หมอตั้ม masterchef

แพทย์ คนครัว เจ้าของร้าน มารู้จักกันให้ครบทุกมุม หมอตั้ม-นพ. ดิษกุล ประสิทธิ์เรืองสุข

แพทย์ คนครัว เจ้าของร้าน : โลก 3 ใบที่ลงตัวของ ‘ หมอตั้มนพ. ดิษกุล ประสิทธิ์เรืองสุข 

ในโลกของรายการ ‘Masterchef Thailand’ เขาคือ โนบิตะผู้หลงรักการทำอาหาร ด้วยสไตล์เสื้อผ้าที่รายการจัดให้เป็นภาพจำของผู้ชายคนนี้ แต่ภาพความเป็นจริง ‘ หมอตั้ม – นพ. ดิษกุล ประสิทธิ์เรืองสุข ’  มีโลกที่สร้างด้วยน้ำมือของเขาเอง 3 ใบด้วยกัน

เมื่อความฝันไม่ได้มีเพียงหนึ่งเส้นทาง โลกจึงไม่ได้มีเพียงหนึ่งใบ

โลกใบแรก – เท่าที่จำความได้เขารักและชื่นชอบการทำอาหารมาตั้งแต่มัธยมต้นซึ่งเริ่มต้นจากเมนูบ้านๆอย่างผัดผักบุ้งและน้ำพริกกะปิพร้อมกันนี้การเข้าแข่งรายการ ‘Masterchef Thailand’ ก็เพื่อเป็นการต่อยอดความฝันในการทำคู่มืออาหารสุขภาพเพื่อผู้ป่วยของตัวเอง

โลกใบที่สอง – ปัจจุบันนี้เขาดำรงตำแหน่งเป็นแพทย์ประจำบ้านภาควิชาวิสัญญีวิทยาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย

โลกใบที่สาม – เป็นหนึ่งในหุ้นส่วนและเจ้าของร้าน Atomic Pills คาเฟ่ที่ชวนให้คุณมาดื่มด่ำกับเครื่องดื่มและของหวานเพื่อสุขภาพในราคาที่จับต้องได้โดยเขาเป็นผู้คิดค้นและรังสรรค์เมนูร่วมกับเพื่อนที่เป็นเชฟอีก 1 คน

ลกทั้ง 3 ใบกับใจที่เด็ดเดี่ยวในการลงมือทำนี้ ถ้าให้มองจริงๆ หลายคนคงบอกว่า หมอตั้มคงบ้าไปแล้วแน่ๆ ทำได้อย่างไร อาหารก็ต้องทำ หมอก็ต้องเป็น ไหนจะมาสวมบทบาทเป็นนักธุรกิจดูแลร้านอีก เอาเวลาที่ไหนมาบริหารและจัดการให้เข้าที่เข้าทาง การมาเยี่ยมร้าน Atomic Pills ของเราในครั้งนี้ นอกจากจะมาชิมของอร่อยที่เป็นซิกเนเจอร์ของทางร้านแล้ว ยังขอคว้าตัวนายแพทย์หนุ่มคนดังกล่าวมานั่งพูดคุยถึงการจัดการโลก 3 ใบที่ทำอย่างไรให้ลงตัวได้อย่างสวยงาม 

ในคราวนี้ หมอตั้มไม่ได้มาในเสื้อโนบิตะเหมือนในรายการ ไม่ได้สวมเสื้อกาวน์เหมือนตอนที่ทำงานอยู่ แต่มาในลุคแบบสบายๆ ด้วยเสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงสีน้ำเงิน และรองเท้าหนังสีน้ำตาลหุ้มข้อ ซึ่งเป็นภาพที่ต่างไปจากภาพที่เราจินตนาการไว้ และการบอกเล่าชีวิตหลังจากนี้ต่อไปคือ การเปิดโลก 3 ใบอย่างตรงไปตรงมาชนิดที่เรียกว่า คุณไม่เคยได้อ่านจากเรื่องราวแบบนี้จากหมอตั้มที่ไหนอย่างแน่นอน

