ยาดักจับไขมัน ยาลดความอ้วน ลดความอ้วน

ยาดักจับไขมัน สำหรับคนอยากผอม ควรหรือไม่ควรใช้ อย่างไร

ยาดักจับไขมัน อันตรายหรือไม่

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับ ยาดักจับไขมัน ยาบล็อกไขมัน ที่มักมีผลิตภัณฑ์ใช้อ้างสรรพคุณมาดึงดูดใจคนที่ต้องการลดความอ้วน วันนี้เราจะมานำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับยาลักษณะนี้ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยจะอ้างอิงข้อมูลจากบทความสุขภาพ เว็บไซต์ RAMA CHANNEL

ว่าด้วยยาดักจับไขมัน

สำหรับผู้ที่มีปัญหาโรคอ้วนซึ่งส่งผลเสียหลายด้านทั้งรูปร่างและสุขภาพ นำมาซึ่งโรคร้ายอื่นๆ มากมาย ทำให้การลดน้ำหนักเป็นทางออกที่ดี แต่วิธีนี้ยังมีผู้ที่ประสบปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะในเรื่องของการ      ออกกำลังกาย ทำให้หลายคนต้องหันไปพึ่งตัวช่วยเช่นยาลดน้ำหนักรูปแบบต่างๆ ซึ่งหลายครั้งก็ส่งผลข้างเคียงที่อันตราย อย่างเช่น “ยาดักจับไขมัน” ก็เป็นยาชนิดหนึ่งหลายคนให้ความสนใจอย่างมากและยังคงมีคำถามคาใจกันอยู่ว่าอันตรายหรือไม่อย่างไร

ยาดักจับไขมัน เป็นยาลดความอ้วนชนิดหนึ่งที่จะช่วยขับไขมันทันทีที่ทาน ซึ่งต้องทานร่วมกับมื้ออาหาร แล้วยาจะเข้าไปดักจับไขมันแล้วถ่ายออกมาทันที ผู้ที่เคยทานจะรู้สึกพอใจมากในระยะแรกที่ทาน หลังจากพบว่าเมื่อถ่ายออกมาแล้วจะมองเห็นว่ามีมันๆ ออกมาด้วย แสดงให้เห็นว่าไขมันถูกถ่ายออกมาอย่างชัดเจน แต่ก็มีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์หลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกลิ่นหรือการขับถ่ายที่ผิดปกติไป

หลักการทำงานของยาดักจับไขมันที่อธิบายได้ ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าโดยปกติแล้วร่างกายคนเราจะสามารถดูดซึมไขมันได้เมื่อไขมันถูกย่อยให้อยู่ในขนาดที่เล็กลง  เปรียบเสมือนการใช้กรรไกรตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆ แต่เมื่อร่างกายทานยาดักจับไขมันเข้าไป ยาตัวนี้จะมีหน้าที่ไปจับกรรไกรให้ไม่สามารถทำงานได้ แล้วไขมันชิ้นใหญ่จะไม่ถูกย่อยให้เป็นชิ้นเล็กเหมือนปกติ ร่างกายจึงไม่สามารถดูดซึมไปใช้งานได้ และค้างอยู่ในลำไส้จากนั้นจะถูกขับถ่ายออกมา แต่ปัญหาคือปกติแล้วอาหารที่อยู่ในลำไส้ร่างกายจะทำการดูดน้ำออกเพื่อทำให้แห้ง แต่เมื่อมีไขมันค้างอยู่ร่างกายจะไม่สามารถดูดน้ำได้ อุจจาระจึงอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างเหลว และมีความมันอยู่

โดยปกติหูรูดของร่างกายจะไม่ได้เหมือนกับประตูที่เปิดปิดสนิทอยู่แล้ว หากอุจจาระมีสภาพเป็นของแข็งจะไม่สามารถออกมาได้ แต่เมื่อทานยาดักจับไขมัน อุจจาระจะมีสภาพที่ค่อนข้างเหลวอย่างที่อธิบายไป       พอมีแรงดันเกิดขึ้นนิดหน่อย เช่น ไอหรือจาม อุจจาระจะเล็ดออกมาได้ง่าย กลายเป็นปัญหาแรกของผู้บริโภคยาดักจับไขมัน ปัญหาต่อมาคือเรื่องของกลิ่น โดยผู้ทานยาดักจับไขมัน อุจจาระกลิ่นแรงกว่าปกติ เพราะเมื่อมีไขมันและน้ำตาลค้างอยู่ในลำไส้ แบคทีเรียจะทำงานหนัก ทำให้มีปัญหาในเรื่องของกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ บางคนต้องกดชักโครกถึงสามครั้ง และบางคนยังต้องโรยแชมพูหรือสบู่เหลวร่วมด้วย

