พาหะนำโรค

ยกระดับเตือนภัยหลังพบ “กาฬโรค” ระบาดในจีน

ยกระดับเตือนภัยหลังพบ “กาฬโรค” ระบาดในจีน

หลังจากที่ประชาชนทั่วโลกได้เผชิญกับความร้ายกาจของไวรัสร้ายอย่างโควิด-19 กันมาแล้ว แม้ว่านี้จะอยู่ในช่วงที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่ก็อย่างที่หลายฝ่ายออกมาเตือนว่าการ์ดห้ามตก และห้ามประมาทในการดูแลสุขภาพเป็นอันขาด รวมถึงต้องคอยติดตามข่าวสารเกี่ยวกับโรคภัยต่างๆ ที่อาจเข้ามาระบาดโดยที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว การติดตามข่าวสารเหล่านี้ไม่ต้องการให้ตื่นตระหนก แต่ให้ระมัดระวังการใช้ชีวิตกันมากกกว่า

พูดถึงข่าวเกี่ยวกับโรคที่กำลังระบาดที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ตอนนี้ ล่าสุด ที่จะต้องพูดถึงคงเป็นเรื่องของ “กาฬโรค” ที่ทางรัฐบาลจีนได้ออกมาประกาศยกระดับเตือนภัยหลังพบผู้ป่วยกาฬโรคภายในเมืองหนึ่งในเขตปกครองตนเองมองโกเลีย โดยเจ้าหน้าที่ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของจีน ออกคำเตือน เพื่อรับมือกับการระบาดของกาฬโรค หลังจากโรงพยาบาลท้องถิ่นในของเมืองบายันนูร์ รายงานพบกรณีผู้ป่วยที่ต้องสงสัยว่าอาจเป็นกาฬโรคเมื่อช่วงวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา  แม้ผู้ป่วยจะอาการทรงตัวแล้ว พร้อมประกาศการแจ้งเตือนระดับที่ 3 จากทั้งหมด 4 ระดับเพื่อรับมือกับโอกาสที่จะมีการระบาด

ทั้งนี้ กาฬโรคเป็นโรคติดเชื้อและเป็นอันตรายถึงชีวิตที่แพร่กระจายโดยสัตว์ฟันแทะส่วนใหญ่ ในยุคกลางเป็นที่รู้จักกันในนามมฤตยูดำ หรือ Black Death ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนในยุโรปหลายสิบล้านคน แต่การระบาดของกาฬโรคไม่ใช่เรื่องแปลกในประเทศจีนเพราะพบอยู่เป็นระยะๆ แต่ช่วงหลังการระบาดได้เกิดขึ้นน้อยมาก จากปี 2552 ถึงปี 2561 จีนรายงานผู้ป่วย 26 รายและเสียชีวิต 11 ราย

เรียนรู้เกี่ยวกับ “กาฬโรค”

เชื่อว่าเมื่อพูดถึงกาฬโรคหลายคนต้องบอกว่าเคยได้ยินชื่อนี้มานานแล้ว แต่ก็เชื่ออีกเช่นกันว่ายังมีบางคนอาจแค่รู้ว่าเป็นชื่อโรค แต่ไม่รู้จักที่มาที่ไป และข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้กันเท่าไรนัก ถ้าอย่างนั้นวันนี้เรามาทำความรู้จักกับเจ้าโรคกาฬโรคกันค่ะ

“โรคกาฬโรค”   ในอดีตนั้นเคยเป็นหนึ่งในโรคระบาดที่คร่าชีวิตประชากรทั่วโลกมากที่สุด แต่ปัจจุบันสามารถรักษาให้หายได้โดยง่าย เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีแหล่งรังโรคคือสัตว์จำพวกฟันแทะ เช่น หนู เป็นต้น โดยมีสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่า Yersinia pestis และมีหมัดหนูเป็นพาหะนำโรค

นอกจากหนูที่เป็นพาหะนำโรคแล้วยังมีสัตว์มากกว่า 200 ชนิดสามารถติดเชื้อกาฬโรคได้  เชื้อกาฬโรคเป็นเชื้อที่พบตามธรรมชาติในสัตว์ฟันแทะในป่า เช่น กระรอก กระจง  แมว สามารถติดเชื้อได้ง่าย  สัตว์ชนิดอื่นที่สามารถติดเชื้อได้ ได้แก่ กระต่าย สัตว์ป่าที่กินเนื้อ แพะ แกะ และอูฐ

ในอดีตที่บอกว่าพาหะนำโรคมาจากหนูนั้นเกิดจากถูกหมัดหนูที่มีเชื้อกัด และปล่อยเชื้อเข้าสู่ผู้ถูกกัด โดยทั่วไปมีการระบาดของโรคในหนูก่อน เมื่อหนูตายหมัดหนูจะกระโดดลงไปยังสัตว์อื่น หรือคน เมื่อกัดจะปล่อยเชื้อให้แก่สัตว์ หรือผู้ถูกกัดต่อไป ส่วนใหญ่จะพบการเกิดโรคในช่วงฤดูหนาวและในบริเวณที่มีกลุ่มประชากรอยู่กันอย่างแออัด การดูแลเรื่องความสะอาด และควบคุมการแพร่พันธุ์ของหนูจะสามารถทำให้มีโรคระบาดน้อยลง