หมอตั้ม masterchef

โลกใบแรก : อาหารและความหลงใหล

หากตั้งไข่เริ่มต้นทำอาหารหมอตั้มบอกว่าเขาเริ่มมาตั้งแต่มัธยมต้น แต่ถ้าให้เริ่มทำอาหารอย่างจริงจังมันคือช่วงเวลาที่เขาเข้ามหาวิทยาลัย 

“ช่วงเวลาปี 2-3 เป็นช่วงเวลาที่ผมจริงจังกับการเข้าครัวมากขึ้น เหตุเพราะต้องการที่จะกินอาหารรสชาตินี้ซ้ำๆโดยที่เราไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อหรือไปจ่ายเงินที่ร้าน (หัวเราะ) เลยพยายามเก็บสิ่งนั้นสิ่งนี้ ความรู้จากตรงนั้นตรงนี้ มาเพื่อมาประกอบร่างเป็นอาหารของตัวเองด้วยการฝึกฝีมืออยู่ที่บ้านและส่วนตัว  เป็นคนชอบกินอยู่แล้วด้วย พอกินเสร็จก็รู้สึกว่า อยากทำรสชาตินี้ให้คงไว้เหมือนเดิม เลยเลือกที่จะตั้งใจกับการเข้าครัวและทำอาหารมากขึ้น”

สายตาที่ดูจริงจังและตั้งใจในการทำอาหารของเขา ทำให้สงสัยว่าแล้วทำไมตัวเขาเองถึงไม่เรียนการทำอาหารให้รู้แล้วรู้รอดไปเลยตั้งแต่ต้น ซึ่งหมอตั้มบอกว่าเป็นเรื่องของกรอบความคิดบางอย่าง

“จริงๆก็อยากเรียนแหละแต่ด้วยสมัยก่อนเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วคุณพ่อและคุณแม่มีความคิดที่ว่า ถ้าจะเรียนอะไรสักอย่างหนึ่ง ควรเรียนในสิ่งที่ควบคุมชีวิตตัวเองได้หรือเป็นนายของตัวเอง ซึ่งเขาอยากให้เรียนบริหาร ไม่ก็วิศวะหรือแพทย์ เพราะเขามองว่า การเรียนทำอาหาร สุดท้ายก็ต้องไปเป็นลูกจ้างอยู่ดี และเขาเองก็ไม่อยากให้ไปอยู่จุดนั้น โดยผมเชื่อว่า คุณพ่อและคุณแม่อาจยังไม่ได้เห็นหรือเข้าใจความเป็นเชฟมากพอ อีกทั้งตอนนั้นผมก็ยังเป็นเด็กมัธยมปลาย เลยเชื่อคุณพ่อและคุณแม่ด้วยการไปเรียนแพทย์ก่อน”

แล้วถ้าให้ย้อนอดีตกลับไปเลือกใหม่ได้อีกครั้งคิดว่าจะกลับไปเลือกเรียนทำอาหารหรือไม่ คำตอบที่ได้จากหมอตั้มคือ

“ไม่ครับเพราะรู้สึกว่าการเป็นเราในปัจจุบันและเรามีได้อยู่ทุกวันนี้ เพราะเราตัดสินใจเชื่อคุณพ่อและคุณแม่ที่จะเรียนแพทย์ซึ่งความหลงใหลในการทำอาหารมันก็ยังไม่ได้หายไปไหน รวมถึงความหลงใหลในการทำอาหารและความเป็นหมอก็ผนวกรวมกันได้ดีจนเป็นทุกวันนี้ได้ ผมว่าผมตัดสินใจถูกแล้วและไม่เสียดายกับสิ่งที่ได้เลือกไป”

การตัดสินใจของเขาหลายคนคงคิดว่าต้องเหนื่อยและหนักในการจัดการแน่ๆ แต่ส่วนตัวหมอตั้มแล้วกลับมองว่าการทำครัวเหมือนเป็นการพักร้อนของตัวเองอย่างหนึ่ง

