อาการแพนิค อาการนี้คืออะไร ทำไมใครๆ ก็เป็น

อาการแพนิค คืออะไร ทำไมต้องแพนิค!!

อาการแพนิค เป็นอาการหวาดกลัว ตื่นตระหนก ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่มีเหตุผล แตกต่างจากอาการหวาดกลัวหรือกังวลทั่วไป เนื่องจากผู้ป่วยจะเกิดอาการแพนิค (Panic Attacks) หรือหวาดกลัวอย่างรุนแรง ทั้งที่ตัวเองไม่ได้เผชิญหน้าหรือตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย ยิ่งสถานการณ์โลกปัจจุบัน ไวรัส COVID-19 ตัวร้ายจ้องจะเล่นงาน เราอาจมีอาการแพนิคได้ “นี่ฉันติดหรือยัง” ไอ จาม แต่ละทีก็ระแวงกลัวไปหมด

วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับโรคแพนิค การสังเกต อาการแพนิค และวิธีการป้องกันค่ะ

แพนิค หรือ โรคแพนิค (Panic Disorder)

เป็นอีกโรคหนึ่งที่ได้รับความสนใจในปัจจุบัน ยิ่งเทคโนโลยี กระแสสังคมต่าง ๆ ทำให้เกิดอาการตื่นตระหนกตกใจ แต่รู้ไหมว่าอาการแพนิคแท้จริงแล้วมันคือโรคที่เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ (automatic nervous system) ทำงานผิดปกติ และโรคแพนิคนี้ก็ไม่ใช่แค่นิสัยขี้ตระหนกตกใจแต่  โรคแพนิค  เกิดจากฮอร์โมนลดกะทันหัน ทำให้สารสื่อในสมองผิดปกติคล้ายกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ส่งผลประสาททำงานผิดพลาด สมองรวน ทำให้สมองหลั่งสารตื่นตระหนกออกมา หลังอาการแพนิคสงบลง ผู้ป่วยมักรู้สึกอ่อนเพลียไม่ค่อยมีแรงและกังวลว่าอาการจะกลับมากำเริบอีก

อาการแพนิค

ใจสั่น ใจเต้นแรง แน่นหน้าอก

เหงื่อออก มือเท้าสั่น

หายใจถี่ หายใจตื้น หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก

วิงเวียน โคลงเคลง คล้ายจะเป็นลม

รู้สึกกลัวไปหมดทุกอย่าง และวิตกกังวลมากขึ้นไปอีกเมื่อไม่สามารถหาได้ว่าอาการเกิดจากอะไร

ควบคุมตัวเองไม่ได้  รู้สึกอยู่คนเดียวไม่ได้

ตกอยู่ในภาวะหดหู่และซึมเศร้า

หากมีอาการในลักษณะดังที่กล่าวมาข้างต้น สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรกคือการไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด แม้ว่าโรคแพนิคจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาการของโรคนั้นไปสัมพันธ์คล้ายคลึงกับปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบหลอดเลือดหัวใจ และหัวใจวายเฉียบพลัน

แพนิค อันตรายไหม?

โรคแพนิค ไม่อันตรายถึงชีวิต แต่ก็ต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ  สามารถรักษาได้ด้วยการทานยาเพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ การตรวจเลือดหาสาเหตุที่เกิดทางด้านร่างกาย เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ หรือรักษาด้วยการทำจิตบำบัดซึ่งอาจหาต้นเหตุของความกลัวได้ แต่ผู้ป่วยก็สามารถลดความวิตกกังวลของตนเองได้เช่นกัน เช่น การฝึกการหายใจเพื่อควบคุมสติ เป็นต้น

3 พฤติกรรมที่ควรงด เสี่ยงแพนิค

  • ใช้ชีวิตประจำวันด้วยความเร่งรีบ
  • กินนอนไม่เพียงพอและไม่เป็นเวลา
  • ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือมากเกินไป

วิธีการป้องกันอาการแพนิค

  1. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  3. พักผ่อนให้เพียงพอ
  4. คิดบวก มองโลกในแง่ดีให้เป็นนิสัย
  5. ตั้งสติ พยายามไม่คิดไปไกล

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับอาการแพนิค หรือโรคแพนิคที่เราเรียกกัน ได้รู้ถึงอาการ วิธีป้องกันไปแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพทั้งกายและใจของเรา ถ้าสุขภาพใจดี สุขภาพกายก็จะดีนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก :  กรมสุขภาพจิต

โรงพยาบาลวิชัยยุทธ

โรงพยาบาลเปาโล

…………………………………………………………………..

เรียบเรียงเนื้อหาโดย : ลลิตา ศรีหาบุญมา

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ติดตามข่าว COVID-19 ยังไง ไม่ให้เครียด วิตกกังวล เกิดอาการแพนิค?

11 วิธีหยุดอาการ Panic ขี้ตื่นตระหนกตกใจ ให้สงบลงอย่างรวดเร็ว

เจ็บหน้าอก ทำไงดี เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.