สวนอินทรีย์บ้านเกิด

สวนอินทรีย์บ้านเกิด คุณอรุณี พุทธรักษา สวรรค์แห่งการเรียนรู้เล็กๆ

A TINY GREEN PARADISE

สวนอินทรีย์บ้านเกิด กลายเป็นสวรรค์แห่งการเรียนรู้เล็กๆ ของเจ้าของสวนและผู้มาเยือน

เช้าตรู่เช่นนี้ ในห้วงเวลาที่กรุงเทพมหานครยังมีค่าฝุ่น PM 2.5 AQI พุ่งทะยานไปเรื่อยๆ ทำให้ท้องฟ้าดูขมุกขมัวกลายเป็นเมืองในหมอก โชคดีที่ทีมได้หลบฝุ่นจิ๋วออกมาสูดอากาศนอกเมือง เพราะเรามีนัดกับเกษตรกรอินทรีย์ คุณอรุณี พุทธรักษา ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนเกษตรทฤษฎีใหม่หัวใจอินทรีย์ ตำบลทัพหลวง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

ปัจจุบัน กลุ่มของเธอได้รับใบประกาศการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS แล้ว โดยมีเกษตรกรในเครือข่าย 15 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครปฐมและพื้นที่ใกล้เคียง

เมื่อพบกันในครั้งแรก คุณอรุณี บอกให้เราเรียกเธออย่างเป็นกันเองว่า “พี่ณี” แล้วพาเราเดินเข้าสู่พื้นที่สีเขียวที่เป็นทั้งบ้านของเธอและครอบครัว  สวนอินทรย์บ้านเกิด เท่าๆ กับเป็นแหล่งเรียนรู้ของชาวไทยและชาวต่างชาติที่สนใจวิถีเกษตรอินทรีย์ เช่นเดียวกับทีมที่แวะมาเยือนในครั้งนี้

 

ACCIDENTAL KNOWLEDGE

ปรับใช้พื้นที่หลากหลาย ยิ่งได้เรียนรู้

ถ้ามองในฐานะคนเมือง เรามักเห็นผืนดินเป็นทรัพย์สิน แต่สำหรับเกษตรกร ผืนดินคือชีวิตและส่วนใหญ่เป็นทรัพย์มรดกที่ได้รับสืบต่อมาจากบรรพบุรุษ กรณีของพี่ณีก็เช่นกัน

เธอเล่าว่า พ่อแม่เป็นเกษตรที่ใช้สารเคมีมาตลอดชีวิต ส่วนตัวเธอเองเป็นนักพัฒนาชุมชนมีโอกาสได้ทำงานส่งเสริมการออมทรัพย์ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกร แต่ก็ไม่ได้ลงมือทำสวนทำไร่เอง ส่วนสาเหตุที่ทำให้เธอได้ผันตัวมาทำเกษตรอินทรีย์นั้นเป็นเพราะว่า

“ตอนนั้นแค่คิดว่า เราอยากอยู่บ้านใช้ชีวิตเรียบง่ายๆ ในที่ดินของครอบครัว ที่นี้จะอยู่อย่างไร จะกินอะไร เราก็เลือกว่าเอาล่ะ! จะทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มั่นใจอยู่ลึกๆ ว่าแนวทางนี้จะฟื้นฟูให้ที่ดินของครอบครัวคืนชีวิตคืนความอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง

“ที่ดินผืนนี้ เดิมเป็นของครอบครัว รอบๆ บ้านก็เป็นญาติๆ กันเอง แต่เขายังทำเกษตรเคมี มีคนเจ็บป่วยกันหลายคน ก็ยิ่งปฏิเสธเกษตรเคมี เราไม่เอาด้วยแน่ๆ พอจะกลับมาทำสวนที่นี่เลยต้องปลูกไผ่ทำแนวกันชนและขุดสระน้ำกักเก็บน้ำไว้ใช้เอง จะใช้น้ำจากข้างนอกไม่ได้เพราะน้ำที่ผ่านที่ดินคนอื่นๆ ปนเปื้อนสารเคมีมาแล้ว”

จากพื้นที่ 15 ไร่ เมื่อแบ่งพื้นที่ทำแนวกันชนและขุดสระน้ำ รวมๆ เกือบ 4 ไร่ เหลือพื้นที่ทำเกษตรและปลูกสิ่งก่อสร้างประมาณ 11 ไร่ พี่ณีจึงลงมือปรับพื้นที่ต่อไป

“อยากมีรายได้ทุกวัน วันละเล็กละน้อยก็ยังดี เลยเลือกทำเกษตรผสมผสาน ปลูกนั่นนิดนี่หน่อยทำให้ปัญหาโรคแมลงน้อยกว่าทำเกษตรเชิงเดี่ยวกระจายไปในพื้นที่ 5-6 ไร่ สุดท้ายก็แบ่งที่ไว้ปลูกข้าวกินเอง 1 ไร่ นอกนั้นก็แบ่งเป็นอาคารเรียนรู้ โรงเรือนถั่วงอก และบ้านพักค่ะ”

 