“แม้การทำอาหารมันจะเหนื่อยก็ตาม แต่ผมถือว่ามันเป็นการพักผ่อนจิตใจอย่างหนึ่ง เหมือนไปพักร้อนตาอากาศจากการดูแลคนไข้มา โชคดีที่ว่าการทำอาหารสำหรับผมแล้วไม่ได้เป็นเรื่องอะไรที่เครียด   เป็นโลกอีกใบหนึ่งที่พึ่งพิงได้ พอก้าวเท้าออกมาจากโรงพยาบาล ก็มีจุดพักผ่อนหย่อนใจ ดึงตัวเองออกจากโลกความเป็นจริงชั่วขณะ แล้วอยู่กับการทำอาหารที่เรารัก ผมว่าเป็นการผ่อนคลายจากชีวิตแพทย์ที่ดีเลยทีเดียว”

ทั้ง 2 งานที่หมอตั้มรักไม่ว่าจะเป็นงานครัวหรืองานแพทย์ น่าจะมีจุดร่วมหรือความคล้ายคลึงกันอยู่บางประการ แต่เมื่อเจ้าตัวพินิจพิเคราะห์ดีแล้วกลับมองว่ามีรายละเอียดที่แตกต่างกัน 

“จริงๆแทบจะไม่เหมือนกันเลยนะ อย่างแพทย์เองต้องทำงานทุกอย่างตามหนังสือทั้งหมด ต้องเป๊ะและมีงานวิจัยรองรับ เพราะเอาเข้าจริงเราไม่สามารถทดลองกับชีวิตคนไข้ได้ ในขณะเดียวกันการทำอาหารจำเป็นต้องใช้จินตนาการสูงและใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในอาหารค่อนข้างมาก เช่น หากทำแต่ข้าวผัดกะเพราที่จำเจ ข้าวผัดกะเพรานั้นก็จะเป็นแค่ข้าวผัดกะเพราที่กินที่ไหนก็ได้ ผมเลยมองว่ามีรายละเอียดที่แตกต่างกันอยู่

ถ้าหากจะมีจุดร่วมที่พอสังเกตได้ อาหารที่กินอยู่ทุกวันนี้ ก็เหมือนกับยาประเภทหนึ่ง ถ้าเลือกกินให้ดี ทำทุกอย่างให้ถูกสุขลักษณะ มันก็จะดีต่อสุขภาพและป้องกันโรคได้อย่างที่ผมตั้งใจไว้ ไม่จำเป็นต้องให้เป็นโรคก่อนแล้วค่อยไปพบแพทย์ อาหารจึงถือเป็นอาวุธอย่างหนึ่งสำหรับเรา ที่ช่วยรักษาโรคแล้ว ยังป้องกันโรคได้อีกด้วย”

การมองอาหารเป็นอาวุธว่าน่าสนใจแล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ การเป็นแพทย์นั้นช่วยให้หมอตั้มรังสรรค์รสชาติอาหารได้อย่างลงตัวมากขึ้นอีกด้วย 

“ผมตั้งใจที่จะทำให้อาหารดีต่อสุขภาพ ก็เลยต้องดึงความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพและอาหารออกมาให้ได้มากที่สุด การทำหรือแม้กระทั่งการกินอาหารของผม ก็ทำให้เข้าใจวัตถุดิบและรสชาติต่างๆ ได้มากขึ้น โดยหลังจากที่จบรายการ Masterchef Thailand ไป ผมได้มีโอกาสรู้จักกับเชฟหลายคน ได้เรียนรู้การนำวัตถุดิบบางอย่างที่ฟังดูแล้ว ‘มันทำเป็นขนมได้จริงเหรอ’ มาลองทำดู จากมุมมองและเทคนิคที่ได้ไปเห็นมา จนเป็นเมนูในทุกวันนี้

