โรคระบบทางเดินอาหาร เป็นแล้วอย่านิ่งนอนใจ

โรคระบบทางเดินอาหาร เป็นแล้วอย่านิ่งนอนใจ

เราทุกคนต่างรู้ดีว่าทุกส่วนของร่างกายมีความสำคัญเท่าๆ กันหมด แต่บางคนอาจหลงลืมที่จะดูแลระบบภายในร่างกาย อาจให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ภายนอกมากกว่า จนลืมไปว่าระบบภายในก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะ “ระบบทางเดินอาหาร” ด้วยแล้ว ยิ่งสำคัญอย่างมาก

เคยมีคนเปรียบเอาไว้ว่าระบบทางเดินอาหารเปรียบเสมือนครอบครัวใหญ่ในชีวิตความเป็นอยู่ของคนเรา ที่มีครัวแล้วมีแม่บ้านไปคอยจ่ายตลาดซื้อกับข้าวมาทำอาหาร แม่บ้านหรือแม่ครัวก็จะทำการปรุงอาหาร แล้วสมาชิกในครอบครัวก็กิน ส่วนกากอาหารหรือเศษอาหารที่เหลือก็นำไปทิ้งลงในถังขยะ เพื่อให้เทศบาลนำไปกำจัดทิ้งต่อไป

ข้อมูลจากคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุไว้ว่า ระบบทางเดินอาหารปกติของคนเราปกติก็จะประกอบไปด้วยปาก ซึ่งรวมทั้งอวัยวะภายในช่องปาก เช่นฟันและลิ้น เป็นต้น ต่อจากปากก็จะเป็นหลอดอาหาร ซึ่งส่วนปลายของหลอดอาหารจะติดต่อกับส่วนของระบบทางเดินอาหารที่อยู่ในช่องท้อง ซึ่งได้แก่ กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่และสุดท้ายก็คือทวารหนัก นอกจากนี้ไส้ติ่งก็อยู่ในช่องท้องเช่นเดียวกันโดยอยู่บริเวณส่วนต้นของลำไส้ใหญ่

ส่วนต่างๆ ของระบบทางเดินอาหาร 

ปากและฟัน : จะทำหน้าที่รับอาหารและบดเคี้ยวอาหารให้ละเอียด ต่อจากนั้นอาหารจะถูกส่งผ่านเข้าสู่หลอดอาหาร และเมื่อมาถึงกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารจะทำหน้าที่ย่อยอาหารให้เป็นโมเลกุลที่เล็กลงไปอีก

ช่องปาก:  ภายในประกอบด้วย ฟัน ที่มีหน้าที่ในการบดเคี้ยวอาหาร ลิ้น มีหน้าที่ในการคลุกเคล้าอาหาร และต่อมน้ำลายที่สำคัญ 3 คู่ คือ ต่อมน้ำลายใต้หู ต่อมน้ำลายใต้โคนลิ้น และต่อมน้ำลายใต้ฟันกรามล่าง ต่อมน้ำลายมีหน้าที่ในการสร้างน้ำลายออกมา โดยในน้ำลายนั้นประกอบไปด้วย น้ำ กับ น้ำย่อยอะมัยเลส ซึ่งมีผลต่อการย่อยอาหารพวกคาร์โบไฮเดรตเป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่

หลอดอาหาร : ประกอบขึ้นด้วยกล้ามเนื้อเรียบที่สามารถบีบตัวเป็นจังหวะในขณะที่อาหารผ่านลงมา ในทางเดินอาหารส่วนนี้ไม่มีการสร้างน้ำย่อยออกมา แต่มีการหลั่งสารเมือกช่วยหล่อลื่น ระหว่างกลืนอาหารก้อนอาหารจะถูกผลักผ่านหลอดอาหารอย่างเร็ว โดยการหดตัวอย่างแรง ในคน และสุนัขจะกินเวลา 4-5 วินาที ถ้าอาหารไม่ผ่านไปในการหดตัวครั้งแรกจะมีการหดตัวครั้งที่ 2 โดยการกระตุ้นจากอาหารที่ค้างอยู่ทำให้เกิดการยืดตัวของผนังท่อ การหดตัวครั้งที่ 2 นี้จะผลักอาหารสู่กระเพาะอาหารได้

กระเพาะอาหาร : ประกอบขึ้นด้วยกล้ามเนื้อเรียบที่อัดกันหนามาก ด้านในมีลักษณะเป็นสันช่วยในการบดอาหารให้มีขนาดเล็กลงอีก การเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารถูกควบคุมโดยระบบประสาท และฮอร์โมน พบว่ามีฮอร์โมนหลายชนิดมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหาร

ลำไส้เล็ก:  เป็นทางเดินอาหารส่วนที่ยาวมาก ที่ผนังลำไส้เล็กสามารถสร้างน้ำย่อยขึ้นมาได้ ซึ่งมีหลายชนิด ลำไส้เล็กยาวทั้งสิ้นประมาณ 3.5 เท่าของความยาวของร่างกาย ดังนั้นจะยาวประมาณ 6 เมตร ลำไส้เล็กเป็นบริเวณที่เกิดการย่อยระยะสุดท้ายด้วยเอนไซม์และเป็นที่ซึ่งอาหารมีขนาดเล็กพร้อมที่จะถูกดูดซึม การดูดซึมและการย่อยด้วยเอนไซม์ส่วนใหญ่เกิดที่ผิวของเซลล์เยื่อบุ ถ้าเราดูที่พื้นที่ผิวของลำไส้เล็กด้วยตาเปล่าจะพบว่ามีพื้นที่เพียงครึ่งตารางเมตร แต่พบว่าพื้นที่ผิวสำหรับการดูดซึมจะมากถึง 250 ตารางเมตร ซึ่งเท่ากับสนามเทนนิสหนึ่งสนาม

ลำไส้ใหญ่ :  เป็นทางเดินอาหารส่วนสุดท้าย ซึ่งไม่มีการย่อยเกิดขึ้น จึงทำหน้าที่ในด้านการดูดซึมน้ำ เกลือแร่ และวิตามินบางชนิด ในระหว่างมื้ออาหารลำไส้ใหญ่จะไม่มีการเคลื่อนไหว แต่หลังจากมื้ออาหารจะพบการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นจากสัญญาณอันเป็นผลจากการที่มีอาหารพวกไขมันที่ส่วนต้นๆ ของลำไส้เล็ก และการที่ลำไส้ใหญ่เองถูกยืดออกจากการมีกากอาหาร ก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหว คนเราสามารถบังคับการขับถ่ายได้โดยควบคุมกล้ามเนื้อหูรูดทวารชั้นนอกไม่ให้คลายตัว และกล้ามเนื้อหูรูดทวารชั้นในหดตัว เมื่อมีอาหารใหม่ผ่านเข้ามาก็จะเกิดการกระตุ้นที่ลำไส้ตรงอีกครั้ง

การที่จะทำให้การทำงานของระบบทางเดินอาหารเป็นไปได้ตามปกติ ท่านจะต้องเอาใจใส่ดูแลให้ส่วนต่างๆ ของระบบทางเดินอาหารได้ทำงานตามปกติ โดยหมั่นตรวจสอบสุขภาพปาก และฟัน รับประทานอาหารให้เป็นเวลา ไม่รับประทานอาหารที่จะมีผลเสียต่อทางเดินอาหารส่วนต่างๆ เช่น ไม่รับประทาน อาหารเผ็ด อาหารรสจัด อาหารที่มีสารพิษหรือสารก่อมะเร็งปนเปื้อน รับประทานอาหารประเภทผัก ผลไม้ และประเภทที่มีกากใยเพียงพอ ที่จะทำให้การขับถ่ายเป็นไปได้ตามปกติและเชื่อกันว่า อาหารที่มีกากใยมากจะช่วยทำให้สารพิษหรือสารก่อมะเร็งทั้งหลายที่ปนกับอาหาร ได้ถูกขับออกมาได้เร็วขึ้น ทำให้มีโอกาสเกิดมะเร็งในร่างกาย ได้น้อยกว่าคนที่รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย

อวัยวะภายในช่องท้อง ทุกส่วนล้วนเป็นอวัยวะภายในที่สำคัญ เริ่มตั้งแต่ที่เรารับประทานเข้าไป รวมทั้งย่อยและขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย เมื่อใดก็ตามที่อวัยวะเหล่านี้ทำงานผิดปกติ ย่อมส่งสัญญาณเตือนอันตรายออกมา ดังนั้นหากเรามีอาการผิดปกติในช่องท้องอย่านิ่งนอนใจ เพราะแม้ว่าอาการปวดเพียงเล็กน้อยก็อาจมีภาวะผิดปกติอย่างร้ายแรงที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้

เราลองไปดูกันว่าโรคที่พบบ่อยในระบบทางเดินที่มักเกิดขึ้นกับคนเราบ่อยๆ เรียกว่าเป็น TOP 5 โรคระบบทางเดินอาหาร มีดังนี้

โรคกระเพาะอาหาร

จะมีอาการแสดงออกมาในลักษณะของ การปวดจุกแน่นใต้ลิ้นปี่ เหนือสะดือ ปวดใต้ชายโครงซ้าย บางรายปวดแน่นถึงหน้าอก อาการมักเป็นๆ หายๆ และสัมพันธ์กับมื้ออาหาร อาจปวดก่อนทานอาหารในเวลาหิว หรือปวดหลังอาหารเวลาอิ่ม อาการเหล่านี้จะดีขึ้นได้เมื่อรับประทานอาหาร