THE MAGIC FIELD

แปลง ‘ปูนา’  สร้างรายได้จากศัตรูพืช

มาถึงตรงนี้ หลายคนที่เคยคิดว่าทำเกษตรแล้วจะชิลล์ ได้ทำอะไรตามใจตัวเอง คงเริ่มเข้าใจว่าโดยเนื้อแท้แล้ว ต้องมีการวางแผนที่ดี ศึกษาพื้นที่ สภาพภูมิอากาศ แล้วจึงเลือกพรรณพืช พันธุ์สัตว์ที่เหมาะสม

          เราเดินตามพี่ณีไปถึงพื้นที่ด้านนอกสุดของสวนที่เมื่อดูเผินๆ แล้วก็คล้ายแปลงนาติดกัน 5 แปลง แต่พืชที่อยู่ในแปลงกลับแตกต่างกัน มีเพียงแปลงแรกที่เป็นนาข้าว แต่นอกนั้นจะเป็นนาอะไร คงต้องให้เจ้าของสวนแห่งนี้เป็นคนเฉลยเอง

“เดิมทั้ง 5 แปลงเป็นแปลงนาข้าวทั้งหมดค่ะ แต่ตอนนี้แบ่งที่มาทำนาบัวหลวงไว้ทำชาเกสรบัว นาบัวสายเอาไว้เก็บสายบัวขายเป็นผัก นาผักบุ้งปลูกส่งโรงแรมสามพราน เขาเอาไปทำสารสกัดในแชมพูสระผม ถัดไปเป็นนาปู ได้ยินคำว่านาปูหลายคนอาจจะงงว่า เอ๊ะ มีแต่ปูนาไม่ใช่เหรอ ทำไมที่นี่มีนาปูล่ะ

“จากเดิม แปลงนาตรงนี้ที่เราทำนาอินทรีย์ทำแบบปักกล้าดำนา พอลงต้นกล้าปุ๊บคืนเดียวปูกินเรียบเพราะในนาเราไม่มียาฆ่าแมลง ปูนาเลยยกครอบครัวมาอยู่เต็มไปหมด ตอนหลังๆ พี่ลองจับปูขายซะเลย โอโห้ เพิ่งรู้ว่าปูนาแพงกว่าข้าว ปกติทำข้าวอินทรีย์ขายได้กิโลกรัมละ 70-80 บาท แต่ปูนาขายได้กิโลกรัมละ 300 บาทตั้งแต่นั้นมาก็แบ่งแปลงนามาทำนาปูและมีบ่อเลี้ยงปูนาที่เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ด้วย”

ระหว่างที่เดินเลาะแปลงนาไปเรื่อยๆ นั้นสังเกตเห็นได้ว่า ในพื้นที่ๆ เหลือมีไม้ยืนต้นกระจายอยู่เป็นระยะๆ สลับกับแปลงผักและพื้นที่ปลูกพืชอื่นๆ

“พื้นที่เหลือเน้นการสร้างระบบนิเวศ เลยปลูกทั้งไม้ยืนต้นและสมุนไพรต่างๆ ยิ่งมีพืชหลากหลายโรคแมลงก็จะน้อยลง พื้นที่ถัดไปตรงนั้นทำแปลงผักต่างๆ เช่น พวกสลัด เรดโอ๊ก มีสมุนไพรนิดหน่อยปลูกไว้ทำชา เช่น อัญชัน กุหลาบมอญ สเปียมินต์ และใบเตย

“มองไปตรงนั้น หลังสูงๆ เป็นโรงเรือนทำปุ๋ยไว้ใช้เอง ตอนแรกใช้ต้นหน่อไม้ฝรั่งกับขี้วัวผสมน้ำหมักแบบกลับกองทุก 15 วันใช้เวลา 3 เดือน ต่อมาก็ทำปุ๋ยแบบไม่กลับกองใช้วิธีของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ใช้ขี้ไก่ผสมใบไม้ ฟาง ใช้เศษวัสดุในพื้นที่ ทำง่ายกว่าเดิมใช้เวลา 2 เดือนก็เอามาใช้ได้

“ด้านหลังกั้นเป็นพื้นที่เลี้ยงไก่ไว้กินไข่อีก 10 กว่าตัว อยากกินอะไรก็มีในสวนทั้งหมดค่ะ เดินไปเก็บแป๊บเดียวก็ได้แล้ว”

สวนอินทรีย์บ้านเกิด

FARM STAY SANCTUARY

วิถีเกษตรอินทรีย์ เติมคุณค่าให้ชีวิต

พี่ณี ทิ้งท้ายว่า การหันมาใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรเต็มตัวได้อะไรมากกว่าที่คิดหลายเท่า ที่แน่ๆ คือไม่ได้สบายสโลว์ไลฟ์อย่างที่คิดเลย แต่ช่วยทำให้เธอได้พัฒนาตัวเองในทุกๆ วันและมีทักษะใหม่เป็นวิทยากร ทำหน้าที่ถ่ายทอดประสบการณ์การทำเกษตรอินทรีย์ให้กับผู้ที่สนใจซึ่งแวะมาเยือนสวนแห่งนี้

