ความปลอดภัยในห้องครัว

เคล็ดลับปรับครัว เสริมสุขภาพจิต สว.

เคล็ดลับปรับครัว เสริมสุขภาพจิต สว.

เมื่อพูดถึงโรคซึมเศร้า หลายคนคงจะนึกถึงผู้ป่วยที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวหรือวัยทำงานซะส่วนใหญ่ แต่ใครจะรู้ว่าภาวะนี้มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ และหากปล่อยให้อาการซึมเศร้ากัดกร่อนสภาพจิตใจไปเรื่อย ๆ ก็อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด

จะเห็นได้จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ในปี ค.ศ. 2015 พบว่า คนที่มีอายุ 85 ปีขึ้นไป อยู่ในกลุ่มที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดเป็นอันดับสองในสหรัฐอเมริกา หรือมีโอกาสฆ่าตัวตายมากถึงร้อยละ 19.4 ส่วนหนึ่งมาจากตัวของผู้สูงอายุเอง ที่อาจลังเลที่จะพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกของตน หรือไม่เข้าใจว่าอาการทางกายลักษณะใดเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้า โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพัง ความเหงาจะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต

COOKING THERAPY

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมามีรายงานการศึกษาทางจิตวิทยาหลายชิ้นที่ระบุว่า การทำอาหารเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดความเครียด อาการซึมเศร้าหรืออาการจิตตก และยิ่งผู้สูงอายุทำกิจกรรมนี้บ่อย ๆ ก็จะยิ่งช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย มีความสุขมากขึ้น ซึ่งตรงตามคำบอกเล่าของ นอร์แมน ซัสแมน นักจิตวิทยาคลินิกจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เคยกล่าวว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลายคนรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้ออกกำลังกาย หรือใช้แรงให้ร่างกายเหงื่อออก เช่นเดียวกับการทำอาหารที่ให้ผลลัพธ์เป็นรูปธรรมทันที และการที่ได้ส่งต่อเมนูอาหารแสนอร่อยให้ผู้อื่น จะช่วยสร้างความรู้สึกที่มีคุณค่าทางจิตใจของผู้ให้ ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพจิตในระยะยาว

ห้องครัวสวย

ห้องครัวจึงเป็นบริเวณที่สำคัญไม่น้อย ที่จะช่วยสร้างความสุขให้กับผู้ใช้งาน ดังนั้น เราไปดูไอเดียการทำห้องครัวที่เหมาะกับผู้สูงอายุ จากเว็บไซต์ Senior Safety Advice ของต่างประเทศกันเลยดีกว่าค่ะ

ความปลอดภัยในห้องครัว

ห้องครัวเป็นศูนย์กลางของบ้านที่ใช้เตรียมอาหารด้วยความรัก แต่ก็ยังเป็นสถานที่ในบ้านที่ผู้สูงอายุเสี่ยงได้รับบาดเจ็บ การจัดระเบียบหรือเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ในห้องครัวให้มีความปลอดภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้สูงอายุ

– สัญญาณเตือนไฟไหม้ ขอแนะนำให้มีเครื่องตรวจจับควันหนึ่งเครื่องในแต่แต่ละห้อง โดยเฉพาะในห้องครัว และหากมีงบประมาณเพียงพอให้ติดตั้งบริเวณนอกห้องตามทางเดิน เพื่อสร้างความปลอดภัยมากขึ้น สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาการได้ยิน แนะนำให้ติดตั้งเครื่องตรวจจับควันที่มีการกระพริบไฟแฟลชเป็นสัญญาณการแจ้งเตือนแทนเสียงกริ่งที่ออกมาจากเครื่อง

– จัดเรียงเครื่องใช้ในครัวเพื่อการเข้าถึงที่ง่ายขึ้น อาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้สูงอายุที่จะกำจัดสิ่งของที่ไม่จำเป็นออกจากครัว อันดับแรกให้ย้ายสิ่งของที่ไม่ค่อยมีการใช้งานออกจากเคาน์เตอร์ แล้วแทนที่ด้วยสิ่งของที่ใช้งานเป็นประจำ จัดวางอย่างเป็นระเบียบ เหลือพื้นที่สำหรับการประกอบอาหาร ถ้าเป็นไปได้ควรเปลี่ยนภาชนะที่เป็นแก้ว มีการแตกหักง่าย เป็นภาชนะที่มีน้ำหนักเบาและมีลวดลายสวยงาม จะทำให้รู้สึกน่าใช้งานมากขึ้น

– ตู้ในครัวใช้งานง่าย เปิดออกมาแล้วจะไม่เกิดอุบัติเหตุ เช่น ชั้นวางแบบดึงออกเพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าถึงด้านหลังตู้ หรือชั้นวางแบบดึงลงก็เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยมสำหรับตู้เหนือศีรษะ

– เคาน์เตอร์ที่เหมาะสม ควรมีสีที่แตกต่างจากตู้เพื่อให้สามารถมองเห็นได้แม้กับผู้ที่มีสายตาไม่ดี ความสูงระดับพอดีกับตัวผู้สูงอายุ ขอบเคาน์เตอร์และตู้ควรมีขอบโค้งมนเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดบาดแผลเมื่อมีการกระแทก

