ใส่ใจผู้สูงอายุ

สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเมื่อมีผู้สูงอายุต้องดูแล

สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเมื่อต้องดูแล ผู้สูงอายุ      

เมื่อถึงเวลาที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ในวัยชรา สิ่งที่ทุกคนเป็นกังวลมากที่สุดคือ ไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน และ ทำแบบไหนถึงจะดี ซึ่งการดูแลผู้สูงอายุมีเรื่องให้ทำมากมายตั้งแต่ตื่นจนเข้านอนในทุกวัน แม้ทุกอย่างจะเป็นเรื่องใหม่ แต่ลูกหลานซึ่งกำลังทำหน้าที่ผู้ดูแลก็ไม่จำเป็นต้องแบกภาระไว้คนเดียว ขอแค่เริ่มต้นจากสิ่งที่ตัวเองทำได้ก่อน จะได้ทำด้วยความสนุกและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

นั่นเพราะ “ผู้สูงอายุ”  เป็นวัยที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลง เสื่อมโทรมถดถอยในด้านต่างๆ มากมาย ทั้งร่างกายและจิตใจ อาจมีโรคเรื้อรังที่ต้องการการดูแลและรักษา เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกระดูกพรุน โรคเกาต์ โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคจอประสาทตา เป็นต้น

รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งผู้สูงอายุบางรายอาจไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ และอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ดังนั้น จุดประสงค์หลักของ การดูแลผู้สูงอายุ ก็คือการทำให้ผู้สูงอายุดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข มีอิสระ และมีคุณภาพ สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยพึ่งพาผู้อื่นน้อยที่สุด ถึงแม้ร่างกายจะเสื่อมถอยหรือมีโรคประจำตัวอยู่ก็ตาม

ลูกหลานควรเอาใจใส่ดูแล

โดยหน้าที่ของผู้ดูแลคือทำให้ ผู้สูงอายุ เกิดแรงจูงใจในการดูแลตนเอง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปได้ คุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้สูงอายุนั้นประกอบไปด้วย การมีสุขภาพดี หมายถึง การมีสุขภาพกายที่ดี สุขภาพจิตที่ดี สุขภาพทางสังคมที่ดี และสุขภาพทางปัญญาที่ดี การทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม โดยพึ่งตนเองให้มากที่สุด การมีความมั่นคงในชีวิต ได้แก่ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ความมั่นคงในครอบครัว ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

จะรับมือดูแลผู้สูงอายุได้อย่างไร

ท่านทราบหรือไม่ว่า สิ่งที่ผู้สูงอายุทุกท่านต้องการมีอยู่ 2 อย่างง่าย ๆ คือ สุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ สามารถทำอะไรก็ได้ตามที่ตัวเองต้องการโดยที่ไม่เป็นภาระกับผู้อื่น และสอง คือ ด้านจิตใจ ซึ่งครอบครัว สังคม ลูกหลานมักจะมองข้ามไป  ในวัยนี้ท่านต้องการให้ลูกหลานและสมาชิกในบ้านมาใกล้ชิดมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ

พื้นฐานการดูแลผู้สูงอายุเบื้องต้น ต้องมีความใส่ใจในการดูแลสุขภาพ และจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ปัญหาที่มักพบบ่อยในการดูแลผู้สูงอายุ คือ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักไม่ยอมให้สมาชิกในบ้านดูแลตัวเอง เพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระให้กับครอบครัว ผู้สูงอายุบางคนมีความเป็นตัวของตัวเองสูง และจะรับไม่ได้กังวลว่าตัวเองจะเป็นคนอ่อนแอ เป็นภาระกับลูกหลาน และมักจะไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมต้องได้รับการดูแล ดังนั้น สมาชิกในบ้านคววรทำความเข้าใจ และเรียนรู้วิธีการรับมือที่ถูกต้อง

ดูแลผู้สูงอายุ

รวมถึงไม่ควรรบเร้าให้ผู้สูงอายุต้องรับฟังเหตุผลในขณะนั้น ควรหาโอกาสดีๆ เข้าไปอธิบายอีกครั้งงภายหลังแททนดีกว่า และควรหาเวลาใกล้ชิด คุยเรื่องสัพเพเหระกับท่าน ให้ท่านได้ผ่อนคลาย เปิดใจคุยจะทำให้เข้าใจกันมากขึ้น เช่น ถ้าหากท่านชอบคุยเรื่องงหุ้น ก็คุยเรื่องหุ้น ถ้าชอบคุยเรื่องต้นไม้ก็คุยเรื่องเกี่ยวกับต้นไม้ ทำให้ท่านเห็นว่าคุยในสิ่งที่ท่านสนใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ลูกหลานคนที่อยู่ใกล้ชิดจะเข้าใจมากที่สุด

พิจารณาว่าผู้สูงอายุว่าควรได้รับการดูแลอะไรบ้าง ที่เหมาะกับท่าน เช่น ผู้สูงอายุบางท่านเป็นคนป่วยนอนติดเตียง อาจจะต้องพิจารณาในเรื่องของคนดูแล พยาบาลส่วนตัว เป็นต้น นอกจากนี้ ต้องรู้จักวิธีเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุ ได้ทำการตัดสินใจด้วยตัวเอง หรือมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การดูแลผู้สูงอายุประสบความสำเร็จ คือทั้งสองฝ่ายจะต้องมีการปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผู้ดูแลไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน ญาติสนิท มิตรสหาย ควรพยายามเข้าหาผู้สูงอายุให้มากขึ้น หาโอกาสทำกิจกรรมร่วมกับท่าน ต้องเข้าใจธรรมชาติของ ผู้สูงวัย ที่มักจะชอบเล่าเรื่องราวเก่าๆ ชอบน้อยใจลูกหลาน บางคนอาจมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น เอาแต่ใจตนเอง ทำตัวเหมือนเด็กหรือวัยรุ่น ซึ่งนิสัยเหล่านี้อาจทำให้หลายคนหนักใจและเกิดความเบื่อหน่ายได้

ประคองคนแก่

 

ดังนั้น ลูกหลานควรเอาใจใส่ดูแลด้วยความรู้ ความเข้าใจ และความเห็นอกเห็นใจ เพื่อตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุได้อย่างแท้จริง สำหรับผู้สูงอายุเองต้องเปิดใจ ไม่ยึดติดในตัวตน ไม่เก็บตัว หรือแยกตัวออกจากสังคม รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นให้มากขึ้น และมีความยืดหยุ่นในเรื่องต่างๆ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

สำหรับความรู้และคำแนะนำในข้างต้น หวังว่าจะเป็นคู่มือการดูแลผู้สูงอายุด้านร่างกายและจิตใจที่สามารถนำไปปรับใช้กับคุณพ่อคุณแม่ คุณตาคุณยายที่สูงอายุ เพื่อความสัมพันธ์ในครอบครัวอันดี และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีสมวัยของผู้สูงอายุค่ะ

ขอบคุณที่มา: ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการนอนหลับของตายาย

เทคนิคการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองที่ควรทำ!

10 โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ลูกหลานควรดูแลอย่างใกล้ชิด

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.