ป่วยเรื้อรัง

เจ็บป่วยเรื้อรัง ตัวการทำอารมณ์แปรปรวน

เจ็บป่วยเรื้อรัง ตัวการทำอารมณ์แปรปรวน

ความเจ็บป่วย เป็นภาวะที่กระทบกระเทือนต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ แต่ละคนมีวิธีปรับตัวต่อการเจ็บป่วยที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของโรค ลักษณะและวิธีการแก้ปัญหาของผู้ป่วยและสภาพแวดล้อมทางครอบครัวสังคม ภาวะจิตสังคมของผู้ป่วยเป็นสิ่งที่ผู้รักษาพยาบาลควรให้ความสนใจ และให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรงและคุกคามชีวิต โรคที่ร้ายแรงหรือเรื้อรังย่อมมีผลต่อจิตใจและพฤติกรรมของผู้ป่วยอย่างมาก โรคที่ไม่ร้ายแรงก็มีผลต่อจิตใจของผู้ป่วยชั่วระยะหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยปรับตัวต่อโรคได้ไม่ยากและกลับคืนสู่สภาพการดำเนินชีวิตตามปกติต่อไป

ปฏิกิริยาต่อโรคของผู้ป่วยนั้นก็คือปฏิกิริยาต่อภาวะวิกฤติ เช่น ผู้ป่วยที่รู้ว่าตนเองเป็นมะเร็งหรือแม้แต่เพียงสงสัยจะมีอาการตกใจมาก มีความกังวลมากในขณะที่รอผลการวินิจฉัยที่แน่นอน การปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่าตนเป็นโรคนั้นเป็นสิ่งที่พบได้บ่อย บ้างก็โทษว่าแพทย์อาจตรวจผิดและพยายามไปรับการตรวจตามที่ต่าง ๆ

อาการซึมเศร้าและกังวลมากพบได้ในผู้ป่วยทุกราย แต่การแสดงออกอาจแตกต่างกันไป ความหวาดกลัวและความรู้สึกสูญเสียสมรรถภาพ ตลอดจนความหมดหวัง ทำให้พฤติกรรมของผู้ป่วยเปลี่ยนไปในทางแยกตัวและซึมเฉย

นอกจากนั้นในผู้ป่วยยังมีความกังวลต่อผลการรักษา อาการเนื่องจากการรักษาและการกำเริบของโรคอีกด้วย ปฏิกิริยาเหล่านี้พบได้เช่นเดียวกันในผู้ป่วยด้วยโรคร้ายแรงหรือโรคเรื้อรัง

เจ็บป่วยเรื้อรัง

ด้านปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อปฏิกิริยาทางจิตใจของผู้ป่วย เริ่มจากปัจจัยเกี่ยวกับการเจ็บป่วย ซึ่งขณะเจ็บป่วยนั้นผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยจะรู้สึกถูกคุกคาม สูญเสียความเป็นตัวเอง จะกลัวในสิ่งที่เกิดขึ้น ผู้เจ็บป่วยทุกรายต้องเผชิญกับปัญหาชีวิต ย่อมมีความกังวลเป็นธรรมดา กังวลและซึมเศร้าเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด แต่การแสดงออกอาจไม่เท่ากัน ระยะเวลาที่มีอาการสั้นหรือยาวย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของผู้ป่วย

ส่วนลำดับขั้นตอนของการแสดงออกทางอารมณ์และพฤติกรรมของผู้ป่วยด้วยโรคร้ายแรง ได้แก่ ผู้ป่วยมักจะตกใจต่อการที่ทราบหรือสงสัยว่าตนเป็นโรคร้ายที่รักษาไม่หายและอาจต้องเสียชีวิตในเวลาอันใกล้ อาจมีอาการกังวลมาก สับสน ซึมเฉย หรือถ้าตกใจมากอาจเอะอะโวยวาย ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ในระยะนี้ผู้ป่วยจะปฏิเสธความจริง ปฏิเสธว่าตนไม่ได้เป็นโรคนั้นๆ อาจโทษว่าแพทย์ตรวจผิด ผู้ป่วยจะพยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อลบล้างผลการตรวจของแพทย์ อาจไปหาแพทย์หลายคนเพื่อให้ยืนยันว่าตนไม่ป่วย

เมื่อไม่สามารถปฏิเสธความจริงได้ต่อไปผู้ป่วยเริ่มมีความกังวลมาก ความคิดสับสน รู้สึกอึดอัดและหาทางออกไม่ได้ รู้สึกโกรธที่ตนต้องเผชิญกับปัญหาที่ร้ายแรง อาจโทษว่าเป็นความผิดของแพทย์หรือผู้อื่น บางรายอาจแสดงวาจาหรือกิริยาที่ก้าวร้าว มีการต่อต้านการตรวจและคำแนะนำของแพทย์ โกรธญาติและคนอื่นๆ

ต่อมาผู้ป่วยจะเริ่มสงบลง ต่อรองว่าตนอาจจะไม่เป็นโรคร้ายแรง อาจจะกลับไปสู่ระยะปฏิเสธความจริงได้อีก บางรายก็มีความหวังว่าจะมีการตรวจละเอียดที่พบว่าตนไม่เป็นโรคร้ายหรือเป็นชนิดที่ไม่มีอันตรายและรักษาได้ ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มความหวังให้กับตนเองและยึดเวลาก่อนที่จะยอมรับความจริงไปอีกสักระยะหนึ่ง

ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกหมดหวังและเศร้าโศกเสียใจเมื่อเริ่มยอมรับความจริงของการเป็นโรคร้าย หลังจากที่การปฏิเสธและการต่อรองไม่เป็นผลสำเร็จ ผู้ป่วยจึงต้องยอมจำนนด้วยเหตุผล แต่จิตใจของผู้ป่วยยังไม่สามารถยอมรับได้ มีอารมณ์ซึมเศร้าต่อการสูญเสีย มีความรู้สึกผิด รู้สึกอ้างว้าง พูดและทำสิ่งต่างๆ น้อยลง แยกตัว ชอบอยู่คนเดียว เหม่อลอย กินไม่ได้ นอนไม่หลับ อาจมีความรู้สึกอยากตาย หรือถ้าอาการรุนแรงอาจมีประสาทหลอน หูแว่ว ระแวงได้

ระยะต่อมาผู้ป่วยยอมรับความจริงที่ตนหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาการเศร้าลดลง มีการซักถามถึงรายละเอียดของโรคที่เป็นและวิธีรักษา แต่ในบางรายอาจเฉยๆ และแสดงความไม่สนใจ ปล่อยให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของแพทย์และญาติในเรื่องการรักษา ต่อจากนี้ผู้ป่วยก็เริ่มปรับตัวต่อการรักษาและการดำเนินชีวิตต่อไป

อารมณ์แปรปรวน

สำหรับการให้ความช่วยเหลือและการรักษาปฏิกิริยาทางจิตใจนั้น ผู้ป่วยโดยทั่วไปจะสามารถปรับตัวได้ต่อโรคแม้แต่ในโรคที่ร้ายแรง แม้ว่าโรคนั้นจะหายหรือไม่หาย แต่เขาจะผ่านพ้นภาวะกดดันทางจิตใจอันทุกข์ทรมานนี้ไปได้ด้วยความยากลำบากแตกต่างกันไปในแต่ละคน แพทย์ผู้รักษาและพยาบาลผู้เกี่ยวข้องมีบทบาทที่สำคัญที่จะช่วยผ่อนคลายปฏิกิริยาทางจิตใจเหล่านี้ และช่วยให้อาการต่างๆ ลดลงได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญก็คือถ้าผู้รักษาเข้าใจและช่วยเหลือได้ถูกทางก็จะทำให้ได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วย และผู้รักษาก็จะไม่มีส่วนกระทำในสิ่งที่เพิ่มพูนความทุกข์ทางใจให้ผู้ป่วยอีกด้วย

นอกจากนี้การรู้จักอยู่ร่วมกับโรคเรื้อรังให้มีความสุข จึงเป็นเรื่องที่ทุกครอบครัวควรเรียนรู้และเตรียมพร้อม โดยเฉพาะครอบครัวที่มีผู้สูงวัยป่วยกระเสาะกระแสะ เพราะโรคเรื้อรังบางอย่างอาจเป็นความเจ็บป่วยที่อยู่กับเราไปตลอดชีวิต แต่ในเมื่อยังต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไป สิ่งที่ควรทำคือ ยอมรับ ทำความเข้าใจ และหาทางที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุขที่สุด ซึ่งอาจทำตามคำแนะนำวิธีต่างๆ ดังต่อไปนี้

ทำความเข้าใจโรคที่เป็นอยู่ ผู้ป่วยควรศึกษาและทำความเข้าใจโรคที่เป็นอยู่ให้ดีที่สุด โดยอาจหาข้อมูลด้วยการสอบถามแพทย์หรือค้นหาข้อมูลตามแหล่งที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้ทราบรายละเอียดของโรค หาวิธีรับมือและดูแลตัวเองให้ดียิ่งขึ้น

โรคที่ร้ายแรงหรือเรื้อรัง

รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อป่วยด้วยโรคเรื้อรังอยู่ ซึ่งอาจทำได้โดยออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ เช่น รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ เลิกสูบบุหรี่ และเลิกดื่มสุรา เป็นต้น

จัดการกับอารมณ์และความคิดของตนเอง นอกจากความเจ็บป่วยทางกายแล้ว ความเครียด ความกดดัน ความกังวล และความเศร้า ก็ล้วนเป็นอุปสรรคของการใช้ชีวิตร่วมกับโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยจึงควรจัดการกับความคิดของตนเอง โดยพยายามเข้าใจความเป็นจริง ไม่โทษตัวเอง ลดความคาดหวังลงบ้าง หรืออาจใช้วิธีฝึกสมาธิเพื่อช่วยให้ผ่อนคลายและจัดการกับความคิดความรู้สึกของตนเองได้ดีขึ้น

รับการรักษาและทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเต็มที่ ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังควรไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อความต่อเนื่องของการรักษา และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รับประทานยาให้ตรงตามที่แพทย์แนะนำ สอบถามแพทย์ในส่วนที่สงสัยหรือไม่เข้าใจ เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากที่สุด ให้ครอบครัวและคนรอบข้างคอยเป็นกำลังใจ การป่วยเป็นโรคเรื้อรังนั้นอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่กับตนเองและสิ่งรอบข้าง จึงเป็นหน้าที่ของคนในครอบครัวและคนรอบข้างที่ต้องคอยให้กำลังใจผู้ป่วย ให้รู้สึกว่าไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ชีวิตของตนยังมีคุณค่า เพื่อให้มีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไปค่ะ

ข้อมูลประกอบจาก: กรมสุขภาพจิต กระทรงสาธารณสุข

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเมื่อมีผู้สูงอายุต้องดูแล

เทคนิคการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองที่ควรทำ!

กิจกรรมดีๆ กับ “ดนตรีเพิ่มสุข บำบัดทุกข์ สู้ภัยวิกฤต” เพื่อผู้สูงวัย

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.