หากโรคนี้รุนแรงขึ้นอาจมีอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรือเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร คือเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อได้จากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาดปนเชื้อโรคชนิดนี้ ทำให้เกิดแผลกระเพาะอาหาร การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ทำให้อัตราการเป็นแผลในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น แผลหายช้า หรือเป็นเรื้อรังได้ง่าย ส่งผลให้ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาไม่ดีนัก , ภาวะเครียด รับประทานอาหารเผ็ด หรือไม่ตรงเวลา, ติดเชื้อทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ

อาการปวดท้องที่ควรพบแพทย์ทันที หากผู้ป่วยที่มีอาการปวด จุก แน่นท้อง จุกเสียด แสบท้อง มานานไม่เกิน 2 สัปดาห์ สามารถดูแลตัวเองเบื้องต้น คือรับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหาร งดบุหรี่ งดเหล้า งดอาหารรสเผ็ด รับประทานอาหารให้ตรงเวลา ออกกำลังกาย และงดกินยาแก้ปวดข้อ ปวดกระดูกโดยไม่จำเป็น

โรคกรดไหลย้อน

เป็นภาวะที่กรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนมาในหลอดอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอก และลิ้นปี่ บางครั้งอาจจะร้าวไปที่คอ  รู้สึกว่ามีก้อนอยู่ในคอ กลืนลำบาก หรือกลืนแล้วเจ็บ มีอาการเจ็บคอ หรือแสบลิ้นเรื้อรัง โดยเฉพาะในตอนเช้ารู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี หรือมีรสเปรี้ยวของกรดในคอ หรือปาก มีเสมหะอยู่ในคอ หรือระคายคอตลอดเวลา เรอบ่อย คลื่นไส้ และรู้สึกจุกแน่นอยู่ในหน้าอก คล้ายอาหารไม่ย่อย

หากอาการรุนแรงอาจส่งผลให้เสียงแหบเรื้อรัง หรือแหบเฉพาะตอนเช้า หรือมีเสียงผิดปกติจากเดิม มีอาการไอเรื้อรัง รู้สึกสำลักในเวลากลางคืน กระแอม ไอบ่อย  มีอาการหอบหืดที่แย่ลงทุกวัน เจ็บหน้าอก รวมถึงเป็นโรคปอดอักเสบเป็นๆ หายๆ พฤติกรรมที่เสี่ยงเป็นกรดไหลย้อน เช่น ดื่มสุรา อ้วน สูบบุหรี่ ชอบทานอาหารรสเปรี้ยว เผ็ด อาหารมักดอง อาหารมัน อาหารย่อยยาก ทานอาหารมากจนอิ่มเกินไป ชอบทานช็อกโกแลต กาแฟ น้ำอัดลม เครียด ชอบอาหารมัน ของทอด ชอบทานหอม กระเทียม และมะเขือเทศ

ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเยอะ ก่อนอื่นต้องทำการลดน้ำหนักก่อน เพราะคนอ้วนจะมีความดันในช่องท้องสูง ทำให้กรดไหลย้อนได้มาก งดบุหรี่ งดอาหารมันๆ อาหารทอด อาหารที่ปรุงด้วยหัวหอม กระเทียม มะเขือเทศ ช็อกโกแลต ถั่ว ลูกอม เนย ไข่ อาหารรสเผ็ด เปรี้ยว เค็มจัด รับประทานอาหารพออิ่ม หลีกเลี่ยงชา กาแฟ น้ำอัดลม เบียร์ สุรา ควรเข้านอน หรือเอนกายหลังจากรับประทานอาหารไปแล้วอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ผ่อนคลายความเครียด

ท้องเสีย อุจจาระร่วง

มีอาการการถ่ายอุจาระเหลว หรือเป็นน้ำ มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายเหลวมีเลือดปนเพียง 1 ครั้งใน 24 ชั่วโมง โดยทั่วไปอาการท้องร่วงมักหายได้เองใน 2-3 วันโดยที่ไม่ต้องรักษา หากเป็นนานกว่านั้นควรมาพบแพทย์ ผู้ป่วยโรคท้องร่วงจะมีอาการ แน่นท้อง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และถ่ายบ่อย โรคท้องร่วงถ้าเป็นนานกว่า 3 สัปดาห์เรียกว่าเรื้อรัง ถ้าหายภายใน 3 สัปดาห์เรียกท้องร่วงเฉียบพลัน โดยมากเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสสาเหตุของอาการท้องเสีย อุจจาระร่วงที่พบบ่อยๆ คือ การติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด ได้แก่ เชื้อบิดไม่มีตัว ไข้ไทฟอยด์ ที่มาจากเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อไวรัส การติดเชื้อพยาธิ แพ้อาหาร และนม ลำไส้มีการอักเสบ

