เชื้อลงปอด CORONA COVID-19

COVID-19 หายแล้วติดอีกได้ไหม เชื้อลงปอด น่ากลัวแค่ไหน สาเหตุการตายมาจากอะไร

รวมคำถาม COVID-19 หายแล้วเป็นซ้ำ เชื้อลงปอด เสี่ยงเสียชีวิต

เชื่อว่าตอนนี้หลายคนมีคำถามกับเจ้าไวรัส COVID-19 นี้เต็มไปหมด หนึ่งในคำถามต่างๆ คือเรื่องความรุนแรงของโรค จนกระทั่งกลายเป็นสาเหตุการตาย ที่ว่ากันว่า เชื้อลงปอด ปอดถูกทำลาย แล้วจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมไม่ได้ วันนี้เรามีคำตอบทั้งหมด จากแพทย์หญิงสาริษฐา สมทรัพย์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มาฝากค่ะ

ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ COVID-19 มากที่สุด

ขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างภูมิต้านทานในแต่ละคน ในคนที่อายุเยอะ (เกิน 60 ปี) ความสามารถในการสร้างภูมิต้านทานอาจจะลดลงตามทฤษฎี แต่ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์

ตามความเป็นจริง คนวัยทำงานจะมีภูมิต้านทานที่ดีกว่า ในกรณีที่ไม่มีโรคที่ทำให้ภูมิต้านทานต่ำ ส่วนเด็กๆ ก็จะหายเร็วกว่า เพราะในเด็กๆ เนี่ยจะมีระบบภูมิต้านทาน อย่างต่อมไทมัส ระบบต่อมน้ำเหลือง ต่อมทอนซิล ที่เกิดการพัฒนา เมื่อติด ก็หายไว แต่ถ้าเป็นเด็กทารกจะไม่เหมือนกัน เพราะระบบภูมิคุ้มกันยังทำงานได้ไม่ดี

ทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยทางพฤติกรรมอื่นๆ ด้วย เช่น การดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้ภูมิคุ้มกันทำงานได้ดี แต่ถ้าหากปล่อยปละละเลย นอนดึก กินอาหารไม่ถูกโภชนาการ ก็ทำให้ร่างกายอ่อนแอและภูมิคุ้มกันลดลงได้

ไวรัสอู่ฮั่น ไวรัสโคโรน่า

กระบวนการติดเชื้อ COVID-19

เริ่มติดจะมีไข้สูงหรือไม่มีไข้ก็ได้ เมื่อรับเชื้อเข้าไป เชื้อจะไปทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจ ได้แก่ บริเวณจมูก ลำคอ ทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น ไอแห้งๆ เมื่อเยื่อบุทางเดินหายใจถูกทำลายมากขึ้น ร่างกายจะปล่อยสารต้านการอักเสบ เป็นน้ำ เยื่อเมือก เริ่มมีน้ำมูก มีเสมหะ แต่จะมีน้อยกว่าอาการหวัดธรรมดา เมื่อเชื้อไวรัสลงไปถึงปอด ก็จะเกิดอาการเกี่ยวกับปอด เช่น ปอดบวม ซึ่งเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

หลังได้รับการติดเชื้อแล้วปอดได้รับความเสียหาย โอกาสที่ปอดจะกลับมาเป็นปกติมีไหม

คนที่ติดเชื้อแล้วปอดเสียหาย ต้องมาดูกันว่าปอดเสียหายระดับไหน เพราะอวัยวะของเราจะมีการซ่อมแซมตัวเอง และความสามารถในการซ่อมแซมอวัยวะของตัวเองของแต่ละคนไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นหากถามว่าปอดที่เสียหายจะกลับคืนมาเหมือนเดิมไหม ก็ต้องผ่านการตรวจสภาพของปอด หลังจากที่เป็นเมื่อไวรัส COVID-19 ทำลายปอดเรียบร้อยแล้ว การจะฟื้นตัวต้องใช้ระยะเวลา ส่วนการทำงานของปอดจะกลับเป็นปกติหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตรวจการฟื้นฟูปอด คือการวัดการทำงานของปอดว่าสูญเสียการทำงานไปเท่าไร แน่นอนว่าคงไม่กลับมาเป็นปกติ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับอายุด้วย ถ้าเป็นวัยทำงาน อัตราการซ่อมแซมยังดีอยู่ ภูมิต้านทานก็ยังดีอยู่ ก็มีโอากสกลับมาดีขึ้นเป็นปกติ แต่สำหรับบางคนที่อายุเยอะ สูบบุหรี่ มีโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ มีอาการหอบหืด การฟื้นตัวกลับมาก็อาจจะไม่เป็นปกติ

ในกรณีที่ติดเชื้อแล้ว มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำไหม

ตอนนี้มีรายงานจากประเทศจีนว่ามีคนติดเชื้อแล้วเป็นซ้ำ ซึ่งมีอยู่ 2 สมมติฐาน 1. เป็นซ้ำจริงๆ หายแล้ว แล้วรับเชืัอมาอีก เพราะระบบภูมิคุ้มกันของคนๆ นั้นยังพัฒนาไม่ดี ก็เป็นอีก 2. ติดเชื้อไปแล้วยังไม่หาย 100 เปอร์เซ็นต์

มีเคสในประเทศจีนที่ป่วย รับการรักษา 14 วัน จนหาย ผลเป็น negative แล้วอีก 5 วันไปตรวจเจอ ซึ่งจริงๆ อาจไม่หาย 100 เปอร์เซ็นต์ก็ได้

ดังนั้น การรับการรักษา ผลตรวจเป็น negative เกิน 14 วันแล้ว เมื่อกลับบ้านไปก็ยังควรดูแลตัวเอง ระมัดระวังการอยู่ใกล้ผู้อื่นอีกประมาณ 1 เดือนเพื่อให้เกิดความปลอดภัย น่าจะชัวร์สุด

เพราะตอนนี้ในจีนเอง ในรายที่เป็นแล้ว หายแล้ว ทางการก็ยังคงให้ความรู้ว่า ยังต้องระวังตัวเองเพื่อป้องกัน 1. อาจเป็นซ้ำ 2.กรณีที่ยังไม่หายขาดแล้วกลับมาเป็นอีก ซึ่งระยะเวลาที่ควรเฝ้าระวังจะอยู่ที่ 14 วัน – 1 เดือน


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

5 ไอเทมเด็ด มือสะอาดพิฆาต ไวรัสโคโรนา

วิธีป้องกันไวรัสโคโรนา

คู่มือ COVID-19 เช็กอาการน่าสงสัย ตรวจฟรี ได้ที่ไหน อยากตรวจเองค่าใช้จ่ายเท่าไร

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.