อาหารสำหรับผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง อาหารสุขภาพ

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง กินอย่างไรช่วยให้โรคดีขึ้น ปลอดภัย

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง นั้นเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำได้หากขาดการป้องกันและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ซึ่งการรับประทานอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสม จะช่วยควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคซ้ำได้ วันนี้เราขอนำข้อมูลจากฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลศิริราช มาแนะนำการกิน อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ค่ะ

อาหารสำหรับผู้ป้วยโรคหลอดเลือดสมอง

การรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
โรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกิน จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง จากตารางเทียบดัชนีมวลกายข้างต้น เป็นตัวชี้วัดว่าน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ หากมีน้ำหนักตัวเกินหรือภาวะอ้วน ควรจำกัดการบริโภคอาหาร โดยหลีกเลี่ยงอาหารในกลุ่มที่ให้พลังงานสูง เช่น  อาหารที่มีแป้งและน้ำตาล  หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัด อาหารไขมันสูง หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแกงกะทิ และ ของทอด เป็นต้น

ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง
ควรควบคุมอาหารที่จะส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เนื่องจากหากมีภาวะความดันโลหิตสูง อาจส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำได้ การบริโภคอาหารเพื่อป้องกันภาวะความดันโลหิตสูง มีดังนี้
1. ลดเค็มจำกัดการรับประทานโซเดียมไม่เกินวันละ 2,300 มิลลิกรัม  โดยการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง  เช่น  อาหารหมักดอง  อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง เครื่องปรุงรสต่างๆ  เช่น เกลือ น้ำปลา  ซอสปรุงรส
2. รับประทานผักผลไม้ให้หลากหลาย เป็นประจำทุกวัน

อัมพฤกษ์ – อัมพาต, อัมพฤกษ์, อัมพาต, โรคหลอดเลือดสมอง

ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง
อาหารประเภทไขมันมีความจำเป็นสำหรับร่างกาย เนื่องจากให้พลังงานและช่วยในการดูดซึมวิตามินต่างๆ เราจึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารประเภทไขมัน แต่ปริมาณไขมันที่ได้รับไม่ควรเกิน ร้อยละ 25 –30 ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับจากสารอาหารเพราะเมื่อรับประทานมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ จะทำให้เกิดโรคอ้วนและภาวะไขมันในเลือดสูงได้ แนวทางในการบริโภคอาหาร เพื่อลดปริมาณไขมันในเลือด มีดังนี้
1. หลีกเลี่ยงหรือลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันหมู หมูสามชั้น  เนย ครีม  น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม อาหารที่ทำจากกะทิ เพราะกรดไขมันอิ่มตัวส่วนใหญ่ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น
2. จำกัดปริมาณคอเรสเตอรอลในอาหารไม่เกิน วันละ 300 มิลลิกรัม
– รับประทานไข่แดงไม่เกินสัปดาห์ละ 3 ฟอง
– หลีกเลี่ยงเครื่องในสัตว์ทุกชนิด
– หลีกเลี่ยงอาหารทะเลบางชนิด เช่น กุ้ง ปลาหมึก หอยนางรม
– เลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ  เช่นปลา เนื้อไก่ไม่ติดหนัง  เต้าหู้
– เลือกดื่มนมพร่องมันเนย หรือ นมไขมันต่ำ
3. เลือกวิธีการปรุงอาหารที่ใช้ไขมันน้อย  เช่น  ต้ม ตุ๋น นึ่ง อบ ย่าง ยำ แทนการทอดหรือผัด ซึ่งใช้น้ำมันในปริมาณมาก
4. รับประทานไขมันไม่อิ่มตัวในปริมาณที่พอเหมาะ เช่น ใช้น้ำมันพืชในการประกอบอาหารแทนการใช้น้ำมันจากสัตว์ ซึ่งน้ำมันพืชที่ดี คือ น้ำมันมะกอก รองลงมาคือ น้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันรำข้าว แต่ต้องเลือกใช้น้ำมันให้เหมาะสมกับวิธีการปรุงประกอบ เช่น  น้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันรำข้าวเหมาะสมกับการผัด  ส่วนน้ำมันปาล์มเหมาะสมกับการทอดเพราะมีจุดเกิดควันสูง สามารถทอดอาหารได้กรอบแต่ควรใช้เพียงครั้งเดียว (ไม่ควรใช้น้ำมันในการทอดอาหารซ้ำ)
5. รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงเช่น ผัก  ผลไม้ ข้าวซ้อมมือ ถั่วเมล็ดแห้ง  เนื่องจากใยอาหารจะช่วยลดการดูดซึมไขมันได้
6. หลีกเลี่ยงน้ำหวาน ขนมหวานทุกชนิดที่หวานมีน้ำตาลหรือแป้งมาก รับประทานข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปังแต่พอสมควร รวมถึงการหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพราะจะสะสมเกิดเป็นไขมันได้

ผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือโรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน  เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลกลูโคสในเลือดไปใช้ได้อย่างเหมาะสม  ซึ่งอาหารที่รับประทานเข้าไป จะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคส  ถ้ารับประทานอาหารมากเกินไปน้ำตาลที่นำไปใช้ไม่หมดจะสะสมอยู่ในกระแสเลือด ถ้ามีมากก็จะออกมาในปัสสาวะได้  ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดแดงตีบมากกว่าปกติซึ่งโรคดังกล่าวนั้นก็จะส่งผลให้เป็นโรคหลอดเลือดสมองซ้ำได้ หลักในการเลือกรับประทานอาหารสำหรับคนเบาหวานดังนี้

  1. รับประทานอาหารให้หลากหลาย และรับประทานให้เป็นเวลา
  2. หลีกเลี่ยงของหวานและอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาล
  3. รับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่มีใยอาหารมากขึ้น  เช่น  ข้าวซ้อมมือ  ขนมปังโฮลวีต

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

          –  อาหารที่มีรสหวานจัด ขนมหวาน  น้ำตาลทุกชนิด

          –  ผลไม้รสหวานจัด  เช่น  ทุเรียน

          – น้ำหวาน  ลูกอม  ลูกกวาด  น้ำอัดลม

ข้อมูลจาก ฝ่ายโภชนาการ รพ.ศิริราช Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

สังเกตอาการอย่างไร เมื่อผู้สูงวัยเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง?

ผู้สูงอายุป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ดูแลควรต้องมีความเข้าใจ!

สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมอง สู่ อัมพาตในผู้สูงวัย!

8 อาหารฟิตหัวใจ ช่วยต้าน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.