สิทธิโชค ศรีโช เกษตรอินทรีย์ ผักสวนครัว ออร์แกนิก

สิทธิโชค ศรีโช วิหคคืนรังอีสาน กับสวนครัว เกษตรอินทรีย์ อิ่มท้อง อิ่มใจ สู้ภัย โควิด

สิทธิโชค ศรีโช วิหคคืนรังอีสาน กับสวนครัว เกษตรอินทรีย์ อิ่มท้อง อิ่มใจ สู้ภัย โควิด

ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ไวรัส โควิด ระบาดไปทั่วโลก แทบทุกประเทศจึงออกนโยบายเพื่อควบคุมการระบาด คือ เว้นระยะห่าง ให้ประชาชนอยู่บ้าน งดการเดินทางโดยไม่จำเป็น เมื่อรูปแบบชีวิตเปลี่ยนแปลงไป การปรับตัวให้อยู่รอดโดยมีสุขภาพกายใจสมบูรณ์แข็งแรงจึงเป็นสิ่งจำเป็น ชีวจิต ได้ไปพูดคุยกับ คุณเกม สิทธิโชค ศรีโช นักเขียนบทความอาหาร ที่กลับไปปรับปรุงพื้นที่ๆ เล็กๆ ในอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เพื่อให้สวนครัว เกษตรอินทรีย์ เล็กๆ หลังบ้านกลายเป็นคลังอาหารและยาสำหรับตัวเขาและคุณพ่อ ตอบรับกับภาวะโรคระบาดที่เข้ามาในปีนี้ได้พอดิบพอดี

วิถีชีวิตอีสาน ต้นทุนในวัยเยาว์

คุณเกม เล่าว่าตนเองยังประทับใจในวิถีชีวิตแบบชาวอีสานและจำได้อยู่เสมอ นับเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เขาได้รู้จักกับการนำพรรณไม้รอบตัวมาใช้ประโยชน์สะสมเป็นต้นทุนชีวิตสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ตอนที่ยังเป็นเด็กเล็กๆ แม่และพ่อยังอยู่ที่บ้านของยาย ครอบครัวคนสมัยก่อนอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ญาติๆ ก็จะฝากลูกหลานมาอยู่ด้วย พี่ๆ เหล่านั้นก็จะเป็นพี่เลี้ยงของผม พออยู่กันหลายคน ทำอาหารกันทั้งวัน จำได้ว่าทุกคนจะไม่เคยว่างเลย ต้องมีงานในมือตลอด ปอกหอมปอกกระเทียมอะไรก็ว่าไป

ในสวนหลังบ้าน พ่อเป็นคนเอามะม่วงกะล่อน ชะอม ตะขบ มะนาวแป้น มะนาวศรี ไปปลูกไว้ นอกนั้นก็มีผักสวนครัว เช่น ตะไคร้ ใบมะกรูด ใบแมงลัก มะละกอ พริก มะเขือเทศ มีพอได้เก็บกิน หลังบ้านเป็นทุ่งนา เราเป็นเด็กก็ออกไปวิ่งเล่นในทุ่งนา

พอถึงหน้าฝนพี่เลี้ยงซึ่งก็เป็นญาติๆ ของเราก็จะพาออกไปเก็บเห็ดแล้วสอนว่าเห็ดแบบไหนกินได้ แบบไหนกินไม่ได้ “หรือตอนที่ไปเที่ยวเล่นในป่ากับพี่ญาติที่เป็นพี่เลี้ยง ถ้าเราโดนหนามเกี่ยวเป็นแผล พี่เลี้ยงก็บอกให้เอาใบสาบเสือซึ่งเป็นพืชที่ขึ้นในป่ามาทาแผล”

ความรู้จากสวนหลังบ้าน

ครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยหล่อหลอมให้คุณเกมมีประสบการณ์ในการทำสวนและรู้จักพรรณไม้ต่างๆ ผ่านกิจวัตรประจำวัน

