กินอาหารก่อนนอน

รู้หรือไม่ กินอาหารก่อนนอน ทำอ้วน ระบบเผาผลาญแย่

กินอาหารก่อนนอน ทำอ้วนได้

กินอาหารก่อนนอน ทำอ้วนได้? เกือบครึ่งหนึ่งของวัยผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาพยายามลดน้ำหนักโดยการใช้วิธี intermittent fasting หรือ IF ซึ่งเป็นวิธีที่เข้าใจง่ายที่จะหั่นน้ำหนัก วิธีการนี้ประกอบไปด้วยการอดอาหารในช่วงเวลาหนึ่งที่กำหนดไว้และกินเพื่อรับพลังงานเข้าไปในช่วงเวลาที่เหลือ เช่น การงดกินเป็นเวลา 16 ชั่วโมงของวัน และกินอาหารภายในเวลาแค่ 8 ชั่วโมง หรือที่เรารู้จักกันในสูตร 16:8 ซึ่งวิธีนี้ก็เป็นที่นิยมมากทีเดียว แต่เดี๋ยวก่อน ในเมื่อเราแบ่งจำนวนชั่วโมงในการอดและกินแล้ว แล้ว”เวลา”ที่เรากินล่ะ มีผลด้วยหรือไม่

อ้างอิงจากนักวิจัยจาก Vanderbilt University in Nashville การลดน้ำหนักไม่ได้เพียงขึ้นอยู่กับปริมาณแคลอรี่ที่แต่ละคนบริโภคเข้าไป แต่เกี่ยวกับ “ช่วงเวลา” ที่กินด้วย

ยึดตามนาฬิกาของร่างกาย

การค้นพบที่ว่าเกี่ยวโยงกับนาฬิกาของร่างกาย ที่เป็นหนึ่งในการควบคุมกลไกต่างๆ ในร่างกาย ตั้งแต่การหลับจนถึงการกิน ไปจนถึงอุณหภูมิของร่างกายและระดับฮอร์โมน งานวิจัยนั้นค้นพบผลเสียจากการไม่ปล่อยให้ร่างกายเป็นไปตามนาฬิกาชีวิตนี้อย่างคนที่ทำงานเป็นกะเช่น โรคอ้วน

เพื่อพิสูจน์งานวิจัยนี้ นักวิจัยได้ทำการเก็บข้อมูลระบบเผาผลาญของคน 6 คน ในช่วงเวลาที่แตกต่างกันพวกเขากินอาหาร

จากการเฝ้าดูระบบเผาผลาญ

ผู้เข้าร่วมทำลองทั้งหมดอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งในวัยนี้แต่ละคนต่างมีความเสี่ยงเกี่ยวกับระบบเผาผลาญทำงานผิดปกติ ทุกคนจะได้กินอาหาร 3 มื้อต่อวัน โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ รูปแบบละ 56 ชั่วโมง 

รูปแบบหนึ่ง ผู้เข้าร่วมจะกินอาหารเช้า กลางวัน และเย็น อีกรูปแบบหนึ่งจะงดอาหารเช้า แต่จะได้มื้อพิเศษเป็นของกินเล่นในช่วงดึกแทน

มื้อเช้า (เวลา 8.00 น.) และอาหารกินเล่นยามดึก (เวลา 22.00 น.) ทั้งสองมื้อต่างให้พลังงาน 700 แคลอรี่ และให้สารอาหารที่เท่ากัน กิจกรรมทางร่างกายที่ผู้เข้าร่วมทำนั้นจะเหมือนๆ กันในการทดลองทั้ง 2 รูปแบบ

นักวิจัยจะบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับระบบเผาผลาญของร่างกายผู้เข้าร่วมโดยให้ผู้เข้าร่วมอยู่ในห้องเฉพาะที่ชื่อว่า Vanderbilt’s human metabolic chamber ซึ่งจะช่วยให้อัตราการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและไขมันนั้นมีความเสถียร

กินก่อนนอน กินอาหาร มื้อดึก

อดมื้อเช้า VS อดมื้อดึก

นักวิจัยพบว่า ถึงแม้ผู้เข้าร่วมจะได้รับแคลอรี่เท่าๆ กัน ทำกิจกรรมเหมือนๆ กัน แต่ช่วงเวลาในการกินนั้นสามารถบ่งชี้ถึงความแตกต่างในการเผาผลาญไขมันของผู้เข้าร่วมได้

ผู้เข้าร่วม เมื่อกินอาหารตอนดึกมีการเผาผลาญไขมันที่น้อยกว่าเมื่อกินอาหารตอนเช้า

อีกนัยหนึ่ง อาหารว่างในช่วง 4 ทุ่มนั้นลดความสามารถในการเผาผลาญไขมันร่วมไปถึงการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตด้วย ในอัตราที่เท่าๆ กัน ผู้เข้าร่วมที่กินมื้อเช้าสามารถเผาผลาญไขมันได้มากกว่าประมาณ 15 กรัมตลอด 24 ชั่วโมงเทียบกับคนที่กินมื้อดึก

นี่จึงพิสูจน์ว่าเวลาในการกินระหว่างตอนกลางวันกับกลางคืนนั้นส่งผลต่อการนำพลังไปใช้งานหรือกักเก็บไว้ การกินอาหารตอนใกล้เวลานอนจะลดอัตราการเผาผลาญไขมันของร่างกายลงในตอนหลับนั่นเอง

การค้นพบนี้ทำให้รู้ว่า “นาฬิกาของร่างกาย” มีส่วนขับเคลื่อนอัตราการเผาผลาญของร่างกายให้เป็นปกติ ดังนั้นคนที่กำลังจะทำ IF คงรู้แล้วว่า ควรจะเลือกช่วงเวลาในการอดและกินตอนไหน เพื่อให้ได้ประโยชน์แก่สุขภาพที่สุดค่ะ

ข้อมูลจาก : Medical News Today


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

6 อาหาร ที่ถึงยังไงก็มี ไขมันทรานส์ อยู่ดี

10 SUPER FOODS น่าจับตามอง เพื่อสุขภาพที่ดี ปี 2020

5 เหตุผลที่ทำให้ กินจุเกินไป และวิธีตัดวงจรกินไม่ยั้ง

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.