ยกตัวอย่าง เค้กแครอทที่เป็นเมนูของร้าน หลายคนคงรู้ว่า ทำค่อนข้างยาก ด้วยความแฉะของแครอทที่มีอยู่เดิมก็ดี ทำให้เนื้อเค้กไม่จับตัวเป็นทรงสวย ผมจึงนำเทคนิคที่ได้เรียนรู้มาผสมกับความคิดของตัวเองเพิ่มเติม ลงมือทำเค้กแครอทที่ไม่แฉะในแบบฉบับของผมเอง ด้วยการคั้นน้ำสับปะรด นำกากสับปะรดและกากอินทผลัมมาปั่นรวมกัน ให้กลายเป็นตัวประสานเนื้อเค้กที่จับตัวรวมกันได้ และใช้หญ้าหวานแทนน้ำตาลทรายผสมเข้าไป ทำให้ได้เค้กแครอทที่ไม่แฉะและดีต่อสุขภาพ อีกทั้งยังเป็นเค้กแครอทที่ใช้แป้งน้อยด้วย”

หมอตั้มยังกล่าวเพิ่มเติมในประเด็นนี้อีกว่า นอกจากเรื่องของรสชาติแล้วการเป็นแพทย์ยังช่วยสร้างลายเซ็น (Signature) ให้กับตัวเองในการทำอาหารได้เป็นอย่างดีด้วยเอกลักษณ์ในแบบที่ไม่เหมือนใคร

โลกใบที่สอง : อาหารและความเป็นแพทย์

ด้วยโลกทั้ง 2 ใบอย่างงานครัวและงานแพทย์ มุมมองเกี่ยวกับอาหารก็ย่อมน่าจะแตกต่างกัน ซึ่งหมอตั้มเห็นด้วยส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งก็มองว่า ทุกสิ่งอย่างสามารถผสมผสานให้เข้ากันได้  ไม่เว้นแม้แต่เรื่องความหมายของอาหารและการทำหน้าที่ของตัวเอง

“ในแง่ของคนทำอาหาร เรามีหน้าที่ในการทำวัตถุดิบสักอย่างหนึ่งให้ออกมาอร่อยที่สุด หรือได้คุณค่ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะที่คนเป็นแพทย์ก็มีหน้าที่มองว่าวัตถุดิบหรืออาหารใดที่จะดีต่อสุขภาพผู้คน      กินแล้วร่างกายแข็งแรงขึ้น พอนำความคิดทั้ง 2 ชุดนี้มารวมกัน ผมว่ามันลงตัวนะ นั่นคือ จะทำอย่างไรให้อาหารจานนี้ดีต่อสุขภาพ และดึงรสชาติที่ดีที่สุดของวัตถุดิบออกมาด้วย ผมว่านี่คือความท้าทายในการทำหน้าที่ของผม ทั้งในด้านของแพทย์และคนทำอาหาร”

ยิ่งแพทย์ผู้มีใจรักด้านอาหารไปร่วมเข้าแข่งขันในรายการประกวดทำอาหารอย่าง Masterchef Thailand ด้วยแล้ว มุมมองที่มีต่ออาหารน่าจะยิ่งเปลี่ยนเข้าไปใหญ่แต่หมอตั้มบอกว่ามุมมองเรื่องอาหาร  ไม่เปลี่ยนไปเลย แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ‘โอกาส’ มากกว่า

“อย่างเมื่อก่อนที่เข้าไปแข่งขัน ผมเป็นเพียงแค่คนทำอาหารคนหนึ่ง จะไปรู้จักกับเชฟที่มีชื่อเสียงก็คงไม่มีทางไปถึงจุดนั้น แต่การที่ได้เข้าไปเป็นตัวแทนแข่งขันในรายการ คือผมได้รู้จักคนที่มีความชื่นชอบแบบเดียวกันอีก 10 คนที่เป็นเพื่อนใหม่เลย ได้พบปะสังสรรค์ด้วยกัน ได้มีช่องยูทูบแชนแนลและเพจเฟซบุ๊คที่ทำจนถึงทุกวันนี้ ได้มีร้าน Atomic Pills อย่างที่ตั้งใจไว้ ทุกอย่างมีจุดเริ่มต้นมาจากรายการและรายการก็ได้ให้โอกาสนั้นกับผมต้องขอบคุณรายการที่ทำให้ผมมีในทุกวันนี้ครับ”