ส่วนการติดต่อของโรคมาสู่คนนั้น มาจากหมัดหนูมากัดคนแล้วปล่อยเชื้อกาฬโรคเข้าทางบาดแผล หรือทางผิวหนังที่ถลอกจากการเกาบริเวณที่ถูกหมัดหนูกัด หรือติดต่อโดยการสูดหายใจเอาละอองเสมหะที่มีเชื้อของผู้ป่วยที่ไอ จาม หรือจากสัตว์ที่มีเชื้อโรค เช่น แมว และหายใจเอาเชื้อเข้าไปทางปาก/จมูก ถ้าติดเชื้อทางระบบหายใจจะทำให้เกิดโรคกาฬโรคปอดบวม แต่การเกิดกาฬโรคปอดบวมเริ่มจากการถูกหมัดหนูกัดและเชื้อเข้าไปเจริญเติบโตภายในปอดการติดจากคนสู่คนโดยการหายใจ เกิดจากการคลุกคลีกับผู้ป่วยที่เป็นกาฬโรคปอดบวม

ส่วนอาการของโรคจะแสดงออกหลังถูกหมัดที่มีเชื้อหนูกัดแล้ว ประมาณ 2-8 วัน โดยเชื้อกาฬโรคจะเคลื่อนไปเจริญเติบโตยังต่อมน้ำเหลืองที่ใกล้ที่สุด อาการเริ่มแรกคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาการสามารถพบได้ 3 ลักษณะ คือ

1.ชนิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ลักษณะต่อมน้ำเหลืองจะบวม แดง กดเจ็บ ซึ่งอาจปวดมากจนขยับแขนหรือขาไม่ได้ ตำแหน่งที่มักพบจะเป็นบริเวณขาหนีบ หรือ รักแร้

2.ชนิดเชื้อในกระแสเลือด มักจะลุกลามจากชนิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ มีอาการไข้สูง ความดันเลือดต่ำ ช็อก หัวใจเต้นเร็ว กระสับกระส่าย เพ้อ หมดสติ เลือดออกในอวัยวะต่างๆ เสียชีวิตภายใน 3-5 วันหรือภายในไม่กี่ชั่วโมง

3.ชนิดกาฬโรคปอดบวม อาจเกิดตามหลังจาก ๒ ชนิดแรก หรือติดเชื้อจากคนไอ จามรดกัน มีอาการปอดบวม ไอเป็นน้ำ เสมหะไม่เหนียว ต่อมาจะมีเลือดปน อ่อนเพลีย มีไข้ หากไม่ได้รับการรักษา จะตายเร็วมากภายใน 1-3 วัน

เมื่อสงสัยว่าป่วยเป็นโรคจะต้องแยกผู้ป่วยออกจากคนอื่น และแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลจะต้องแยกห้อง (lsolation) เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย สามารถรักษาได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะแกผู้ป่วย เช่น สเตรปโตมัยซิน (streptomysin) คลอแรมเฟนิคอล (chloramphenicol) เตตร้าไซคลิน (tetracycline) ยาซัลฟาไดอาชิน (sunfadiacin) ทั้งนี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้ทำการรักษา

บุคลากรที่ทำการรักษาต้องมีความระมัดระวังอย่างเคร่งครัด ด้านการป้องกันการติดเชื้อโดยสวมถุงมือ ปิดปากและจมูก ควรทำลายเชื้อจากเลือด น้ำเหลือง และหนองของผู้ป่วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อโรค

การป้องกันโรค

1.โรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกันโรค

2.การปรับสภาพสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ปรับปรุงอาคารบ้านเรือนให้สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย จัดให้มีแหล่งทิ้งขยะมูลฝอยและฝาปิดมิดชิด และระบบกำจัดขยะมูลฝอย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารและที่อาศัยของหนู

3.หากมีสัตว์ ควรใช้ยาฆ่าหมัดเป็นระยะๆ ระวังเด็กหรือผู้ใหญ่เมื่อออกนอกบ้าน โดยเฉพาะในแหล่งที่มีการระบาด ไม่ควรใกล้ชิดกับสัตว์ฟันแทะทั้งหลาย และควรทายากันหมัด รวมทั้งไม่สัมผัสสัตว์ป่วยหรือตาย หากจำเป็นควรใส่ถุงมือยาง เพื่อป้องกันเชื้อ

4.เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ควรดำเนินการให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการดูแลสภาพแวดล้อมในชุมชน บริเวณที่พักอาศัยหรือภายในบ้านเรือน

5.ในท้องที่เคยมีการระบาดของโรคกาฬโรค เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะต้องเฝ้าระวัง ควบคุมพาหะนำโรค (หนู) โดยการสำรวจสุ่มตรวจ หาค่าดัชนีหมัดหนู (Flea index)

ข้อมูลประกอบจาก: สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

“โลหิตจาง” สัญญาณเตือนภัยของร่างกาย ที่ทุกคนควรต้องรู้!

ปวดหัวไมเกรน รักษาได้ ไม่ต้องพึ่งยา

กิมจิ ปลาร้า ความเค็มสูง เสี่ยงโรคเรื้อรัง

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.