หลอน อาการหลอน

เช็กอาการบอกโรคชวนหลอน รับฮาโลวีน

เช็กอาการบอกโรคชวนหลอน รับฮาโลวีน

พูดถึงวันฮาโลวีน ก็ชวนึกถึงเรื่อง หลอนๆ ใช่มั้ยคะ เพราะบางคนก็เรียกวันปล่อยผี เอาจริงๆ วันนี้ถือเป็นงานปล่อยผีของฝรั่งที่เค้ามีเรื่องเล่ามาช้านาน เทศกาลนี้ถือว่าเรื่องคึกคัก อาจถูกใจหลายคนเพราะว่าได้ฉลองปาร์ตี้แต่งตัวแบบผีมาประชันกัน ส่วนบางคนนั้นแค่ได้ยินคำว่า “ผี” ก็หลอนจนนอนไม่หลับ วันปล่อยผีเลยไม่อยากย่างกายออกไปไหนเอาเสียเลยใช่มั้ยคะ แถมหนักไปกว่านั้น บางคนบอกว่า ชั้นนี่แหละคนเห็นผีตัวจริง เห็นเงา เห็นผี เสียงผีแว่วดังอยู่ตลอดเวลา

อยากบอกว่า นั่นไม่ใช่ “ผี” ค่ะ นั่นเค้าเรียกว่า “อาการหลอน”

ไหนๆ ก็เกริ่นเรื่องด้วยเรื่องผีๆ หลอนๆ มาแล้ว ก็ขอพูดเรื่องสิ่งผิดปกติหลอนๆ ที่ไม่ใช่ผี ที่เกิดขึ้นกับร่างกายของคนเรากันดีกว่าค่ะ โดยเราได้ไปรวบรวมข้อมูลเรื่องนี้มาให้ อ่านแล้วจะรู้ว่าการมีหูแว่วภาพหลอน คือการทำงานของสมองที่ผิดปกติอย่างหนึ่ง สรุปง่ายๆก็คือการเห็นผี และได้ยินเสียงผี คืออาการผิดปกติทางสมองนั่นเอง

กลัวผี

ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่อธิบายเกี่ยวกับอาการหลอน หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า “ประสาทหลอน” เอาไว้ว่า  ประสาทหลอนคือการมีการรับรู้ทั้งๆ ที่ไม่มีสิ่งกระตุ้น ซึ่งเป็นได้กับการรับรู้ทั้งทางรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส อาการประสาทหลอนที่พบบ่อย คือ เสียงแว่ว โดยผู้ที่เป็นมักได้ยินเสียงคนพูดเป็นเรื่องราว และขณะที่ได้ยินก็รู้ตัวดียู่ตลอด มิใช่ได้ยินเพียงแค่เสียงคนเรียกชื่อบางครั้ง หรือได้ยินเฉพาะตอนเคลิ้มหลับเท่านั้น

ลักษณะที่พบบ่อยคือแว่วเสียงคนพูดคุยกัน หรือวิพากษ์วิจารณ์ตัวผู้ป่วย หรืออาจเป็นเสียงๆ เดียวคอยพูดต่อว่า หรือผู้ป่วยจะทำอะไรก็จะวิจารณ์ไปหมด จนผู้ที่เป็นรู้สึกทุกข์ทรมานมาก

                     “บางคนบอกว่าจนไม่อยากจะคิด ไม่อยากจะทำอะไรเสียงนี้ได้ยินไม่เป็นเวลา กลางวันหรือกลางคืนก็ได้ยินพอๆ กัน   ถ้าข้างนอกมีเสียงดัง เสียงแว่วนี้อาจเบาลงหรือหายไป บางคนใส่ซาวอะเบาท์ เพื่อจะให้ไม่ได้ยินเสียงแว่วก็มี”

ประสาทหลอนชนิดที่พบรองลงไปคือ ภาพหลอน อาจเห็นคนใกล้ชิด เห็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ ส่วนใหญ่จะเห็นสีสัน รายละเอียดชัดเจน และมักมีหูแว่วร่วมด้วย ประสาทหลอนชนิดอื่นๆ เช่น ได้กลิ่นแปลกๆ หรือลิ้นรับรู้รสแปลกๆ อาจพบได้ แต่ไม่บ่อย

เงาหลอนเห็นผี

แต่เชื่อว่าหลายๆ คนที่อ่านมาถึงตรงนี้อาจคิดในใจว่า เอ๊ะ ก็เราหรือคนใกล้ตัวเรามีอาการแปลกๆ ที่มากกว่าการเห็นภาพ ได้ยินเสียงเท่านั้นนี่ แบบนี้มันก็ยังคงเป็นเหมือนเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างป่วยกายกับป่วยใจ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอาการแปลกๆ ที่เกิดกับเจ้าตัวเพียงคนเดียว จนบางครั้งทำให้คนนั้นพลอยสงสัยตัวเองไปด้วยว่าสรุปแล้วเราป่วยหรือเราเห็นผี ถ้าถึงขั้นนั้นไปพบจิตแพทย์เพื่อทำการปรึกษาถึงอาการก็ดีนะคะ