 ‘แล้วอาหารที่ดีในมุมมองของหมอตั้มคืออะไร’ คำถามง่ายๆ ภายใต้มุมมองเรื่องอาหารของหมอตั้มที่ไม่เปลี่ยนไป แต่คำตอบที่ได้กลับมาคือ มากด้วยรายละเอียด ตั้งแต่การให้คำจำกัดความจนถึงสิ่งที่กินเข้าไป

 “บางคนอาจจำกัดอยู่แค่ว่า อาหารดีต้องคลีน ไม่มีไขมัน น้ำตาลน้อย แต่ผมกลับมองกว้างกว่านั้น และตอบอย่างง่ายเลยคือ อาหารดีคืออาหารที่ไม่ทำลายสุขภาพ ซึ่งต้องกลับมาดูอีกว่า แล้วอะไรบ้างที่ไม่ทำลายสุขภาพ ที่พิสูจน์แบบเห็นได้ชัดๆ เลยก็คือ อาหารแปรรูปต่างๆ จำพวก ‘ไส้กรอก’ แบบที่ผ่านอุตสาหกรรมมา โดยเขาจะใส่สารตัวหนึ่งที่ชื่อว่า ‘ไนไตรท์’ ทำให้อาหารมีสีแดงเป็นธรรมชาติ

สีของเนื้อตามปกติอย่างเนื้อหมูก็จะมีสีชมพูอ่อน เนื้อวัวที่นำมาบดทำเป็นไส้กรอก เนื้อด้านนอก ก็จะออกเป็นสีเทา หรืออย่างไส้กรอกเยอรมัน ก็จะมีเนื้อแทรกไขมันที่เป็นสีขาวแทรกอยู่ ทั้งหมดนี้ดูแล้วไม่น่ากิน เพราะมันไม่ออกเป็นสีแดงเหมือนเนื้อธรรมชาติ เขาจึงเติมไนไตรท์เข้าไป เพื่อให้ไส้กรอกสีแดงตลอดเวลา แต่ข้อเสียของการเติมสารนี้เข้าไปคือ ถ้านำไส้กรอกไปต้ม จะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้านำไปย่าง เผา หรือทอดด้วยความร้อนสูง ไนไตรท์จะเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นสารก่อมะเร็งทันที

หากถามว่า อาหารที่ดีคืออะไร ภาพการปรุงไส้กรอกคือคำตอบที่อธิบายได้ชัดเจนมาก มันจะไม่ส่งผลต่อสุขภาพ หากนำไปต้มหรือนึ่ง แต่มันจะทำลายสุขภาพหากปรุงด้วยความร้อนสูงผ่านการย่าง เผา หรือทอด ซึ่งคุณกินสารก่อมะเร็งเข้าไปทั้งนั้น ดังนั้น ทุกอย่างอยู่ที่คุณเลือกแล้วว่า จะปรุงออกมาแบบใดให้เป็นอาหารที่ดีต่อตัวคุณเอง”

เห็นจากตัวอย่างที่หมอตั้มยกมาอย่างไส้กรอกเยอรมันก็ดูจะมีราคาค่างวดของมันอยู่ ทำให้แอบไม่แน่ใจว่า หรืออาหารที่ดีจะต้องเป็นอาหารที่แพง ซึ่งหมอตั้มได้ยินแบบนั้น ก็ตอบปฏิเสธออกมาแบบทันควัน

“ไม่ครับ ดีไม่เท่ากับแพงแต่อยู่ที่ว่ามันมีเหตุผลที่จะแพงหรือเปล่าเช่นไส้กรอกที่ยกตัวอย่างไปเมื่อสักครู่คนมักจะเข้าใจว่าไส้กรอกมีราคาถูกแค่ 20 บาทก็ซื้อไส้กรอกคอกเทลได้จากร้านสะดวกซื้อ แล้วผมขอถามกลับว่าที่คุณซื้อมีเนื้อสัตว์กี่เปอร์เซ็นต์ แล้วที่คุณไปซื้อตามร้านขายเนื้อสัตว์ (Butcher Shop) มีเนื้อสัตว์กี่เปอร์เซ็นต์ถ้าไส้กรอกที่ดีก็ควรจะมีเนื้อสัตว์เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แต่ไส้กรอกที่ขายทั่วไปอาจจะมีแป้งถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือคือเปอร์เซ็นต์ของเนื้อสัตว์นั่นคือเหตุผลที่มันราคาถูกทุกอย่างมีเหตุในตัวของมัน

