อาหารดีต่อร่างกาย

10 DIET TRENDS 2020 กินอาหารตามเทรนด์จากกูรูตัวจริง

10 DIET TRENDS 2020 กินอาหารตามเทรนด์จากกูรูตัวจริง ปลอดภัย ไม่ป่วย ไกลมะเร็ง เบาหวาน ความดัน โรคอ้วน 

เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายท่านตั้งเป้าเปลี่ยนแปลงสุขภาพอย่างขันแข็ง วิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนวิธีกิน ซึ่งมีหลายรูปแบบ หลายชนิดอาหารวันนี้เราจึงรวบรวมเทรนด์อาหารสุขภาพที่มาแรงในปี 2020 และเทรนด์อาหารยอดฮิตไม่เคยตกกระแส โดยได้กูรูตัวจริงมาแนะนำที่มาของอาหารแต่ละประเภท รูปแบบกินที่ถูกต้องเหมาะสม ตลอดจนข้อควรระวังที่ต้องรู้ ที่สำคัญคือประสบการณ์กินจริงใช้จริงของกูรูแต่ละท่านมาแนะนำด้วย

SPORT NUTRITION FOODS โภชนาการอาหารเพื่อการออกกำลังกาย    

เราเริ่มต้นด้วยเทรนด์อาหารหรือ โภชนาการเพื่อการออกกำลังกาย(Sport Nutrition Foods) ซึ่งเป็นเทรนด์อาหารมาแรงในปี 2020 เนื่องจากทุกวันนี้คนนิยมออกกำลังกายกันมากขึ้น นายแพทย์สมบูรณ์ รุ่งพรชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมนบำบัดและโภชนาการสำหรับนักกีฬา จะมาอธิบายเทรนด์อาหารเพื่อการออกกำลังกายให้เราฟังกัน

ยุคนี้ต้องยอมรับว่าเทรนด์การออกกำลังกายนั้นมาแรง เราเห็นผู้คนออกมาออกกำลังกายกันมากขึ้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้การออกกำลังกายประสบความสำเร็จคือการกินอาหารให้ถูกต้องเหมาะสมต้องวางแผนคำนวณสารอาหารที่เหมาะสมสำหรับการออกกำลังกายแต่ละประเภทซึ่งจะทำให้การออกกำลังกายนั้นมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้น Sport Nutrition หรือโภชนาการอาหารเพื่อการออกกำลังกายจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญมาก

หัวใจสำคัญของ Sport Nutrition นั้นคือ การกินอาหารให้เพียงพอทั้งสารอาหารและปริมาณ เพราะแบบแผนการกินและอาหารแต่ละชนิดก็ไม่ได้เหมาะกับทุกคน คนที่เล่นกีฬาจึงต้องให้ความสำคัญเรื่องการวางแผนด้านโภชนาการให้ครบถ้วน

CHEEWAJIT DIET อาหารชีวจิต…ช่วยชีวิตยืนยาว   

ชีวจิตเป็นอาหารสุขภาพที่ยืนหนึ่งในฐานะตัวช่วยเสริมภูมิชีวิตแก่คนไทยมาเป็นเวลานาน โดย อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต คิดค้นสูตรอาหารชีวจิตให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตคนไทย กินอร่อยปรุงง่าย

หลักการของชีวจิตที่อาจารย์สาทิสแนะนำไว้กว้าง ๆ มี 3 อย่าง คือ 1.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน 2.ออกกำลังกาย 3.พัฒนาสุขภาพจิตซึ่งการปรับพฤติกรรมการกินเป็นสิ่งสำคัญ อาจารย์คิดสูตรอาหารชีวจิตเพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน ภูมิชีวิต กระตุ้นการสร้างโกร๊ธฮอร์โมน สองคือลดอนุมูลอิสระ นอกจากนี้อาจารย์สาทิสยังแบ่งอาหารชีวจิตออกเป็น 2 สูตร สูตร 1 สำหรับคนทั่วไป และสูตร 2 สำหรับลดน้ำหนัก ผู้ป่วยเบาหวาน

อาหารสุขภาพ

สูตร 1 สำหรับคนทั่วไป

  1. อาหารประเภทแป้งไม่ขัดขาว 50 เปอร์เซ็นต์ เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ถ้าเป็นข้าวโพดจะเป็นข้าวโพดทั้งเมล็ด ขนมปังโฮลวีต แป้งกลุ่มคอมเพล็กซ์คาร์โบไฮเดรต เช่น มันฝรั่ง เผือกฟักทอง
  2. ผักสดหนึ่งในสี่หรือ 25 เปอร์เซ็นต์ ใช้ทั้งผักสดและผักสุกอย่างละครึ่ง
  3. ถั่วต่างๆ 15 เปอร์เซ็นต์ ถั่วจัดอยู่ในอาหารประเภทโปรตีน นอกจากนี้จะใช้โปรตีนจากเนื้อสัตว์จำพวกปลา ไข่ อาหารทะเล สัปดาห์ละ 1-2 มื้อ
  4. เบ็ดเตล็ด 10 เปอร์เซ็นต์ เช่น แกงจืด แกงเลียง ซุปมิโซะ ถั่วอบ เมล็ดฟักทอง อัลมอนด์ผลไม้สดไม่หวาน