มีคุณหมอที่รวบรวมเรื่องอาการหลอนๆ ที่อาจเป็นผลมาจากการป่วยของตัวเองเอาไว้ โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการ ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ได้ให้ทัศนะเรือ่งหลอนๆ เกี่ยวกับสุขภาพเอาไว้ดังนี้ ลองไปเช็กกันดูว่าตัวคุณเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการชวนหลอน ที่ไม่ได้เกิดจากผี หรือไม่

เสียงหลอน

แบ่งเป็น 2 แบบเสียง อย่างแรกคือเสียงหลอนจริง ฟังเหมือนมีใครมากระซิบข้างหูหรือได้ยินคนที่อยู่ไกลๆ พูดนินทาตนพาให้สับสนและหวาดระแวง อย่างนี้เป็นอาการทางจิตเวช (Auditory hallucination) เป็นพารานอยด์หนึ่งในโรคจิตเภทได้

เสียงหลอน

ส่วนเสียงแบบที่สองไม่เชิงหลอนแต่ได้ยินเสียงหึ่งคนเดียวในหูคล้ายเสียง “วิ้ง” หรือมีใครมาตีระฆังดังติงๆในหูจนรู้สึกรำคาญ อาการนี้เรียก “ทินนิตุส (Tinnitus)” ซึ่งมีส่วนเกี่ยวกับประสาทหูส่วนในสุดซึ่งเกิดจากเสียงดังมาก, ยาหรืออุบัติเหตุที่ศีรษะก็ได้

สั่นหลอน

อาการสั่นชนิดนี้ไม่ได้เกี่ยวกับโรคสั่นหรือพาร์กินสันแต่มันเป็น “อาการยุคใหม่” ที่เกิดจากเทคโนโลยี “มือถือ” โดยเป็น “ความรู้สึก” ที่เกิดกับผู้ใช้มือถือที่เปิดระบบสั่น ซึ่งอาการที่ว่านี้มีทั้งแบบปกติและไม่ปกติ จะเรียกว่า “สั่นมโน (Phantom phone vibration)” ก็พอไหว

โดยสื่อใหญ่อย่างบีบีซีได้เผยว่านี่เป็นอาการแห่งอนาคตที่พบว่าคนถึง 80% เคยรู้สึกว่ามือถือในกระเป๋าตัวเองสั่นทั้งที่ไม่ได้สั่นจริง ซึ่งอย่าเพิ่งคิดว่าเป็นอาการผิดปกติเสมอไป ยกเว้นว่ามันรบกวนจิตใจและการงานอย่างแรง ก็ต้องจัดการและแบ่งเวลาระหว่างโทรศัพท์งานกับเวลาพักผ่อนส่วนตัว

 

ภาพหลอน

การเห็นภาพที่เห็นอยู่คนเดียวนั้นเป็นอาการที่เกิดได้จากความผิดปกติในจุดพิเศษของร่างกาย มีอยู่ 3 จุดที่ต้องดูคือ ระบบสมอง, เรื่องทางตา, และจิตใจ โรคทางใจก็เช่นจิตเภทเป็นต้น ซึ่งสาเหตุของภาพหลอนไม่จำเป็นต้องป่วยโรคจิตโรคประสาทอย่างที่หลายคนคาดเสมอไป ดังเช่นในกรณีของกลุ่มอาการชาร์ลส์บอนเน็ต (CBS) ที่มาจากจอตาเสื่อม, ต้อหิน, ต้อกระจก, เส้นเลือดสมองหรือเนื้องอกได้ ซึ่งในเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับโรคทางจิตใจเลย

หรืออย่างกรณี “ลมชัก” ที่คนไข้อาจเห็นแสงแวบวิบวับที่ตาได้ เอาที่ง่ายกว่านั้นอย่าง “ไมเกรน” ที่ก่อนปวดหัวอาจมีตาพร่านำมาก่อน

ภาพหลอน

เจ็บหลอน

เจ็บจริงก็ว่าแย่พอแล้วยังมีเจ็บหลอนอีก อาการเจ็บหลอนที่ว่าเกิดได้ทั้งที่ไม่มีร่องรอยบาดเจ็บใดๆ ให้เห็นก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นคนที่ป่วยด้วยโรคงูสวัด ไวรัสร้ายนี้จะเพ่นพ่านลึกเข้าไปแฝงในปมประสาทจนทำให้เจ็บแปลบปลาบขึ้นมาทั้งที่แผลงูสวัดหายดิบดีแล้วก็ได้ (Postherpetic neuralgia) รวมถึงคนที่ถูกตัดขาหรือนิ้วไปหมาดๆ อาจมีอาการรู้สึกคันหลอนว่ายังมีแขนขาข้างที่ตัดไปนั้นอยู่ (Phantom limb) หรือในบางท่านอาจมีอาการ “เจ็บหลอน (Phantom pain)” แบบแสบร้อนก็ได้

