กิน อาหารตามสั่ง อย่างไร ไม่เสี่ยงโรคไต โรคความดัน โรคเบาหวาน

อาหารตามสั่ง กินยังไงไม่เสี่ยงความดัน ไต เบาหวาน

เชื่อว่าหลายคนคงไม่มีโอกาสได้ทำอาหารกินเอง ต้องฝากปากท้องไว้กับร้าน อาหารตามสั่ง ด้วยเหตุผลมากมาย ทั้งชีวิตที่เร่งรีบ และความไม่ถนัดในการทำอาหาร ดังนั้นจึงไม่มีทางเลือกในการคัดสรรสิ่งๆดีๆเพื่อร่างกายมากนัก วันนี้เราจะมาแนะนำการกินร้านอาหารตามสั่งให้ไกลโรค โดยบทความสุขภาพเว็บไซต์ RAMA CHANNEL โดย ผศ.นพ.เฉลิมพงษ์ ฉัตรดอกไม้ไพร ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ทางบ้านถาม

บทความนี้เป็นคำถามที่น่าสนใจจากผู้ชมทางบ้านที่โทรศัพท์เข้ามาถามคุณหมอในรายการ “พบหมอรามา ช่วงลัดคิวหมอ” กับเรื่องราวของ “อาหารตามสั่ง” อาหารประจำวันที่เราคุ้นเคยกันดีและทานอยู่ทุกวัน เรามีวิธีเลือกทานอย่างไรให้ไกลจากโรคไต โรคเบาหวาน ที่ดูแล้วปัจจุบันผู้คนน่าจะเสี่ยงเป็นโรคเหล่านี้กันได้ง่ายขึ้น มาฟังเรื่องราวที่น่าสนใจนี้ รวมถึงคำแนะนำดีดีจาก ผศ.นพ. เฉลิมพงษ์ ฉัตรดอกไม้ไพร ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กันเลย

คุณผู้ชมทางบ้าน : อยากถามคุณหมอครับ ทุกวันนี้โรคไตและโรคเบาหวานเป็นกันง่ายมากขึ้น สาเหตุหนึ่งก็มาจากอาหารที่เราทานในแต่ละวัน อย่างข้าวผัดกระเพราะ 1 จาน ก็มีรสชาติเค็มพอสมควร เรากินทุกวันๆ ก็กลัวที่จะเป็นโรคไต ชาเย็น 1 แก้ว ก็หวานเหลือเกิน เบาหวานจะถามหาไหม แบบนี้เราควรเลือกทานอาหารอย่างไรดี ให้ห่างไกลจากโรคเหล่านี้ดีครับ ในเมื่อเราจะหลีกเลี่ยงไม่ทาน ก็ดูจะไม่ได้ ?

ผู้เชี่ยวชาญตอบ

คุณหมอ : มีปัญหาเหมือนผม เป๊ะ!…เลยครับ การที่เราจะเลือกทานไม่หวาน ไม่มัน ไม่เค็ม หรือไม่ใส่กล่องโฟม มันก็ดูเป็นไปได้ยากในชีวิตประจำวันเรา ผมเข้าใจดีเลย ผมเลยอยากจะขอแนะนำว่า

  1. ตัวเราเองพยายาม “อย่า” ปรุงรสชาติอาหารให้จัด เช่น การเติมพริกน้ำปลา น้ำตาล น้ำส้มสายชู เพิ่มเข้าไปในอาหาร
  1. กระซิบบอกพ่อครัวแม่ครัวว่า ลดเครื่องปรุงลงหน่อยนะ ไม่ใส่ผงชูรส ไม่ใส่น้ำปลาเยอะ ลดน้ำตาลลง แต่หากเราสังเกตว่า พ่อครัวแม่ครัว เริ่มมีอารมณ์หงุดหงิด รำคาญเราละ ง่ายๆ เลยเราก็ควรเปลี่ยนร้านครับ หาร้านที่ใช่สำหรับเราแล้วก็ยึดเป็นร้านหลักในใจ มีสัก 2-3 ร้านเพียงเท่านี้เราก็ฝากท้องไว้ได้แล้ว เพราะปัจจุบันผมเข้าใจดีเลยว่า เราเลือกทานไม่ได้จริงๆ หากจะทำอาหารมาทานเองทุกวันก็ไม่ไหวใช่ไหมครับ

อาหาร, ลดน้ำหนัก, ลดน้ำหนักไม่สำเร็จ, ลดความอ้วน, อาหารชีวจิต

คำถามเพิ่มเติม

คุณผู้ชมทางบ้าน : แล้วการทานอาหารตามสั่งทั่วๆ ไป แบบนี้ 3 มื้อในแต่ละวัน ปกติแล้วร่างกายรับไหวอยู่แล้วไหมครับ หรือเราจำเป็นต้องลดพวกเครื่องปรุงต่างๆ อยู่ดี ?

คุณหมอ : จริงๆ แล้ว ถ้าเกิดว่าเราช่วยร่างกายสักนิดนึงนะครับ แบบว่ามื้อไหนที่เราคิดว่า ทานหวานมากเกินไป ทานเค็มมากเกินไป เราสามารถช่วยร่างกายได้โดยการ “ทานน้ำเยอะหน่อย” เพื่อที่เราจะได้ปัสสาวะ ตรงนี้จะช่วยให้ร่างกายของเราทำงานง่ายขึ้น จากเค็มเกินไปก็กลายเป็นไม่เค็มมากเท่าไหร่นัก

แต่ใน 3 มื้อเราควรทานอาหารให้หลากหลาย ไม่ใช่ว่า ทานเค็มทั้ง 3 มื้อ ทานหวานทั้ง 3 มื้อ หรือทานอาหารมันๆ ทั้ง 3 มือ อันนี้ก็ไม่ดีต่อร่างกายเท่าไหร่นัก เราควรจะมีมื้อสุขภาพสักมื้อนึง อย่างเช่น สลัดผัก แซนวิสเพื่อสุขภาพ หรือเมนูที่มีผัก มีผลไม้เยอะๆ ซึ่งปัจจุบันหาซื้อได้ง่าย และหลากหลายขึ้น

ตรงนี้ก็จะช่วยในการระบาย ขับของเสียในร่างกายให้เราได้ดีขึ้นครับ รวมถึงอาหารพวกนี้นั้น สิทธิ์ในการปรุงนั้นเป็นของเรา ฉะนั้นเราสามารถควบคุมได้ว่าเราจะปรุงมาก ปรุงน้อย อย่างไรครับ

สรุปแล้ว

สรุป คือใน 3 มื้อ เราควรจะมีมื้อสุขภาพสักมื้อนึงจะดีที่สุดครับ ถือว่าได้ช่วยร่างกายไปอีกทางหนึ่งครับ

ขอขอบคุณคำแนะนำจาก : ผศ.นพ.เฉลิมพงษ์ ฉัตรดอกไม้ไพร ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มา : รายการพบหมอรามา ช่วงลัดคิวหมอ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.