พอลูกๆ เริ่มโต พ่อกับแม่ก็ย้ายออกมาสร้างบ้านของตัวเอง โดยพ่อแบ่งบริเวณบ้านเป็น 2 ส่วน หนึ่งทำบ้าน อีกส่วนทำสวนครัว พ่อทำแปลงปลูกผัก เรายังเด็กก็ไปช่วยเขาหยอดเมล็ดพันธุ์ผักกาด เก็บข้าวโพด พริก มะละกอ ใบย่านาง กะเพรา ตะไคร้ มาให้แม่น้ำกับข้าวได้

แม่จะเป็นคนสอนให้ลูกๆ ว่าไปเก็บผักแล้วต้องเลือกอย่างไรและเป็นคนสอนให้ทำกับข้าว โดยให้ลูกๆ เป็นลูกมือช่วยงานครัวเล็กๆ น้อยๆ ส่วนพ่อเป็นคนปลูกผักสวนครัวและสอนให้ลูกๆ รู้จักทำสวนและดูแลต้นไม้”

คุณเกม อธิบายว่า คนสมัยก่อนเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็ดูแลแก้ไขกันเองได้ เช่น ตอนที่พี่สาวเป็นเหา แม่ก็สั่งให้ไปเก็บใบน้อยหน่ามาขยำๆ แล้วหมักผมไว้ให้เหาตาย ตอนเป็นเด็กเวลาลูกๆ เป็นหวัด เจ็บคอและมีเสมหะ พ่อก็จะฝานมะนาวทั้งเปลือก มาให้จิ้มเกลือ แล้วบีบน้ำมะนาวกินกัน

ทำงานโดยนำความรู้ในวัยเด็กมาต่อยอด

เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน คุณเกม เติบโตในสายงานบทความอาหารมาเป็นลำดับ จากที่เคยทำงานในกรุงเทพนานนับสิบปี ปัจจุบัน เขาอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดในจังหวัดขอนแก่น โดยทำอาชีพเป็นนักเขียนบทความอาหารอิสระ

แต่ก่อนก็ใช้ชีวิตเหมือนคนอื่นๆ เป็นคนต่างจังหวัดแต่เพื่อโอกาสในการทำงาน ต้องเข้าไปทำงานในกรุงเทพ นับเป็นช่วงเวลาที่ดีเพราะได้สัมภาษณ์คนเก่งๆ ในแวดวงอาหารมากมายและเป็นโอกาสให้ได้สัมภาษณ์เกษตรกรอินทรีย์หลายท่าน

ความรู้ที่ได้จากปราชญ์เกษตรเหล่านั้นเตือนใจให้ได้คิดว่าการทำเกษตรอินทรีย์คือหนทางพึ่งตนเองในระยะยาว และจุดประกายความคิดการกลับไปทำเกษตรที่บ้านเกิดเพื่อจะได้มีความมั่นคงทางอาหาร อย่างน้อยๆ การมีข้าว มีผักผลไม้กินเอง ตัวเราก็ดูแลตัวเองและพ่อได้

ต่อมา ผมได้ขยายความสนใจทั้งเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ และเรื่องสมุนไพรไทย เมื่อลาออกจากงานประจำ ก็กลับมาเริ่มต้นทำนาทำสวนเพื่อสร้างคลังอาหารเล็กๆ ของตัวเอง

คุณเกม อธิบายว่า ความรู้ด้านการทำ เกษตรอินทรีย์ นี้นับเป็นการเพิ่มความรู้และทักษะต่อยอดจากการช่วยพ่อทำสวนเล็กๆ น้อยๆ ในวัยเด็ก เมื่อกลับบ้านเกิดจึงลงมือทำนาในพื้นที่ 1 ไร่ แต่จริงๆ จากพื้นที่ทั้งหมด 3 ไร่ แบ่งบริหารจัดการพื้นที่ตามศาสตร์ที่ได้เรียนรู้มา เป็น 30-30-30-10 คือ นาข้าวร้อยละ 30 บ่อน้ำสำหรับใช้และทำประมงร้อยละ 30 พื้นที่เพาปลูกพืชอื่นๆ อีกร้อยละ 30 และพื้นที่สำหรับสร้างที่อยู่อาศัยและปศุสัตว์ร้อยละ 10%