ผู้สูงวัยทำอาหารในครัว

– แสงที่เพียงพอทั่วทั้งครัว บริเวณในครัวที่ควรเพิ่มแสงสว่าง ได้แก่ เหนือเคาน์เตอร์ เหนือหัวเตา เหนืออ่างล้างจาน ควรมีสวิตช์ไฟที่ทางเข้าแต่ละประตู อีกแนวคิดหนึ่งคือ การติดตั้งไฟตรวจจับการเคลื่อนไหวในครัวเพื่อให้ใช้งานอย่างสะดวก โคมไฟบนเพดานติดตั้งกระจายหลายดวง จะทำให้แสงสว่างในห้องมากกว่าแสงมาตรฐานที่แขวนอยู่ตรงกลางของเพดาน

– พื้นกันลื่น ห้องครัวเป็นบริเวณที่ผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มบ่อยเช่นเดียวกับห้องน้ำ ควรเลือกใช้พื้นที่มีพื้นผิวสัมผัสไม่ลื่น เช่น พื้นไม้ไม่ขัดมัน กระเบื้องเซรามิก หรือติดตั้งแผ่นกันลื่นและราวจับตามจุดต่าง ๆ ในห้องครัวแทน

– เครื่องใช้ในครัวที่เป็นมิตรกับผู้อาวุโส คุณสมบัติบางอย่างของเครื่องใช้ไฟฟ้าทำมาเพื่อให้ผู้สูงอายุใช้งานได้สะดวกมากขึ้น เช่น ตู้เย็นที่มีช่องแช่แข็งด้านล่าง ตู้เย็นประเภทนี้ช่วยให้พวกท่านเข้าถึงสิ่งของที่ใช้บ่อยที่สุดได้ง่ายขึ้นในระดับความสูงที่เหมาะสม หรือตู้เย็นรุ่นใหม่ที่มีชั้นวางของแบบดึงออก ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและง่ายต่อการเข้าถึงรายการสิ่งของภายในตู้ หรือแม้แต่เตาแก๊สหรือเตาไฟฟ้าในครัวสามารถเพิ่มเครื่องมือที่เหมาะสม เช่น ฝาครอบลูกบิดเตา สัญญาณเตือน และตัวตรวจจับการเคลื่อนไหว

ทำอาหารในครัว

5 GADGETS ครัวที่ควรมี

มีเครื่องมืออื่น ๆ อีกมากมายที่ทำให้ชีวิตของผู้สูงอายุง่ายขึ้น และนี่เป็นเพียงบางส่วนที่เราคัดมาให้คุณผู้อ่านค่ะ

  1. ที่เปิดไฟฟ้า เหมาะสำหรับผู้สูงอายุอย่างมาก เพราะช่วยให้ประหยัดแรงในการเปิดขวด หรือใต้เคาน์เตอร์บางรุ่นสามารถเปิดกระป๋องต่าง ๆ ทำให้ประหยัดพื้นที่ในครัว
  2. แว่นขยาย อาจเป็นเรื่องแปลกที่จะมีแว่นขยายในห้องครัว แต่อุปกรณ์นี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถอ่านคำแนะนำและส่วนผสมบนผลิตภัณฑ์ได้อย่างง่ายดาย
  3. เครื่องจับเวลา เป็นความคิดที่ดีที่จะมีตัวจับเวลาหลายตัวในห้องครัว แม้ว่าทุกวันนี้มันค่อนข้างง่ายในการใช้แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน เช่น Alexa หรือ Google Home เลือกสิ่งที่ผู้สูงอายุถนัดในการใช้งานมากที่สุด และมีเสียงเตือนที่ดังชัดเจน
  4. Kitchen Stools สำหรับผู้สูงอายุหลายคนมันยากที่จะยืนเป็นเวลานาน การใช้เก้าอี้ขนาดเล็กที่มีความสูงพอเหมาะจึงเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการทำให้พวกท่านได้ทำอาหารอย่างสะดวกสบาย
  5. แผ่นรองยืนลดความเมื่อยล้า ผู้สูงอายุบางคนอาจไม่ถนัดหากต้องนั่งทำอาหาร แผ่นป้องกันความเมื่อยล้าหรือแผ่นโฟมชนิดนี้ จะสามารถบรรเทาอาการปวดเมื่อยขณะยืนเป็นเวลานานได้ ควรเลือกแผ่นรองยืนที่มีความมั่นคงเกาะติดพื้น ไม่ลื่น และรูปแบบเข้ากับห้องครัวของคุณ

นอกจากกิจกรรมทำอาหารที่ช่วยให้ผู้สูงอายุห่างไกลโรคซึมเศร้าแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นตัวช่วยที่ดีไม่แพ้กัน เช่น งานศิลปะ การเลี้ยงสัตว์ เล่นดนตรี ออกกำลังกาย ฯลฯ ให้คุณปู่คุณย่าเลือกทำกิจกรรมที่ท่านชื่นชอบ แล้วอย่าลืมหาเวลาสร้างความสุขร่วมกับพวกท่านด้วยนะคะ

ที่มา: นิตยสารชีวจิต ฉบับ 526

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

วิธีสร้างสมดุลชีวิตด้วยการมีวินัยของวัยเก๋า

เทคนิคเลือกม่านป้องกันแสงให้ดี ช่วยตอบโจทย์การนอนผู้สูงวัย!

เรื่องนี้เพื่อวัยเก๋า…ใช้ชีวิตในห้องน้ำอย่างไรให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ!

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.