” หัวใจวายขณะวิ่ง ” ถึงแข็งแรงก็ตายได้ เช็กความเสี่ยงกันเถอะ

” หัวใจวายขณะวิ่ง ” ภัยสายวิ่ง น่ากลัวกว่าที่คิด

เมื่อ 2-3 วันก่อน เห็นข่าวรองอธิบดีกรมควบคุมโรค เสียชีวิตกะทันหัน ขณะร่วมกิจกรรมวิ่ง “ถิ่นวีรชน มินิฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 4” ด้วยสาเหตุคือ หัวใจวายขณะวิ่ง ทำให้แอดมินรู้สึกว่า การรู้ขีดจำกัดของร่างกายตนเอง รวมไปถึงการตรวจสุขภาพก่อนออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญมากๆ เพราะบางทีดูเหมือนเราแข็งแรงดี แต่พอไปออกกำลังกายเข้า อาจเกิดเหตุจนถึงแก่ชีวิตได้เลยค่ะ

ข้อเท็จจริงเรื่องหัวใจวายขณะวิ่ง

จากสถิติพบการเสียชีวิตเฉียบพลันในกลุ่มนักวิ่งที่ร่างกายแข็งแรง (healthy long-distance runners) ประมาณ1 ต่อ 15,000 ถึง 1 ต่อ 150,000 ต่อปี หรือแปลง่าย ๆ ว่า ถ้าใน 1 ปีนั้น มีนักวิ่งเข้าแข่งขัน ประมาณ 200,000 คน ก็จะพบผู้เสียชีวิตเฉียบพลันอยู่ที่ประมาณ 1-2 ราย

หัวใจวาย หัวใจวายขณะวิ่ง หัวใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น วิ่ง

ทั้งที่มีสุขภาพปกติ แต่ทำไมเกิด “ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน” ขณะออกกำลังกาย

ภัยเงียบอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตขณะวิ่งที่เราพบได้บ่อย คือ การมีความผิดปกติของหัวใจแอบแฝงอยู่แต่ไม่รู้ตัว โดยพบว่าในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มักจะมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันซ่อนอยู่ ส่วนผู้ที่มีอายุน้อยนั้น อาจเกิดได้จากหลายๆ สาเหตุ เช่น ลิ้นหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด… แต่ไม่เคยตรวจมาก่อน หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา ที่มักพบได้ในนักกีฬาที่มีการออกกำลังกายเป็นประจำ หรือมีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แต่ไม่เคยมีอาการมาก่อน… แล้วบังเอิญเกิดขึ้นในขณะออกกำลังกายพอดี เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

หัวใจวาย หัวใจวายขณะวิ่ง หัวใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น วิ่ง

สรุปแล้วใครเสี่ยงบ้าง

1.ผู้ที่แพทย์วินิจฉัยว่า เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายมาก่อน

2.ผู้ที่แพทย์วินิจฉัยว่า เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคเยื่อหุ้มหัวใจ โรคหัวใจแต่กำเนิด หัวใจล้มเหลว หรือ โรคหัวใจและหลอดเลือดร่วมกับหัวใจขาดเลือด การเต้นหัวใจผิดปกติรุนแรง หรือ การทำงานของหัวใจผิดปกติ

3. ผู้ที่มีอาการที่เข้าได้กับโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก เจ็บบริเวณกราม หรือ เหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก เวลานั่ง เวลานอนราบ เวลาออกกำลังกาย เวลายกของหนัก เวลาโมโห ตื่นเต้น, หายใจไม่สะดวกเวลากลางคืนจนต้องตื่นลุกมานั่งหายใจ, ใจสั่น รู้สึกหัวใจเต้นผิดจังหวะ, รู้สึกเวียนศีรษะ จะเป็นลม หรือ เคยหมดสติ โดยเฉพาะเวลาออกกำลังกาย หรือเวลาลุกเปลี่ยนท่า

4.ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ประวัติครอบครัวญาติสายตรง (ชายอายุน้อยกว่า 55 ปี หญิงอายุน้อยกว่า 65 ปี) ที่ป่วยหรือตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันผิดปกติ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ

5.ผู้ที่สงสัย หรือ ไม่แน่ใจว่าตนเองเสี่ยงหรือไม่ (กรณีนี้ลองไปตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะระบบหัวใจและหลอดเลือดเพื่อความชัวร์)

(อ้างอิง : โรงพยาบาลพญาไท , โรงพยาบาลเปาโล)


บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

5 อาการบาดเจ็บ ที่มักเกิดกับนักวิ่ง

เตรียมตัวก่อนวิ่งมาราธอน เคล็ดลับเริ่ดจากโปรตัวจริง

หัวใจวาย เฉียบพลัน รู้เท่าทันก่อนชีพวาย 

เทคโนโลยีกู้ชีพผู้ป่วยหัวใจวาย ป้องกันเสียชีวิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.