“ตอนนี้ เปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้ จัดกิจกรรมสั้นๆ ทั้งแบบไปเช้าเย็นกลับ หรือจะค้างคืนเป็นแบบ 2 วัน 1 คืน กิจกรรมให้เลือก 20 กิจกรรม ผู้สนใจแจ้งมาว่าจะลงกิจกรรมไหน เราก็จัดให้ได้ แบ่งเป็นกิจกรรมเกษตร ลงพื้นที่ดูแปลงนา แปลงปลูกผักสวนครัวเหนือดิน การทำปุ๋ยหมัก การทำสมุนไพรไล่แมลง เตรียมดิน เลี้ยงไก่ เพาะเห็ด เพาะต้นอ่อนผักบุ้ง เพาะถั่วงอก

“ถัดมาเป็นกิจกรรมการแปรรูปผลผลิต เช่น ทำน้ำตาลอ้อยอินทรีย์ ทำขนมข้าวต้มมัด  การปลูกผักสลัดตุ้ม การใช้ประโยชน์จากสมุนไพร  ทำน้ำยาบ้วนปากจากสเปียมินท์สดๆ”

อีกหนึ่งทักษะที่ได้เพิ่มเติมมาโดยที่เธอไม่คาดคิดคือการใช้ภาษาอังกฤษ

“พอดีในพื้นที่ใกล้ๆ กันที่ตำบลบ้านยาง มีรุ่นร้องที่ทำฟาร์มสเตย์อยู่แล้ว เขาติดต่อมาว่ามีอาสาสมัครต่างชาติอยากมาทำงานและใช้ชีวิตในสวนเกษตรอินทรีย์ เลยสนใจรับไหม ก็ลองดูตั้งแต่นั้นมาเลยทำให้ได้เจอแต่ชาวต่างชาติแทบทุกวัน ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น เขาสนใจวิถีชีวิตแบบนี้มาทำงานในสวนกันจริงๆ จังๆ ส่วนเราก็ได้เรียนอะไรจากเขาเยอะนะ ภาษาก็ค่อยๆ ดีขึ้นเพราะเราใช้ชีวิตที่สวนด้วยกันนี่ล่ะ”

“พอที่นี่มีอาสาสมัครชาวต่างชาติมาพักและทำงานในสวนต่อเนื่อง เลยทำให้ได้ฝึกภาษาอังกฤษ เราเองเรียนมาแต่พอจบก็ไม่เคยได้ใช้ ปีที่แล้วเพิ่งเปิดเป็นฟาร์มสเตย์ เราต้องรับแขกต่างชาติเอง แรกๆ ก็เกร็งนะ แต่ก่อนนี่ไม่ได้เลยนะ เจอฝรั่งปุ๊บเราจะหลบเพราะพูดกับเขาไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้ก็พอสื่อสารได้บ้างค่ะ”

โลกใบนี้ จะมองว่าแสนกว้างใหญ่หรือเล็กนิดเดียว จะซับซ้อนหรือเรียบง่าย ก็ได้ทั้งนั้น

ประสบการณ์ในสวนแห่งนี้ ทำให้เราเข้าใจว่า ธรรมชาติสามารถนำพาผู้คนกลับมาสู่แนวทางอันจะสร้างความรื่นรมย์ได้ในทุกครั้งไปและ ‘สวรรค์’ หมายถึงพื้นที่แห่งความสุขอาจอยู่ใกล้ๆ…

เพียงแหงนหน้าชมร่มเงาครึ้มของต้นไม้ใหญ่ ยืนรับสายลมเย็น…แค่นี้ก็สุขใจแล้ว

++++++++++++++++++++++++++++++

 

ขอขอบคุณ

ศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่หัวใจอินทรีย์ เลขที่ 95 หมู่ 10 ตำบลทัพหลวง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

การเดินทาง สวนอินทรีย์บ้านเกิด

นั่งรถตู้จากกรุงเทพ-นครปฐม-บางเลน เส้นทางไปมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ลงทางเข้าวัดทุ่งรี อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม แล้วนั่งมอเตอร์ไซค์เข้าไปอีก 10 นาที หรือขับรถจากกรุงเทพฯ ไปถึงศูนย์ฯ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง

ติดต่อ คุณอรุณี พุทธรักษา โทร. 081-665-1374 หรือ FACEBOOK: เกษตรทฤษฎีใหม่ หัวใจอินทรีย์

 

บทความน่าสนใจ

สวนอุ้มฉันท์ จากหนุ่มวิศวะสู่เกษตรกรหน้าใหม่ ท้าท้ายและได้แก้โรค

ลุงไกร เกษตรศิลปินแห่งวังน้ำเขียวกับจิตวิญญาณเกษตรเสรี

เซ็ง แซ่ลี ตามรอยในหลวง ด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ รายได้กว่าเจ็ดหลัก

ปลูกผัก ปลูกสติ “ทำสวนในใจตน” กิจกรรมดี ๆ ที่หมู่บ้านพลัม

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.