ถ้าไส้กรอกมีราคาแพง ก็ต้องมีเหตุผลที่เพียงพอ เช่น ทำจากเนื้อสัตว์แท้ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น ดังนั้น ไม่ใช่ว่าของที่ดีต่อสุขภาพทุกอย่างต้องแพง แต่มันมีเหตุผลอันสมควรให้ราคาเป็นแบบนั้น แต่ถ้ามันแพงเกินกว่าเหตุหรือมีผลกระทบต่อการจับจ่าย เราก็ไม่จำเป็นต้องเลือกอะไรที่แพงขนาดนั้น เพราะยังมีสิ่งที่ดีต่อสุขภาพและถูกให้คุณเลือกอีกมากมายรออยู่”

 ‘ของดีและถูกในโลกมีอยู่จริง’ หมอตั้มกล่าวพร้อมกับรอยยิ้ม ด้วยบรรยากาศการพูดคุยที่ผ่อนคลาย จึงหยิกแกมหยอกถามหมอตั้มถึงเมนูที่นิยามความเป็นตัวเองได้ดีที่สุดในช่วงนี้ 

“ยากมากเพราะเรื่องราวในชีวิตทุกอย่างเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ แล้วแต่เดือนแล้วแต่โอกาสแล้วแต่ฤดูกาลด้วย แต่ถ้าให้นึกตอนนี้คงเป็น ‘ต้มยำกุ้ง’ ไม่รู้สิเพราะช่วงนี้ชีวิตผ่านอะไรมาเยอะมากเคยอยู่ในจุดที่บนสุดและล่างสุดมาแล้วเลยชวนให้นึกถึงเมนูนี้ที่มันฉูดฉาดจัดจ้านและครบรสในตัวของมันเอง”

หมอตั้ม

โลกใบที่สาม : อาหารและความเป็นเจ้าของธุรกิจ

คุณก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เวลาทานอาหารแล้วชอบปิดท้ายด้วยของหวาน หมอตั้มตั้งต้นความคิดจากตรงนี้ในการทำคาเฟ่ Atomic Pills ขึ้นมา แต่สิ่งที่ตามมาคือ หลายคนกังวลว่า กินขนมแล้วจะอ้วนและทำลายสุขภาพ แต่ที่นี่จะเปลี่ยนมายาคติเกี่ยวกับเรื่องขนมให้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

 “ไม่น่าเชื่อเหมือนกันนะครับว่า มีคนที่คิดเหมือเรามากขนาดนี้ คือต้องการกินของหวาน แต่ไม่อยากทำลายสุขภาพ ซึ่งเป็นความคิดหลักเลย ที่ทำให้ผมอยากทำขนมแบบที่แคลอรี่ไม่เยอะเกินไป ทำขนมที่ใส่วัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพเข้าไป และทำเป็นคาเฟ่ที่มีขนมแบบคลีนอร่อยๆ ซึ่งคลีนในที่นี้คือ ดีต่อสุขภาพ คนทั่วไปกินได้ และมีวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพอยู่ในขนมทุกชิ้นที่ทำออกมา”

ร้าน Atomic Pills จึงเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการทดลองด้านความคิดสร้างสรรค์ การเติมเต็มความฝันและการมอบความสุขให้กับผู้รักขนมทุกคน ซึ่งเสียงตอบรับที่ได้จากลูกค้าเรียกได้ว่าดีเกินคาดที่หมอตั้มคิดไว้มากทีเดียว แต่ใช่ว่าความดีงามของร้านนี้จะโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เพราะมีเรื่องน่าหนักใจสำหรับหมอตั้มในการทำร้านที่เขากังวลอยู่ไม่น้อย