 ยานอนหลับหลอน

อันนี้น่ากลัวไม่น้อยถ้าได้เคยเห็น อาการหลอนที่ว่าคือ อาการสับสนปนวุ่นวาย (Benzodiazepine-induced delirium) ที่เกิดได้จากการรับประทานยานอนหลับ โดยเฉพาะกลุ่มยอดนิยมอย่างไดอะซีแพม, ลอร่าซีแพม เป็นต้น ซึ่งอาการสับสนที่ว่านี้มีสัญญาณให้สังเกตได้ก็คือหลงลืมง่าย, ดูลอยๆ งงๆ, ไม่มีสมาธิและอารมณ์แปรปรวนง่าย ส่วนอาการนอนที่ผิดปกติไปนั้นก็พอดูได้เช่นกัน อย่างเช่น กลางคืนตาค้าง นอนไม่หลับ นับแกะเล่นหลายต่อหลายชั่วโมงเป็นต้น

สุราหลอน

หรืออาการแอลกอฮอล์หลอน ข้อนี้น่ากลัวมากและต้องจับตาไว้ให้ดีโดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่มีเทศกาลฉลองมากมาย อันตรายของมันคือทำให้ถึงขั้น “หลุดโลก (Alcohol-induced psychosis)” ได้นาน แม้เกิดไม่บ่อยแต่มีเสี่ยงมากในนักดื่มที่แอลกอฮอลิซึ่มทั้งหลาย อาการของมันมักเกิดเมื่อตอนเจ็บป่วยไม่สบายต้องหยุดเหล้าเมื่อเข้าโรงพยาบาล มันทำให้เกิดอาการหูแว่วได้ยินเสียงคนด่าว่าหรือขู่ฆ่าทำร้าย ซึ่งอันตรายของมันอยู่ตรงที่เกิดขึ้นได้ปุบปับแบบที่คนรอบข้างไม่ตั้งตัวและน่ากลัวถึงขั้นทำให้ “จิตเสื่อม (Delirium tremens)” ซึ่งถึงตายได้ถ้าไม่รักษา

ผู้หญิงกลัวผี

ขาดวิตามินหลอน

เกิดกับผู้ที่ขาดวิตามินบีหนึ่งหรือ “ไทอะมิน” เรียกชื่อกลุ่มอาการตามชื่อผู้ค้นพบว่า “เวอนิค-คอซาคอฟ” ปรากฏการณ์นี้เป็นที่รู้จักกันมานานในหมู่แพทย์ ซึ่งเป็นอาการแสนคลาสสิกที่เจอในคนไข้ติดสุรา แต่ว่าถูกตรวจเจอแค่ 20% เท่านั้น เพราะต้องอาศัยประสบการณ์การสังเกตอย่างละเอียดละออ เพราะคนไข้จะมีอาการไม่ธรรมดาร่วมกันหลายอย่างโดยอาการหนึ่งคือ สับสน “กุเรื่อง (Confabulation)” พูดไปเรื่อยเพราะความจำมีปัญหากับอาการได้ยินหรือเห็นภาพหลอน (Hallucinations)

ต้องขอบคุณคุณหมอกฤษดา ที่มาไขความกระจ่างให้ซะที ทีนี้ก็รู้แล้วนะคะว่าบางทีอาการแปลกๆ ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ผี แต่เป็นอาการป่วยทากายที่ควรต้องรีบไปรักษา อ่อ คุณหมอยังบอกทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ปรากฏการณ์หลอนทั้งหมดที่กล่าวมาสามารถเกิดกับใครก็ได้ที่มีความเสี่ยง โดยไม่จำเป็นต้องป่วยทางจิตเสมอไป เพราะอาการป่วยกายหลายอย่างดังที่เล่าไป ก็ให้กำเนิดความหลอนแบบไม่คาดได้ พูดง่ายๆ ว่า “หลอน” ไม่ใช่ “จิตป่วย” เสมอไป

แต่เกิดได้จากความเพี้ยนของสมองหรือระบบประสาทใดๆ จนให้ข้อมูลเราผิดไปก็ได้ ทำให้ได้ยินและได้ยลในสิ่งที่คนอื่นสัมผัสไม่ได้ ซึ่งใครที่ไม่เคยเป็นก็ยากที่จะเข้าใจจึงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ และพึงเข้าอกเข้าใจเพื่อนมนุษย์ที่ป่วยให้มาก

ทางที่ดีเมื่อเช็กแล้วว่าเราเองหรือคนใกล้ตัวเริ่มป่วยด้วยอาการที่พบอก หามอค่ะ ไปตรวจและทำการรักษาให้ทัน อย่ามานั่งหลอนอยู่เลย มันน่ากลัววววว!!

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

กินฟักทอง รับฮาโลวีน อาหารดีใกล้ตัว ต้านซึมเศร้า วิตามินเพียบ

รู้ทันโรคซึมเศร้า ฉบับครอบครัว

ปวดหัวไมเกรน รักษาได้ ไม่ต้องพึ่งยา

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.