โรคหัวใจ

เจาะลึกวิธีรับมือโรคหลอดเลือดหัวใจ

เจาะลึกวิธีรับมือโรคหลอดเลือดหัวใจ

ที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า โรคนี้พบมากในผู้สูงอายุ แม้จะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแต่สถิติผู้ป่วยโรคหัวใจอายุน้อยก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้น เพื่อให้ผู้อ่านทุกเพศทุกวัยลดเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ชีวจิต จึงคัดสรรข้อมูลอัพเดทล่าสุดจากแพทย์ทั้งในและต่างประเทศมานำเสนอ ดังนี้

THE OVERVIEW เปิดสถิติสะท้อนปัญหาระดับประเทศ

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ปี 2561 ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดรวม 432,943 คน โดยมีอัตราการเสียชีวิตถึง 20,855 คนต่อปี คิดเป็นชั่วโมงละ 2.3 คน หรือ วันละ 54 คน และมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ 21,700 คน

นอกจากนี้ยังพบว่า ในแต่ละวัน มีผู้ป่วยต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจ 1,185 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดประมาณ 450 ราย

ขณะที่ข้อมูลแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติระยะ 20 ปี ด้านสาธารณสุข ระบุว่า โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของสาเหตุการเสียชีวิตในกลุ่มผู้เป็นโรคเรื้อรัง จากการติดตามข้อมูลตั้งแต่ปี 2550 ถึงปี 2560 อัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 และอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7

TRUE DEFINITION รู้จักความหมายของโรค

ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลศิริราชปิยการุณย์ อธิบายว่า โรคหัวใจ นั้นเป็นคำที่คนทั่วไปมักใช้กัน ดังนั้นขอให้ตั้งต้นทำความเข้าใจก่อนว่าโรคหรือความผิดปกติที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับ 3 รองจากโรคมะเร็งและอุบัติเหตุ คือ กลุ่มอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease หรือ CAD) ซึ่งทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบ

กลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจนั้นครอบคลุมโรค 3 กลุ่ม ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดส่วนปลาย โดยเกิดจากความเสื่อมของผนังหลอดเลือดแดงโคโรนารีซึ่งเป็นหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ

สาเหตุหลักๆ คือ หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบหรือตันจากการไขมัน โปรตีน และแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม ไปสะสมที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแคบลง เลือดที่ขนส่งออกซิเจนและสารอาหารไปสู่เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจส่งผ่านไปได้น้อยลงหรืออาจผ่านไม่ได้เลย เกิดเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย และหัวใจวายเฉียบพลันซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

โรคหลอดเลือดหัวใจ

THE HIDDEN ANSWER ไขปริศนาจากคนไข้อายุน้อย

นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ ศัลยแพทย์หัวใจและผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว คอลัมนิสต์ประจำนิตยสารชีวจิต เล่าถึงสาเหตุและยกตัวอย่างกรณีผู้ป่วยโรคหลอดหัวใจอายุน้อยไว้ ดังนี้

คนไข้รายสุดท้ายที่คุณหมอได้ผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจก่อนวางมือจากอาชีพแพทย์ผ่าตัดโรคหัวใจมีอายุเพียง 27 ปีเท่านั้น แสดงว่าก่อนหน้านี้ต้องมีปัญหาหลอดเลือดขาดความยืดหยุ่น ตีบ และมีไขมันเกาะเป็นเวลานานแล้ว

คุณหมอได้อธิบายต่อว่า แพทย์นิติเวชกลุ่มหนึ่งทำงานวิจัยชื่อ PDAY ศึกษาโดยการผ่าชันสูตรร่างของคนหนุ่มคนสาวอายุ 15-34 ปีที่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุและฆาตกรรมจำนวน 2,876 ร่างมาผ่าดูหลอดเลือดหัวใจ พบว่ามีไขมันพอกหลอดเลือดหัวใจตั้งแต่อายุ 15 ปี ดังนั้น ถ้าพวกเขามีอาการดังกล่าวต่อเนื่องจนอายุ 30 ปี หลายคนก็มีไขมันเกาะหลอดเลือดมากพอจะเกิดภาวะหัวใจวายได้แล้ว

ทั้งนี้ คุณหมอสันต์ได้เตือนว่า หลายคนอาจเข้าใจว่าตนเองมีพฤติกรรมที่ทำให้สุขภาพดี เช่น ไม่สูบบุหรี่ ความดันโลหิตก็ไม่สูง ไม่เป็นเบาหวาน คุมน้ำหนักได้ แถมขยันออกกำลังกายอีกด้วย แต่ถ้ามีไขมันในเลือดสูงติดต่อกันอยู่นานหลายปีโดยไม่ได้รับการแก้ไขก็มีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดหัวใจได้

ดังนั้น การตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะจะทำให้เราทราบว่า ตนเองมีความเสี่นยงในข้อไหน ความดันโลหิต น้ำตาบในเลือด หรือ ระดับไขมัน เมื่อทราบแล้วก็จงปฏิบัติตนให้ครบตามคำแนะนำของแพทย์ ก่อนที่อะไรๆ จะสายเกินไป

>>อ่านต่อหน้าถัดไป<<

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.