“ส่วนใหญ่ผมจะรับผิดชอบในเรื่องของอาหารที่เป็นขนมและเครื่องดื่มแต่ต้องบอกก่อนว่าการทำร้านในความเป็นจริงมีรายละเอียดที่ละเอียดอ่อนค่อนข้างมากทั้งในแง่ของการบริหารการคำนวณต้นทุน การจัดการด้านทรัพยากรบุคคล ไปจนถึงเรื่องของการทำการตลาด ยอมรับว่า แอบทำคนเดียวไม่ไหว ต้องมีคนเข้ามาช่วย ซึ่งโชคดีที่เพื่อนอีก 2 คนที่เป็นหุ้นส่วนช่วยเติมเต็มในส่วนที่ผมขาดได้ ทำให้ร้านดำเนินธุรกิจได้อย่างลงตัวมากขึ้น”

 มากกว่าความดีใจที่มีเพื่อนหุ้นส่วนที่ดีและมีเมนูเป็นของตัวเองแล้ว สิ่งสำคัญที่หมอตั้มได้จากการทำร้าน Atomic Pills นี้คือ ความเข้าใจในโลกของธุรกิจที่เปิดโลกชีวิตนายแพทย์หนุ่มคนนี้ให้กว้างขึ้น

“นี่เป็นธุรกิจแรกของผมทำให้เวลาทำร้านในแต่ละครั้งมีเรื่องให้คิดเยอะมากทั้งในเรื่องของธุรกิจ กลยุทธ์ และการวางแผน ที่ไม่ใช่แค่การวางแผนระยะสั้นในระดับวัน แต่เป็นวางแผนในระดับเดือนหรือปี เพื่อให้ร้านนี้เติบโตได้อย่างคล่องตัวต่อไป ซึ่งมันไปได้ไกลมากกว่านั้น”

 ไกลในที่นี้ของหมอตั้ม หมายถึง มีสาขา แฟรนไชส์ และคนรู้จักมากขึ้น โดยตัวเขาเองก็ต้องการให้ แบรนด์ Atomic Pills เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งและเข้าถึงได้ทุกคน หากเปรียบเป็นคน ตอนนี้ ร้านก็เป็นลูกอายุ 4 เดือนแล้วที่คนเป็นพ่ออย่างหมอตั้มต้องการให้ลูกเติบโตเป็นวัยรุ่นที่สดใสและแข็งแรงต่อไป

มิกซ์เบอร์รี่สมูตตี้ในมือใกล้หมดลง เป็นสัญญาณบอกว่าใกล้หมดเวลาพูดคุยประเด็นสุดท้ายที่ปิดการพูดคุยในครั้งนี้ เลยเป็นการให้หมอตั้มเลือกระหว่าง ‘การเป็นแพทย์ที่เก่ง’ ‘เป็นเจ้าของร้านที่รวย’ หรือ    ‘เป็นคนครัวที่มากด้วยฝีมือ’ หมอตั้มจะเลือกอะไร คำตอบที่ได้จากผู้ชายคนนี้ คือการโอบกอดโลกทั้ง 3 ใบของเขาด้วยสองมือที่มั่นคงและหนึ่งหัวใจที่หนักแน่น

“ผมไม่เลือกอย่างไรเราต้องไปให้ได้ทั้ง 3 ทางเพราะความตั้งใจของผมคือทำทั้ง 3 อย่างพร้อมกันอย่างดีที่สุดมันต้องไปได้ทั้ง 3 ทางและไปถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ทั้ง 3 ทางให้ได้” 

เรื่อง : ยุทธชัย สว่างสมุทรชัย
ภาพ : สุวิตา สุขุมกาญจนะ


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

นักวิ่งมือใหม่ควรอ่าน เจาะลึกทุกแง่มุมการวิ่ง โดย โค้ชเป้ง-สาธิก ธนะทักษ์

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.