การใช้ยาของผู้สูงอายุ

ผู้ดูแลควรต้องรู้เกี่ยวกับปัญหาการใช้ยาในผู้สูงอายุ!

ทั้งนี้ หากผลการรักษาอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ผู้สูงอายุสามารถปรับขนาดการใช้ยาเองได้หรือไม่ การปรับเพิ่มขนาดยาเองอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงจากยา ส่วนการปรับลดขนาดยาเองอาจลดประสิทธิภาพของยาจนไม่ได้ผลการรักษา เช่น ยาลดความดันโลหิตที่รับประทานต่อเนื่องจนสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้ หากหยุดยาเองทันทีอาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นมากจนเกิดอันตรายได้ ดังนั้นจึงไม่ควรปรับขนาดยาหรือหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์

แล้วการที่ผู้สูงอายุต้องรับประทานยาเป็นระยะเวลานานส่งผลต่อการทำงานของตับและไตหรือไม่ ตับและไตเป็นอวัยวะที่สำคัญในการขจัดยาออกจากร่างกาย ในผู้สูงอายุประสิทธิภาพของการขจัดยาจะลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับวัยหนุ่มสาว ขนาดยาที่เท่ากันอาจมีฤทธิ์ตกค้างในร่างกายผู้สูงอายุได้ โดยเฉพาะถ้ายานั้นมีพิษต่อตับหรือไตก็จะยิ่งทำให้การทำงานของตับหรือไตเสื่อมสภาพลง การใช้ยาในผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ประเมินติดตามค่าการทำงานของตับและไต และคอยปรับขนาดยาที่เหมาะสมให้

คนแก่กินยา

อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุมีสภาพร่างกายที่เสื่อมลงทุกระบบ การใช้ยาจึงมีความเสี่ยงกว่าวัยอื่น ยกตัวอย่างเช่น ผู้สูงอายุมักเกิดอาการหน้ามืดเวลาเปลี่ยนท่าลุกขึ้นยืนจากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ เมื่อรับประทานยาลดความดันโลหิตอาจยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเป็นลม ล้ม หรือเกิดอุบัติเหตุได้ ผู้สูงอายุที่มีอาการปวดเข่าหรือปวดข้อที่ต้องรับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ซึ่งมีฤทธิ์ระคายเคืองทางเดินอาหาร การรับรู้ทางกายที่ลดลงอาจทำให้ไม่รู้สึกถึงอาการเจ็บปวด กว่าจะตรวจพบสาเหตุก็อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ ผู้ดูแลและตัวผู้สูงอายุเองควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เช่น หากพบปัสสาวะหรืออุจจาระมีสีคล้ำซึ่งเป็นสัญญาณของอาการเลือดออกในทางเดินอาหาร ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

สำหรับยากลุ่มที่ผู้สูงอายุควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ยานอนหลับ ยาคลายเครียด ยาแก้แพ้ และยาแก้ปวด ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น เวียนศีรษะ ง่วงซึม สับสน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้มได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) อาจทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงขึ้นหรือไตวายได้ ดังนั้นจึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้สูงอายุที่มีประวัติความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือโรคไต อย่างไรก็ดีผู้สูงอายุไม่ควรซื้อยารับประทานเองและควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

ยา

ยาบางชนิดเมื่อใช้ร่วมกันอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยารุนแรงขึ้น ตัวอย่างเช่น ยาแก้ปวดชนิดที่ทำให้มีอาการง่วงซึมเมื่อรับประทานร่วมกับยานอนหลับอาจกดสมองจนหลับลึกเกิดอันตรายได้ ยาบางชนิดเมื่อใช้ร่วมกันอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง เช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิด เมื่อรับประทานพร้อมนม แคลเซียม หรือยาลดกรด ยาจะจับกับแร่ธาตุเกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อนที่ไม่ดูดซึม จึงต้องรับประทานห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

ดังนั้น เมื่อผู้สูงอายุมาโรงพยาบาลจึงควรจดจำชื่อยาที่รับประทานหรือนำยาที่ใช้อยู่ทั้งหมดมาให้แพทย์หรือเภสัชกรดู เพื่อจะได้สามารถปรับเปลี่ยนชนิดของยาหรือเวลาที่รับประทานยา เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหายาตีกันที่อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ

ข้อมูลประกอบจาก: เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ  คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

วิธีสร้างสมดุลชีวิตด้วยการมีวินัยของวัยเก๋า

HOW TO SUPPORT รับมืออย่างไรเมื่อคู่ชีวิตป่วยหนัก

การปฐมพยาบาลผู้สูงอายุอย่างถูกวิธี ทำให้โอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.