ผลจากการใช้ยา

มาดูในเรื่องของผลลัพธ์ยาดักจับไขมันพบว่าประสิทธิภาพไม่มากเท่ากับที่หลายๆ คนคิด เพราะว่าจะสามารถขับไขมันออกมาได้แค่ 1 ใน 3 เท่านั้น เนื่องจากจะไปจับกับกรรไกรได้แค่บางส่วนไม่ใช่ทั้งหมด  อีกทั้งยังบล็อกเฉพาะไขมัน อย่างเวลาดื่มน้ำหวานหรือทานข้าวเข้าไปก็ไม่ได้ช่วยอะไร ยกตัวอย่างการทานอาหารที่มีพลังงาน 2,000 แคลอรี่ มีไขมันอยู่ 30% เท่ากับ 700 แคลอรี่ ซึ่งการกินยาดักจับไขมันจะบล็อกไขมันได้แค่ 1 ใน 3 ต่อมื้อเท่านั้น อย่างในมื้อนี้จะเท่ากับบล็อกได้แค่ 1 ใน 3 ของ 700 แคลอรี่ ซึ่งถ้าหากคำนวณดีๆ อาจไม่ได้ช่วยในเรื่องของการลดน้ำหนักเลย หรือช่วยได้เพียงนิดเดียวเท่านั้น ที่สำคัญเมื่อร่างกายดูดซึมไขมันน้อยลง วิตามินก็จะถูกดูดซึมน้อยลงด้วย เพราะปกติวิตามินบางชนิดจะละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามิน A E D และ K หากทานยาดักจับไขมันต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ระดับวิตามินในเลือดจะลดลงด้วย

สรุปผลข้างเคียงของยาดักจับไขมันคือ อุจจาระเล็ดออกมาได้ง่ายกว่าปกติเพียงแค่ไอหรือจาม มีปัญหาในเรื่องของกลิ่นอุจจาระที่แรงกว่าปกติ ระดับวิตามินในเลือดต่ำกว่าปกติ และอาจทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเสีย ระบบขับถ่ายผิดปกติไป เพราะมีแบคทีเรียอยู่และน้ำตาลหรืออะไรก็ตามที่ไม่ถูกย่อยเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดอาการดังกล่าว

แต่โดยปกติแล้วร่างกายจะดูดซึมตัวยาน้อยกว่า 1% ซึ่งก็ไม่ได้ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงนัก อย่างเช่นระดับวิตามินในเลือดที่ต่ำลง จากผลวิจัยก็พบว่าในร่างกายของคนที่ปกติหรือแข็งแรงดีก็ไม่ทำให้ตกอยู่ในภาวะขาดวิตามินแต่อย่างใด สรุปคือยาดักจับไขมันไม่จัดเป็นอันตราย แต่ในแง่ของผลลัพธ์ก็ไม่ได้ช่วยเรื่องการลดน้ำหนักที่มีประสิทธิภาพ และยังคงยืนยันว่าการลดน้ำหนักที่ดีคือการออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร และปรับพฤติกรรมของตัวเองจะดีที่สุด

ขอขอบคุณข้อมูลจาก รายการพบหมอรามา Big story ปลอดภัยจริงหรือกินยาดักจับไขมันแล้วถ่ายออกมาเป็นน้ำมัน วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560
ผศ.พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร สาขาวิชาโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ยาลดความอ้วนเถื่อน อันตรายถึงตาย

โทษของยาลดความอ้วน ใช้แค่ 4 วัน อันตรายถึงชีวิต

ผลข้างเคียงยาลดความอ้วน กินนิด เจ็บนาน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.