หายใจ ฝึกหายใจ วิธีหายใจเพื่อสุขภาพ

3 วิธี หายใจ ช่วยบำรุงสุขภาพ

วิธี หายใจ ช่วยบำรุงสุขภาพ

“หายใจ เป็น สำคัญอย่างไร ตามหลักกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา การหายใจ คือ กระบวนการนำอากาศเข้าและออกจากร่างกาย ซึ่งควบคุมโดยศูนย์ควบคุมการหายใจบริเวณก้านสมองในระบบประสาทส่วนกลาง

โดยทั่วไปการหายใจเกิดขึ้นเองจากการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ แต่หากเราเข้าไปกำหนดหรือควบคุมด้วยอำนาจจิตใจ การหายใจจะทำงานด้วยระบบประสาทสั่งการ

การหายใจเข้าและออก ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซภายในปอด ก๊าซออกซิเจนที่เข้าสู่ร่างกายขณะหายใจเข้าจะซึมเข้าสู่กระแสเลือด จากนั้นเม็ดเลือดแดงจึงลำเลียงไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ขณะที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะถูกลำเลียงออกจากเซลล์เวลาหายใจออก เมื่อไรที่กระบวนการหายใจสิ้นสุดลง ย่อมหมายถึง การเสียชีวิต

อวัยวะที่สำคัญต่อการหายใจหลักๆ ประกอบด้วยปอด กระดูกซี่โครง กล้ามเนื้อกระดูก ไหปลาร้า และกล้ามเนื้อ กะบังลมที่กั้นอยู่ระหว่างช่วงอกและช่องท้อง ผู้ใหญ่หายใจ เฉลี่ยนาทีละ 12 – 18 ครั้ง ขณะที่เด็กและวัยรุ่นหายใจเฉลี่ย นาทีละ 20 – 26 ครั้ง

 

ลมหายใจดีวิถีพุทธ

พระพุทธเจ้าทรงสอนการทำสมาธิด้วยการหายใจ เรียกว่า “อานาปานสติ” คือ การตั้งสติกำหนดจิตให้จับอยู่กับลมหายใจขณะหายใจเข้าและออกอย่างสม่ำเสมอ

แพทย์หญิงอมรา มลิลา อดีตกุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาลรามาธิบดี และนักปฏิบัติธรรม ให้ความรู้เรื่องการฝึกอานาปานสติไว้ในหนังสือ อย่างไรคือภาวนา ว่า

“การเฝ้าดูลมหายใจ เป็นวิธีที่สะดวกและนิยมแพร่หลาย เพราะว่าคนเราที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็หายใจด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เมื่อไร ย่อมมีลมหายใจอยู่ด้วยตลอดเวลา ชั่วแต่ว่า แทนการหายใจด้วยความปล่อยปละละเลย หรือหายใจกันด้วยความเป็นอัตโนมัติ เราก็เอาสติไปกำหนดให้รู้อยู่ว่า ขณะนี้เราหายใจเข้า ขณะนี้เราหายใจออก”

ครั้นจิตรวมเป็นสมาธิแนบแน่น คุณหมออธิบายอีกว่า “จะเกิดการหายใจทางผิวหนัง ซึ่งสอดคล้องตามหลักสรีรวิทยา เพราะในภาวะสมาธิ การกรองธาตุของร่างกายลดต่ำยิ่งกว่าอัตรากรองธาตุพื้นฐาน (BMR: Basal metabolic rate หรือค่าพลังงานที่ร่างกายต้องการ) ขณะร่างกายนอนหลับ ทำให้การใช้ออกซิเจนลดน้อยลงมาก

หายใจ ฝึกหายใจ วิธีหายใจเพื่อสุขภาพ

พลังปราณแห่งโยคะ

เป้าหมายสูงสุดของโยคะคือ การพัฒนาศักยภาพความเป็นมนุษย์ทุกมิติเป็นองค์รวม การหายใจจัดเป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้เป้าหมายนั้นบรรลุ

คุณกวี คงภักดีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันโยคะวิชาการ มูลนิธิหมอชาวบ้าน กล่าวว่า

“การฝึกหายใจตามศาสตร์โยคะเรียกว่า ปราณายามะ (Pra-na-ya-ma) ปราณะ หมายถึง ลมหายใจ อายามะ หมายถึง การควบคุม ทั้งนี้ ปราณายามะยังหมายถึงช่องว่างระหว่างลมหายใจเข้าและออกอีกด้วย

“ทั้งหมดนี้จึงเป็นเทคนิคการควบคุมลมหายใจให้ดำเนินช้าลง จนรู้สึกเหมือนไม่หายใจ ระหว่างการหายใจช้าๆ ร่างกายจะดึงพลังปราณ ซึ่งเป็นพลังธรรมชาติที่มีอยู่ในทุกอย่างรอบตัวเข้ามาสะสมในร่างกาย จึงช่วยให้แข็งแรง อายุยืนยาว ในขณะที่หากสามารถหยุดช่องว่างระหว่างลมหายใจเข้าได้นานเท่าไร จิตจะยิ่งนิ่งและเกิดสมาธิมากขึ้น นำไปสู่การหลุดพ้นในที่สุด”

นายแพทย์แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ผสมผสาน ได้โยงให้เห็นความสัมพันธ์ของการหายใจแบบโยคะกับร่างกายไว้ในหนังสือ โยคะเพื่อพัฒนาร่างกายและจิตใจ ว่า