การรักษาเบื้องต้นทำได้ด้วยการดื่มน้ำบ่อยๆ ควรดื่มน้ำเกลือแร่ หรือเครื่องดื่มที่ปราศจากไขมัน เมื่อมีอาการท้องร่วงนานเกิน 3 วัน ปวดท้องอย่างมาก มีไข้ ควรรีบมาพบแพทย์

ภาวะลำไส้แปรปรวน

เป็นภาวะที่มีความผิดปกติในการบีบตัวของลำไส้ใหญ่มากเกินไป ส่งผลให้มีอาการปวดท้อง ถ่ายบ่อย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องร่วมกับมีการขับถ่ายที่ผิดปกติ บางรายอาจมีอาการท้องผูก ท้องเสีย หรือท้องผูกสลับกับท้องเสีย อาการสำคัญของลำไส้แปรปรวน คือปวดท้องหรือแน่นท้อง ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของการขับถ่าย อาการปวดท้องมักจะเริ่มเมื่อมีการขับถ่ายบ่อยมากขึ้น ขับถ่ายน้อยลง หรือเมื่อมีท้องผูกหรือถ่ายเหลว และอาการปวดจะดีขึ้นเมื่อหยุดถ่าย

การวินิจฉัยและรักษา ทางการแพทย์จะประเมินว่าปัญหาของผู้ป่วยแต่ละรายมีที่มาอย่างไร เช่น ผู้ป่วยบางรายมีอาการเล็กน้อยไม่รบกวนกิจวัตรประจำวัน แต่มาพบแพทย์เพื่อต้องการทราบว่าป่วยเป็นโรคอะไร หรือมีความวิตกกังวลว่าจะเป็นโรคร้ายแรง แพทย์ก็จะให้คำแนะนำ หรือส่งตรวจเพื่อยืนยันให้ผู้ป่วยทราบว่าไม่ได้เป็นโรคร้ายแรง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาก็อาจเพียงพอสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการมากและรบกวนชีวิตประจำวันอาจต้องรับยารักษาร่วมด้วยเพื่อการบรรเทาอาการถ่าย

ไวรัสตับอักเสบบี

โรคนี้ค่อนข้างน่ากลัวมาก เนื่องจากผู้คนไม่ค่อยให้ความสนใจไวรัสตับอักเสบบี ติดต่อได้จากมารดาสู่ทารกขณะคลอด โดยเฉพาะมารดาที่ไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่ภายในร่างกาย หากเกิดการติดเชื้อขึ้นภายในขวบปีแรกของทารก โอกาสที่จะมีการติดเชื้อเรื้อรังจะสูงมาก ผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการชัดเจน อาการที่พบ เช่น มีไข้ต่ำๆ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ตามมาด้วยตัวเหลือง ตาเหลือง เมื่อเกิดอาการที่แสดงชัด หรือตรวจแล้วเจอก้อน ส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะสุดท้ายแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุด คือการควรตรวจเช็คหากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น ภายในเครือญาติพบผู้ป่วยโรคตับอักเสบ หรือมะเร็งตับ

ควรหมั่นดูแลสุขภาพร่างกาย งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงสารเคมีและสารพิษต่างๆ ควบคุมน้ำหนัก รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ กรณีของไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง การกำจัดเชื้อไวรัสให้หมดจากร่างกายนั้นทำได้ยากมาก หมายถึงมีโอกาสหายขาดน้อยมาก จุดมุ่งหมายที่สำคัญของการรักษา จึงเป็นการลดการอักเสบของตับ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับแข็งและมะเร็งตับ

อาการของโรคระบบทางเดืนอาหารที่กล่าวมานี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่กระทบการทำงานทั้งสิ้น เมื่อมีสัญญาณเตือนอย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เพราะโรคในช่องท้องแต่ละโรค มีอาการแสดงถึงความผิดปกติ ซึ่งเราไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะแม้อาการปวดเพียงเล็กน้อยก็อาจมีภาวะผิดปกติอย่างร้ายแรงที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้

จริง ๆ แล้วอาการปวดท้องในแต่ละโรคนั้นไม่เหมือนกัน ต้องอาศัยการสังเกตและความชำนาญของแพทย์เฉพาะทางในการวินิจฉัย อีกทั้งการตรวจสุขภาพด้วยการเจาะเลือดเพียงอย่างเดียวอาจไม่พบความผิดปกติ การเข้ารับการตรวจภายในช่องท้องด้วยการอัลตราซาวนด์นับเป็นทางเลือกที่ดีเพื่อการวินิจฉัยให้การรักษาเป็นไปอย่างทันท่วงทีช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ค่ะ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Easy Protection 6 โรคฮิตส่งท้ายปี

เช็กสาเหตุร้าย อาการผิดปกติของลําไส้

เครียดลงกระเพาะ โรคฮิตของคนออฟฟิศ

 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.