กระดูกพัง ประสบการณ์สุขภาพ กระดูก

5 ประสบการณ์ กระดูกพัง ด้วยพฤติกรรมประจำวันผิด ๆ

ขับขี่ด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะสมส่งผลร้ายในระยะยาว

คุณปืน อายุ 37 ปี ขับมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างติดต่อกันมานานกว่า 8 ปี โดยไม่ทราบเลยว่า น้ำหนักที่ไม่สมดุลของทรงมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง ทำให้ผู้ขับขี่ต้องใช้กล้ามเนื้อในการประคองสมดุลของตัวรถมากกว่าปกติ ซึ่งส่งผลต่อกระดูกสันหลังในระยะยาว

“ผมทำงานขับรถส่งนมและนมเปรี้ยวให้ร้านค้าปลีกและลูกค้าริมทาง วันหนึ่งๆ ต้องขับรถติดต่อกันนานกว่า 6 ชั่วโมง จนเมื่อเกือบ 2 ปีก่อนผมมีอาการปวดตึงบริเวณบั้นเอว จากนั้นก็เริ่มปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ลามไปสู่หลังส่วนบน หรือบางวันก็ปวดชาแขนขาร่วมด้วย วันไหนชาหนักก็มักจะรู้สึกขาอ่อนแรง

“ทีแรกก็นึกว่าคงยกของหนักมากไปจนกล้ามเนื้อหลังบาดเจ็บ แต่เมื่อนอนพัก 5 – 7 วันก็ไม่หาย จึงตัดสินใจไปตรวจกับแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อหลัง จากแพทย์ซักประวัติเพิ่มเติมจนทราบอาชีพและรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันจึงสันนิษฐานว่า อาการดังกล่าวเกิดจากภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทในระยะต้น เนื่องจากการขับรถในท่าเดิมเป็นเวลานาน

“คุณหมอบอกว่า เนื่องจากอาการยังเป็นในระยะเริ่มต้น จึงไม่แนะนำให้ผ่าตัดแต่ต้องกลับมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตอย่างถาวรครับ”

คุณปืนเริ่มจากการปรับเปลี่ยนวิธีการขับรถของตนเองก่อน

“เนื่องจากเราเปลี่ยนงานไม่ได้ จึงต้องหาทางปรับพฤติกรรมการขับรถของเราให้เหมาะสม โดยเน้นแก้ที่สาเหตุเป็นหลัก วิธีการแรกคือ การใช้อุปกรณ์พยุงหลังซึ่งได้รับจากโรงพยาบาลมาสวมเวลาขับรถ แต่ด้วยความที่สวมนานจะรู้สึกอึดอัด จึงสวมเป็นระยะสั้นๆ ครั้งละ 2 – 3 ชั่วโมงแล้วถอดเพื่อผ่อนคลายเป็นระยะๆ วิธีที่สองคือ เปลี่ยนอิริยาบถในระหว่างขับรถให้บ่อยขึ้น และจอดพักรถเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถด้วยการยืนหรือเดินทุกๆ 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมงครับ”

 

กระดูกพัง ประสบการณ์สุขภาพ กระดูก

นอกจากนี้คุณปืนยังออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังเพิ่มขึ้น อีกทั้งคอยสังเกตสัญญาณเตือนต่างๆ ของร่างกาย เพราะไม่อยากรู้ตัวเมื่อสายอย่างเก่า

“จากเดิมที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย เพราะคิดว่าในแต่ละวันทำงานหนักเพียงพอแล้ว ผมก็พยายามหาเวลาไปโรงยิมใกล้บ้านเพื่อออกกำลังกายบริหารหลังทั้งส่วนล่างและส่วนบนให้แข็งแรงยิ่งขึ้น

“นอกจากนี้หากเริ่มมีพฤติกรรมแบบเดิมๆ จนเกิดอาการปวดหลังอีก เมื่อไรที่มีสัญญาณเตือนจากร่างกาย เช่น อาการขาอ่อนแรงหรือความรู้สึกเจ็บแปลบกะทันหัน ผมจะเริ่มทบทวนว่า เรามีพฤติกรรมอะไรไม่เหมาะสมบ้าง และพยายามปรับการดำเนินชีวิตให้สมดุลขึ้นครับ จะได้ไม่ทำให้อาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการผ่าตัด

“ทุกวันนี้ผมก็ยังคงขับรถพ่วงข้างส่งนมต่อ แต่เพื่อป้องกันไม่ให้บาดเจ็บอีก ผมจะพยายามดูแลตัวเองมากขึ้น ทำแบบที่กล่าวมา อาการปวดหลังก็ค่อยๆ ดีขึ้นครับ”

นี่เป็นอีกตัวอย่างที่ดีในการปรับตัวเพื่อรับมือกับอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับร่างกายค่ะ

 

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 3 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.