypoxia อาการแปลก ในผู้ป่วยโควิด 19 เหนื่อยปุ๊บ เสียชีวิตฉับพลัน

Happy Hypoxia  อาการแปลกในผู้ป่วยโควิด 19 เหนื่อยหอบ และเสียชีวิตฉับพลัน

หากพูดกันตรงๆ สถานการณ์ของโรคระบาดไวรัสโควิด 19 ยังไม่มีที่ท่าว่าจะน่าไว้วางใจได้เลย อีกทั้งยังมีข่าวสารมากมายที่ออกมาให้เรากังวลกัน ไม่ว่าจะเป็น จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้น ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ชนิดกลายพันธุ์ ไปจนถึง อาการแปลกในผู้ป่วยโควิด 19 ที่ล่าสุดเป็นกระแสบนโลกออนไลน์ และคนเริ่มพูดถึงกันในวงกว้าง กับอาการ ที่เรียกว่า “Happy Hypoxia” หรือ “Silent Hypoxia” ซึ่งมีลักษณะอาการคือ แทบจะไม่มีอาการเหนื่อย หรือมีอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจเลย แต่พอไปวัดค่าออกซิเจน กลับพบว่ามันต่ำกว่าปกติมาก จนอาจทำให้เสียชีวิตฉับพลัน

อาการแปลกในผู้ป่วยโควิด 19, covid19

Happy Hypoxia หรือ Silent Hypoxia?

วารสารและเว็บไซท์ทางการแพทย์ เผยผลสำรวจอย่างไม่เป็นทางการถึง “Happy Hypoxia ” หรือ “Silent Hypoxia” ว่า อาจเกิดจากการที่ โควิด 19 ไปส่งผลต่อสมองหรือระบบประสาททำให้การทำงานของสมองที่ควรจะตอบสนองต่อภาวะขาดออกซิเจนทำงานได้น้อยลง หรืออีกนัยหนึ่งหมายความว่าสมองจะไม่ตอบสนองจนกว่าออกซิเจนจะลดลงสู่ระดับต่ำมาก และเมื่อถึงเวลานั้นผู้ป่วยมักจะหายใจไม่ออก

ภาวะพร่องออกซิเจน (Hypoxia) หมายถึง ภาวะที่ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย  และมักจะเกิดอาการขึ้นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่รู้สึกตัว จนหมดสติไปในที่สุด และเมื่อเร็วๆ นี้ ข้อมูลจากด็อกเตอร์ Sumardi ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคปอด ระบุว่า happy hypoxia  เป็นอาการใหม่ของผู้ที่ติดเชื้อโควิด -19 ซึ่งเคสนี้เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย โดยกลุ่มที่มีอาการดังกล่าว จะมีระดับออกซิเจนในร่างกายต่ำ แต่ยังดูเหมือนปกติ แทบไม่มีอาการเหนื่อยเลย จะทราบก็ต่อเมื่อวัดค่าออกซิเจน

นอกจากนี้เขายังอธิบายว่าภาวะขาดออกซิเจนเกิดขึ้นเนื่องจากการอักเสบของหลอดเลือดโดยเฉพาะในปอด ซึ่งเกิดจากระดับออกซิเจนในร่างกายลดลง และหากไม่ได้ทำการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่มีภาวะ happy hypoxia ในทันที ไม่เพียงทำให้ปอดแข็งตัว แต่ยังทำให้เกิดการแข็งตัวในอวัยวะอื่น ๆ เช่นไตและสมอง จนถึงขึ้นทำให้เสียชีวิตได้

“ดังนั้นผู้ป่วยโควิด 19 ที่ไม่แสดงอาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่แยกตัวเป็นอิสระกักตัวอยู่บ้านจำเป็นต้องตรวจสอบสภาพร่างกายเสมอ เช่น หากร่างกายอ่อนแออย่างกะทันหันแม้ว่าจะไม่ได้ทำกิจกรรมที่ทำให้พลังงานลดลงก็ตาม ต้องรีบรายงานอาการนี้กับโรงพยาบาล เนื่องจากความเหนื่อยล้านี้เกิดจากออกซิเจนในอวัยวะลดลง และรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม”  ด็อกเตอร์ Sumardi กล่าว

ภาวะพร่องออกซิเจน, โควิด19

อาการผู้ติดเชื้อโควิด 19 เหนื่อยหอบ และเสียชีวิตฉับพลัน

ปอด เป็นอวัยวะในระบบทางเดินหายใจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 และส่งผลให้ประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนแก๊สออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง ระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดจึงมีค่าต่ำกว่าปกติ ร่างกายจึงมีภาวะพร่องออกซิเจน (Hypoxia) โดยปกติระดับออกซิเจนในเลือดจะอยู่ระหว่าง 95–100%

และเมื่อไรก็ตามที่ระดับของออกซิเจนมีค่าลดลง ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ไอ หายใจถี่ หายใจลำบากและหอบเหนื่อยง่าย ดังที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคปอดอักเสบหรือปอดบวม ซึ่งอาการเหล่านี้ เป็นสัญญาณเบื้องต้นที่แสดงถึงความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ แต่ขณะเดียวกันผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 บางราย กลับไม่มีความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจใดๆ เป็นสัญญาณเตือน ดังเช่นกรณีเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด รายที่ 64 ของประเทศไทย อายุ 47 ปี อาชีพ รับจ้าง มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดชลบุรี และมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ก็มีลักษณะเดียวกันคือ รู้สึกเหนื่อยหอบเพียงเล็กน้อย เมื่อได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ ให้มานอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยแจ้งว่าอาการไม่มาก ขอนอนเฝ้าดูอาการตัวเองที่ห้องพักในโรงแรมไปก่อน และได้เสียชีวิตในคืนวันเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีรายงานทางการแพทย์ระบุว่า วิธีที่จะสามารถตรวจหาสัญญาณเตือนนี้ได้ คือ การใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (Pulse oximeter) หรือแพทย์สามารถใช้วิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ตรวจสมรรถภาพปอด การตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT-scan) เป็นต้น

ปัจจุบัน อย่างที่กล่าวไปข้างต้นภาวะนี้ก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ ได้ให้ข้อสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากความบกพร่องในการไหลเวียนเลือด เนื่องจากมีลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดภายในปอด จนขัดขวางการไหลเวียนเลือดภายในปอด ส่งผลให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนมีประสิทธิภาพลดลงและคาร์บอนไดออกไซด์คั่งค้างอยู่ในเลือดมากยิ่งขึ้น การรักษาที่สามารถทำได้คือ การให้ออกซิเจนทดแทนเพื่อเพิ่มออกซิเจนในเลือด ป้องกันไม่ให้เซลล์และอวัยวะสำคัญถูกทำลายนั่นเอง

 

วิธีดูแลตัวให้ห่างไกลโควิด 19

1. รักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร
2. ใส่หน้ากากในที่สาธารณะและเมื่อต้องติดต่อใกล้ชิดกับผู้อื่นเสมอ
3. ทำงานที่บ้าน ถ้าเป็นไปได้
4. หลีกเลี่ยงที่สาธารณะที่จอแจแออัด สั่งอาหารและสินค้ามาส่งที่บ้านแทน
5. ล้างมือให้บ่อยและรักษาสุขอนามัยสม่ำเสมอ
6. อยู่บ้าน หากมีมาตรการล็อคดาวน์

ข้อมูลเพิ่มเติม

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.