ส่วนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสมุนไพรที่ได้เรียนมานั้น คุณเกม อธิบายถึงการนำมาประยุกต์ใช้ว่า ช่วงหน้าร้อนในปีที่ผ่านๆ มาจะเลือกกินบัวบกกันเป็นหลัก ทั้งผักแนมน้ำพริก หรือ คั้นน้ำดื่ม เพราะบัวบกมีฤทธิ์เย็น แต่พอปีนี้มีสถานการณ์โรคโควิดระบาด จึงปรับให้อาหารมีรสชาติเผ็ดร้อนจากสมุนไพรมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การทำอาหารที่มีรสเผ็ดร้อนจากพริกไทย ขิง ข่า ตะไคร้ สมุนไพรไทยๆ ของเรา เพื่ออาศัยสารยาจากสมุนไพรต่างๆเหล่านี้มาช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

บทพิสูจน์ในยุคโรคระบาด

จากสถานการณ์โรคโควิดระบาด เมื่อทุกคนต้องอยู่กับบ้านเพื่อลดความเสี่ยงในการรับและแพร่กระจายเชื้อ หลายๆ คนเกิดความตระหนกและคิดว่าจำเป็นต้องกักตุนอาหาร ภาพที่ปรากฏในสื่อต่างๆ คือ รถติดหน้าห้างสรรพสินค้าเพราะมีคนต้องการเข้าไปซื้ออาหารเป็นจำนวนมาก

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยิ่งตอกย้ำให้ คุณเกม รู้สึกว่า การสร้างคลังอาหารของตนเองเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว

ปีนี้ เรามีข้าวเหนียวดำกัญญาเก็บไว้กิน ข้าวชนิดนี้เป็นข้าวสีม่วงดำมีสารแอนโทไซยานิน มีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าวิตามินซีและอีถึง 2 เท่า ลดอาการอักเสบ ป้องกันมะเร็งหลายชนิด และที่สำคัญยังต้านไวรัสได้อีกด้วย

ในแปลงผักก็มีผักแพวซึ่งมีแคลเซียม ธาตุเหล็ก ใยอาหาร และวิตามินซีสูง มีสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ลดการอักเสบ เสริมสร้างภูมิต้านทานโรคในร่างกาย เอามากินช่วยการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันทำงานและช่วยลดความเสี่ยงโรคไวรัสโควิดได้เช่นกัน”

ในยุคโรคระบาดเช่นนี้ การมีอาหารเอาไว้กินเองโดยเป็นอาหารที่สด สะอาดปลอดภัย และมีสรรพคุณทางยา ช่วยให้ภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีนั้นนับเป็นลาภอันประเสริฐ

ชีวจิต หวังว่าเรื่องราวของคุณเกมจะจุดประกายให้คุณได้นำแนวทางการพึ่งพาตนเองด้วย เกษตรอินทรีย์ เช่นนี้นำไปปรับใช้ดูแลสุขภาพตามความเหมาะสมกันนะคะ

ขอขอบคุณ

คุณสิทธิโชค ศรีโช สวนเกษตรอินทรีย์ Game Garden อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น

ติดตามวิถีชีวิตในสวนเกษตร Game Garden ได้ที่ https://www.facebook.com/jaantorn


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

5 ประสบการณ์จริง ของคนที่รอดตายจาก เบาหวาน

ประสบการณ์สุขภาพ : ชีวิตคู่พังเพราะเป็นโรคมะเร็ง

ประสบการณ์สุขภาพ : เครียดจัด รับยาฮอร์โมน มะเร็งเต้านมถามหา

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.