กระดูกพัง ประสบการณ์สุขภาพ กระดูก

5 ประสบการณ์ กระดูกพัง ด้วยพฤติกรรมประจำวันผิด ๆ

ทำงานหนักเกินพอดีกว่าจะรู้ก็เกือบสาย

คุณบุญ อายุ 65 ปี เป็นข้าราชการบำนาญที่ทำงานหนักมาตลอดชีวิต จนเมื่ออายุ 55 ปี แพทย์ก็ได้แจ้งว่า เธอมีการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และแนะนำให้ผ่าตัดกระดูกสันหลังเพื่อแก้อาการปวดรุนแรงที่เธอกำลังเผชิญอยู่

“ตอนนั้นลูกๆ 3 คนทยอยกันเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยรายจ่ายจึงค่อนข้างเยอะ ฉันกับสามีจึงต้องทำอาชีพเสริมเพื่อหารายได้เพิ่มจากเงินเดือนประจำ ทั้งทำขนมส่งขายร้านขนมในอำเภอและเปิดแผงลอยขายต้นไม้ตามตลาดนัดใหญ่ๆ ในวันหยุดสุดสัปดาห์งานเหล่านี้ทำให้ฉันต้องยกของหนักเกินกำลังของร่างกายอยู่เสมอทั้งถาดขนมหนักๆ หรือกระถางต้นไม้

“หลังเสร็จงานในแต่ละวันฉันมักมีอาการปวดหลังเริ่มจากปวดตึงก่อนจากนั้นระดับความปวดก็มากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มปวดเรื้อรังต่อเนื่องแต่ฉันก็ฝืนทนทำงานต่อโดยไม่สนใจตัวเอง ฉันทำงานหนักอย่างนั้นอยู่ 7 – 8 ปีจนลูกๆ เรียนจบหมด ฉันจึงเลิกทำขนมส่ง แต่ยังปลูกต้นไม้ขายส่งตามร้านต้นไม้ในตลาดเช่นเดิม เพราะอยากเก็บเงินให้ได้เยอะๆ

“เพียง 2 – 3 ปีหลังจากนั้นอาการปวดหลังของฉันก็รุนแรงขึ้น คือปวดจนไม่สามารถยืนหรือนั่งทำงานนานๆ ได้เลย ต้องล้มตัวลงนอนราบทุกครั้งที่มีโอกาส เมื่อไปพบหมอจึงทราบว่ามีอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทบริเวณกระดูกสันหลังข้อที่ 5 และ 6 คุณหมอแนะนำให้ผ่าตัด ตอนแรกฉันไม่กล้าผ่า แต่เมื่อปวดมากเข้าก็ทนไม่ไหว ยอมเข้ารับการผ่าตัดค่ะ”

หลังจากผ่าตัดได้ 10 วัน แพทย์ให้คุณบุญกลับมาพักฟื้นต่อที่บ้านแต่เนื่องจากเธอมีภาวะกระดูกสันหลังเสื่อมร่วมด้วย แพทย์จึงแนะนำให้เธอพักฟื้นต่อเนื่องนาน 6 เดือน และสวมเครื่องพยุงหลังสม่ำเสมอ เมื่อต้องนั่งหรือยืนนานๆ

 

กระดูกพัง ประสบการณ์สุขภาพ กระดูก

 

“สำหรับฉันสัปดาห์แรกของการพักฟื้นร่างกายนั้นทรมานอย่างยิ่ง เพราะคุณหมอแนะนำให้นอนราบเป็นหลัก และต้องเปลี่ยนอิริยาบถทุก 1 – 2 ชั่วโมง ที่สำคัญ ลุกขึ้นนั่งได้บ้างนานๆ ครั้งเมื่อเข้าห้องน้ำ รับประทานอาหาร และต้องสวมอุปกรณ์พยุงหลังด้วย แต่ฉันเคยชินกับการทำงานต่อเนื่องตลอดเวลาจึงไม่ชินกับการนอนเฉยๆ ถึงอย่างนั้นฉันก็อยากหายเร็วๆ จึงทำตามที่หมอแนะนำค่ะ”

เข้าสู่เดือนที่ 2 – 3 คุณบุญนั่งได้นานขึ้นโดยสวมอุปกรณ์พยุงหลังเสมอ แต่หมอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการก้มตัว แอ่นตัวยกของหนัก หรือเดินทางไกล เพราะแรงสั่นสะเทือนจากการเดินทางจะส่งผลเสียต่อกระดูกสันหลังที่เพิ่งรับการผ่าตัด รวมถึงแพทย์แนะนำให้ออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำเป็นประจำ สุขภาพของเธอจึงค่อยๆ ดีขึ้น

“หลังจากทำตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด อาการปวดจากแผลผ่าตัดก็ดีขึ้น ส่วนอาการปวดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแทบจะหายขาดทีเดียวค่ะ มีเฉพาะบางวันที่เรานั่งหรือยืนมากไปก็จะเริ่มปวดอีก เป็นสัญญาณเตือนให้ฉันพักงานที่ทำอยู่ทันทีเพื่อไม่ให้อาการเก่าๆ กลับมาอีก”

แต่ผ่านไป 5 ปีหลังการผ่าตัด คุณบุญก็เริ่มกลับมาปวดหลังอีก ซึ่งเธอเองก็รู้สาเหตุเป็นอย่างดี

“ฉันดูแลร่างกายตามคำแนะนำของหมออยู่ 3 – 4 ปี หลังจากนั้นพอเห็นว่าอาการดีขึ้นมากก็เลยกลับไปปลูกต้นไม้ขายส่งอีกเพราะเห็นว่ารายได้ดี และเราเองก็แข็งแรงแล้ว ผลคือ เพียงปีกว่าๆ อาการปวดหลังก็เริ่มกลับมาอีก เมื่อไปพบคุณหมอก็โดนบ่นใหญ่เลย และท่านได้ชี้ให้ฉันเข้าใจว่า อาการที่ฉันเป็นอยู่คือความเสื่อมถาวรที่แก้ไม่หายขาด ทำได้เพียงดูแลตัวเองอย่างระมัดระวังไปตลอดชีวิต

“ฟังคุณหมอพูดฉันจึงถึงบางอ้อว่า พฤติกรรมการทำงานหนักเกินโดยไม่สนใจข้อจำกัดของร่างกายอย่างต่อเนื่องนั้นส่งผลเสียในระยะยาว และจากนี้ฉันคงกลับไปทำงานหนักเท่าเดิมไม่ได้อีก

“แม้จะเสียดายรายได้จากการปลูกต้นไม้ขายส่ง แต่คิดว่าการมีสุขภาพแข็งแรงเพื่อจะได้อยู่กับลูกๆ และหลานๆ ไปนานๆ นั้นสำคัญกว่า ฉันจึงพยายามไม่ทำงานหนักหรือฝืนยกของหนักเกินกำลังจากนั้นอาการปวดหลังรุนแรงก็แทบไม่ปรากฏอีกเลยค่ะ”

เรื่องเล่าของคุณบุญน่าจะเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีของการฝืนใช้ร่างกายเกินจำเป็นจนเจ็บป่วย ซึ่งคงช่วยให้คุณผู้อ่านหลายคนที่ประสบปัญหาเดียวกัน เพิ่มความระมัดระวังและใส่ใจกับการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้นนะคะ

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 4 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.