สูตร 2 สำหรับลดน้ำหนักหรือผู้ป่วยเบาหวาน 

  1. อาหารประเภทแป้งไม่ขัดขาว 30 เปอร์เซ็นต์ เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ถ้าเป็นข้าวโพดจะเป็นข้าวโพดทั้งเมล็ด ขนมปังโฮลวีต แป้งกลุ่มคอมเพล็กซ์คาร์โบไฮเดรต เช่น มันฝรั่ง เผือกฟักทอง
  2. ผักสด 35 เปอร์เซ็นต์ ใช้ทั้งผักสดและผักสุกอย่างละครึ่ง
  3. ถั่วต่างๆ 25 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้จะใช้โปรตีนจากเนื้อสัตว์จำพวกปลา ไข่ อาหารทะเล สัปดาห์ละ 1-2 มื้อ
  4. เบ็ดเตล็ด 10 เปอร์เซ็นต์ เช่น แกงจืด แกงเลียง ซุปมิโซะ ถั่วอบ เมล็ดฟักทอง อัลมอนด์ ผลไม้สดไม่หวาน

PLANT-BASED DIET กินอาหารพืชเป็นหลักแบบไทยแท้

เทรนด์อาหารสุขภาพที่ทั่วโลกกำลังพูดถึงคือ แพลนต์เบสด์ไดเอ็ต (Plantbased Diet) ที่ทำให้สุขภาพแข็งแรง โดยเน้นการกินพืชผักเป็นหลัก โดย คุณนก – ชลิดา เถาว์ชาลี ตันติพิภพ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ชะลอวัยกำลังทำงานวิจัยและศึกษาเรื่องแพลนต์เบสด์ไดเอ็ตอย่างจริงจัง อธิบายว่า

Thai Plant-based Diet เป็นเมนูอาหารต้านอักเสบแบบไทยที่ไม่จำกัดชนิดอาหารมากนัก ยังมีทางเลือกในการกินเนื้อปลา กุ้งแห้งไข่ไก่ เพราะถือว่ายังเป็นแหล่งแคลเซียมและโปรตีนที่สำคัญที่ร่างกายควรจะได้รับ เพื่อความแข็งแรงทั้งกระดูกและฟัน เน้นกินผักหลากสีซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการกิน นกขอยกตัวอย่างผักของไทยที่มีงานวิจัยรองรับว่าเพิ่มแคลเซียมให้ร่างกาย เช่น ถั่วพูและใบชะพลูมีแคลเซียมสูงเทียบเท่านมวัว และยังเป็นสารอาหารที่ร่างกายดูดซึมนำไปใช้ได้ทันที

อาหารคีโตเจนิก (Ketogenic Diet)

การกินอาหาร “คีโตเจนิก”  เริ่มมีที่มาที่ไปตั้งแต่ 500 ปีก่อนคริสตกาลในยุคฮิปโปเครตีส ซึ่งฮิปโปเครตีสได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงในวงการแพทย์รุ่นโบราณว่าเป็นผู้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับวิชาการแพทย์ไว้มากมาย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและเมโยคลินิกพยายามตีโจทย์ว่ามีวิธีการไหนในการอดอาหารแต่ทรมานน้อยกว่าวิธีการ Fastingที่ช่วยให้การรักษาได้ผล เพราะวิธีการอดอาหารนี้ปฏิบัติได้ยากโดยเฉพาะเมื่อให้คนไข้กลับไปทำที่บ้าน

นักวิจัยพบว่า เวลาอดอาหารหรือกินอาหารที่มีสัดส่วนของคาร์โบไฮเดรตต่ำในปัสสาวะจะตรวจพบสารคีโตน ซึ่งช่วยเยียวยาอาการชักได้คล้าย ๆ กัน จึงค้นพบวิธีการบริโภคอาหารที่ใช้ชื่อว่า คีโตเจนิกไดเอ็ต(Ketogenic Diet) ผลพลอยได้ที่ได้จากการอดอาหารแบบคีโตเจนิกคือน้ำหนักลดลง จึงเป็นวิธีการที่ทำให้คนส่วนใหญ่ที่อยากจะลดน้ำหนักด้วยการบริโภคอาหารแบบคีโตเจนิกให้ความสนใจในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

อดอาหาร

Intermittent Fasting (IF) อดให้เป็น อย่าเน้นทำตามกระแส 

หนึ่งในเทรนด์ด้านการกินยอดฮิตคงต้องพูดถึง อินเตอร์มิตเตนต์ฟาสติ้ง หรือ ไอเอฟ (Intermittent Fasting : IF) หรือการอดอาหารตามช่วงเวลา โดยนายแพทย์สุรชา ลีลายุทธการ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน Anti-aging และศึกษาด้าน Intermittent Fasting (IF) จะมาเล่าให้เราฟังอย่างละเอียด

ในปี 1915 เริ่มมีการอดอาหารในช่วงระยะเวลาสั้นเพื่อรักษาคนไข้โรคอ้วน แต่ยังไม่ได้เรียกว่าไอเอฟ สมัยก่อนนั้นการอดอาหารยังไม่มีรูปแบบอย่างที่ใช้ในปัจจุบัน เช่น อด 8 ชั่วโมงหรือ 16 ชั่วโมง ซึ่งรูปแบบที่เราใช้ในปัจจุบันถูกเรียกว่าโมเดิร์นอินเตอร์มิตเตนต์ฟาสติ้ง โดยเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศอังกฤษในปี 2012

>>อ่านต่อหน้าถัดไป<< 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.