โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ รูมาตอยด์ โรคข้อ ข้อเข่า ข้อต่อ

โรคแทรกซ้อนจาก รูมาตอยด์

หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะโรคแทรกซ้อน

วิธีลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนเหล่านี้ ปัจจัยหนึ่งที่ผู้ป่วยต้องให้ความสำคัญคือ ต้องพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคให้เร็ว และดูแลสุขภาพเพื่อไม่ให้ภูมิคุ้มกันร่างกายตก ต้องควบคุมการอักเสบของโรคให้อยู่ในภาวะปกติ และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ก่อให้อาการของโรคกำเริบขึ้น เมื่อปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดจะสามารถลดความเสี่ยงของอาการโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งมีข้อปฏิบัติ ดังนี้

  1. เมื่อป่วยเป็นข้ออักเสบรูมาตอยด์แล้ว คนไข้ต้องพบแพทย์ตามกำหนดและอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้แพทย์รักษาอาการได้อย่างต่อเนื่อง
  2. ควรกินยาให้ครบเพื่อควบคุมการอักเสบของโรคให้อยู่ในภาวะปกติ
  3. งดสูบบุหรี่ มีงานวิจัยระบุว่า การสูดดมสารเคมีจากบุหรี่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย
  4. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการดื่มเหล้า เบียร์ หรือแม้แต่ไวน์ในปริมาณวันละ 3 แก้ว มีโอกาสทำให้เป็นโรคกระดูกพรุนเร็วขึ้น
  5. หมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี และสามารถตรวจสอบอาการบวมร้อนในข้อต่อได้เมื่อมีอาการปวดอักเสบติดต่อกัน โดยวิธีการตรวจเลือด การตรวจแอนติบอดีชนิด Anti-Cyclic Citrullinated Peptide (Anti-CCP)
  6. ควบคุมคอเลสเตอรอลในเลือดไม่ให้สูงเกินและควบคุมน้ำหนักตัว ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงในการพัฒนาเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา
  7. ควรออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเลือกประเภทการออกกำลังกายที่เหมาะสมเพื่อเสริมความแข็งแรงของกระดูกและข้อต่อ
  8. กินอาหารครบ 5 หมู่ กินสารอาหารที่มีประโยชน์ การขาดสารอาหารจำเป็นนอกจากทำให้ร่างกายเสียสมดุลแล้ว ร่างกายยังขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างมวลกระดูกอีกด้วย โดยเฉพาะแคลเซียม วิตามินดี และโปรตีน
  9. กินแคลเซียมในปริมาณที่ร่างกายต้องการ หากได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอร่างกายจะดึงแคลเซียมที่สะสมอยู่ในกระดูกออกมาใช้ สำหรับอาหารจากธรรมชาติควรกินสัตว์เล็กที่กินได้ทั้งกระดูกหรือเปลือก เช่น ปลาซิว ปลาเกล็ดขาว ปลาไส้ตัน กุ้งฝอย กุ้งแห้ง ส่วนถ้าเลือกกินเป็นวิตามิน ควรกินแคลเซียมไม่เกินวันละ 1,000 มิลลิกรัม
  10. รับวิตามินดีให้เพียงพอ ให้ร่างกายได้รับแสงแดด เพื่อให้ผิวหนังสร้างวิตามินดีซึ่งจะช่วยให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้ดียิ่งขึ้นด้วย มีงานวิจัยระบุว่า การรับแสงแดดเพียงวันละประมาณ 30 นาที ผิวหนังจะสามารถสร้างวิตามินดีให้กับร่างกายได้ถึง 200 ยูนิต โดยเฉพาะช่วงเวลา 8.00 น. – 10.00 น. และ 15.00 น. – 17.00 น.

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ รูมาตอยด์ โรคข้อ ข้อเข่า ข้อต่อ

ถึงแม้โรครูมาตอยด์อักเสบจะไม่มีทางรักษาให้หายขาด แต่ก็ไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอย่างที่คิด ถ้าเรารู้และพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการอย่างรวดเร็วและควบคุมอาการของโรคให้อยู่ในภาวะปกติ เพื่อลดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อและข้อต่อ และลดการเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรง

เพราะฉะนั้นเรื่องของการดูแลใส่ใจสุขภาพนั้นสำคัญมาก โรคนั้นเกิดได้และสามารถรักษาอาการได้ค่ะ ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ยังสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

 

แพทย์หญิงสุมาภา ชัยอำนวย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อ

ข้อมูลจาก คอลัมน์ HAPPY BONE นิตยสารชีวจิต ฉบับ 506


บทความน่าสนใจอื่นๆ

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์รักษาได้ด้วยการออกกำลังกาย

ประสบการณ์สุขภาพบอกลารูมาตอยด์ ด้วยรำกระบองแบบชีวจิต

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.