ลมหายใจที่ผ่านทางรูจมูกขวา (ช่องอาทิตย์) เรียกว่าพลังร้อน ทำให้เกิดความร้อนขึ้นในร่างกาย เป็นกำลังงานเผาผลาญ เพื่อให้อาหารกลายเป็นพลังและเนื้อหนัง ช่วยให้เลือดไหลเวียน และก่อให้เกิดแรงกระตุ้นจากศูนย์กลางประสาทออกไปสู่อวัยวะต่างๆ ให้เกิดการทำงานเต็มที่

ส่วนลมหายใจที่ผ่านทางรูจมูกซ้าย (ช่องจันทร์) เป็นพลังเย็น เป็นกำลังงานสร้างสรรค์พลังและเนื้อหนังขึ้น หลังจากอาหารถูกเผาผลาญด้วยความร้อนแล้วขับเลือดที่ร่างกายใช้แล้วกลับสู่ปอดเพื่อฟอกใหม่ และรับความรู้สึกจากปลายประสาทกลับเข้าสู่ศูนย์กลางของประสาท ทั้งยังยับยั้งไม่ให้อวัยวะต่างๆ ทำงานเร็วเกินไป

เมื่อฝึกปราณายามะควบคุมลมหายใจเข้าและออก ทางรูจมูกทั้งสองข้างได้สมดุล พลังธรรมชาติจะไหลเข้าไปหล่อเลี้ยงทุกอวัยวะสำคัญทั่วร่างกาย เมื่อลมหายใจสงบนิ่ง ใจก็เกิดความสงบนิ่งจนสามารถนำจิตที่เป็นสมาธิบรรลุขั้นสูง

 

หายใจเดินเลือดลมด้วยศาสตร์จีน

ตำราแพทย์แผนจีน ระบุว่า คนเราหายใจตั้งแต่อยู่ในท้องเพื่อรับพลังชี่ (พลังชีวิต) จากแม่ผ่านทางสะดือ เมื่อคลอดออกมา ชี่นั้นจะสะสมเป็นพลังงานสำรองอยู่ที่ช่องท้องน้อยและใต้กะบังลม แต่ชี่ที่จะช่วยให้เราดำเนินชีวิตอยู่ได้โดยหลักล้วนมาจากการหายใจเข้าปอดเป็นสำคัญ

“หากอยากมีอายุยืนยาว แพทย์แผนจีนเชื่อว่า ควรหายใจให้ได้เฉลี่ย 4 – 5 ครั้งต่อนาที” แพทย์หญิงศรันยา กตัญญูวงศ์ หรือ คุณหมอส้ม แพทย์แผนจีน เกริ่นให้ฟังก่อนเล่ารายละเอียดว่า

“ร่างกายคนเรามีเส้นลมปราณมากมาย ภายในเส้นลมปราณยังประกอบด้วยเลือดซึ่งเป็นพลังหยิน และลมซึ่งเป็นพลังหยาง หากทั้งสองอยู่อย่างสมดุลและไหลเวียนดี จะก่อให้เกิดพลังชี่ที่สมบูรณ์ เราจึงไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ฉะนั้น วิธีที่จะช่วยรักษาพลังชี่ให้สมดุลจึงนำการหายใจมาใช้

“เพราะเมื่อหายใจเข้าและออกลึกๆ ยาวๆ เซลล์ในร่างกายจะได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ ลม (อากาศ) จะคอยดันเลือดให้ไหลเวียนสะดวก ไม่คั่งค้างสะสมอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งจนเส้นลมปราณติดขัดเกิดโรคต่างๆ ซึ่งช่วยบรรเทาโรคในผู้ป่วยและป้องกันไม่ให้คนที่ยังไม่ป่วยอ่อนแอ”

หายใจสลายท็อกซินสไตล์ชีวจิต

ท็อกซิน (toxin) ได้ชื่อว่าเป็นผู้ร้ายคอยสร้างโรคภัยไข้เจ็บให้แก่ร่างกาย ยิ่งใช้ชีวิตอย่างไม่ระมัดระวังเท่าไร ยิ่งเสี่ยงมีท็อกซินในตัวมาก หลายคนจึงมีอาการป่วยเรื้อรัง

เพื่อขจัดท็อกซินให้หมดไป อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต แนะนำว่า ทำได้ด้วยการดีท็อกซ์ ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ รวมถึงการฝึกหายใจร่วมกับการทำสมาธิ โดยอธิบายว่า

“การทำสมาธิเพื่อสร้างความสงบของใจและทำให้ร่างกายผ่อนคลายหรือรีแล็กซ์ (relax) ช่วยให้

เกือบทุกระบบของร่างกายดีขึ้น

“การหายใจที่ถูกต้องช่วยให้สมาธิแน่วแน่มั่นคงขึ้น ทำให้จิตใจสงบ ถ้าสามารถควบคุมสมาธิจนกระทั่งเป็นสมาธิที่ลึกและนิ่งจริงๆ จะช่วยให้โกร๊ธฮอร์โมน (growth hormone) หลั่งออกมาอีกเช่นกัน ทำให้ได้ยาวิเศษและเท่ากับได้ประโยชน์สองชั้น

“การทำสมาธิแบบนี้จะช่วยบังคับให้การทำงานภายในของร่างกายดีขึ้นอย่างมหัศจรรย์ด้วย เช่น เราสามารถจะบังคับให้การย่อยอาหารดีขึ้น และระบบบางอย่าง เช่น ระบบหายใจก็ดีขึ้นเช่นเดียวกัน”

ข้อมูลจาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 331


บทความน่าสนใจอื่นๆ

นวดกดจุด แบบชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.