ยาแก้ปวด อาการปวด

ยาแก้ปวด กับการใช้พร่ำเพรื่อ อันตรายกว่าที่คิด

ยาแก้ปวด ควรกินอย่างไร ถึงจะปลอดภัย

ยาแก้ปวด อาจจัดได้ว่าเป็นหนึ่งในยาใกล้ตัวที่หลายคนมักหาซื้อมารับประทานเมื่อมีอาการปวดต่างๆ ด้วยเพราะเป็นยาที่เข้าถึงง่าย จึงมีการใช้ยาโดยทั่วไป และอาจมากเกินความจำเป็นที่จะส่งผลต่อสุขภาพได้ วันนี้เรานำคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญมาฝากกันค่ะ

เมื่ออาการปวดมาเยือน

ฉันไปหาหมอ ด้วยอาการปวดหลังเฉียบพลัน หมอบอกว่าเกิดจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว และแนะนำให้ฉันลดการใช้งานโดยการหลีกเลี่ยงท่าก้ม การบิดตัวมากเกินไป การยกของหนัก เวลานั่งเก้าอี้ให้เลือกที่มีพนักพิง การใช้ยานวดหรือประคบอุ่นก็จะทำให้กล้ามเนื้อคลายเร็วขึ้น

แต่…ฉันก็คะยั้นคะยอให้หมอสั่งยากินให้ฉัน สุดท้ายหมอก็สั่งยากินให้และย้ำว่ากินเฉพาะเวลาที่มีอาการปวดเท่านั้น 2 วันผ่านไปอาการไม่ดีขึ้น ฉันตัดสินใจไปร้านของชำและได้ยาชุดมาเพื่อบรรเทาอาการปวดหลัง

ฉันกินยาจากทั้งโรงพยาบาลและจากที่ซื้อมาเอง กินไปประมาณ 2 สัปดาห์ สิ่งที่ฉันคาดไม่ถึงก็เกิดขึ้น…ฉันปวดท้องมาก อาเจียนมีเลือดปน ที่บ้านรีบเรียกรถพยาบาลเพื่อมาส่งฉันให้ถึงมือหมอให้เร็วที่สุด เหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้า…ไม่ใช้ยาหลายชนิดในเวลาเดียวกันโดยแพทย์ไม่ได้สั่ง อย่าลืมนะคะ…ควรใช้ยาตามความจำเป็น จากคำแนะนำจากแพทย์ผู้สั่งใช้ยา หรือ เภสัชกร เท่านั้น

ความจริงที่ควรรู้ไว้

การกินยาแก้ปวดควรกินในระยะสั้นเท่าที่จำเป็น และไม่ควรซื้อยาชุดแก้ปวดกินร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ เพื่อลดผลข้างเคียงจากยา อีกทั้งควรสังเกตผลข้างเคียงของยา ถ้าพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น การเกิดแผลหรือเลือดออกในทางเดินอาหาร (ปวดท้อง แสบท้อง อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ) หรือไตผิดปกติ บวม ปัสสาวะออกน้อย ควรปรึกษาแพทย์ทันที

ผู้ป่วยแต่ละรายมีการดำเนินโรคแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ภาวะน้ำหนักเกิน ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อและพันธุกรรม รวมถึงการใช้งานของกล้ามเนื้อด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลและคำแนะนำจาก : ภญ.นันทพร เล็กพิทยา หัวหน้างานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มา : นิตยสาร @Rama ฉบับที่ 25 คอลัมน์ ฉลาดใช้ยา https://issuu.com/atrama/docs/atramaissue25


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ต้องอ่าน! ยาแก้ปวดไมเกรน Ergotamine ใช้อย่างไรถึงจะปลอดภัย

ยาแก้ปวด และยาคลายกล้ามเนื้อ ใช้อย่างไรให้ถูกต้อง

แพทย์เตือนฉีดยาแก้ปวด “ไดโคลฟีเเนค” ทำเส้นประสาทบาดเจ็บ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.