ตรวจภายใน ตรวจสุขภาพ สุขภาพผู้หญิง อวัยวะของผู้หญิง มดลูก ช่องคลอด มะเร็ง

ตรวจภายใน เรื่องสำคัญที่คุณผู้หญิงทุกคน ควรตรวจ

ใครบ้างที่ควรตรวจแปปสเมียร์

แน่นอนว่าต้องเป็นผู้หญิง แต่ในปัจจุบันเรามีการตรวจแปปสเมียร์ทางทวารหนักของชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายด้วย เพราะมะเร็งทวารหนักสามารถเกิดจากเชื้อไวรัสตัวเดียวกับมะเร็งปากมดลูกได้

– ผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย นับถัดมาอีก 3 ปี จำเป็นต้องเริ่มรับการตรวจแปปสเมียร์ครั้งแรก

– ผู้หญิงที่มีอายุครบ 21 ปี ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ มีสามี หรือมีคู่นอน จำเป็นต้องเริ่มรับการตรวจแปปสเมียร์เป็นครั้งแรก

– ผู้หญิงที่มีอายุ 21 – 29 ปี ควรได้รับการตรวจแปปสเมียร์ ทุก 3 ปี ถ้าผลตรวจล่าสุดออกมาเป็นปกติ (Negative)

– ผู้หญิงที่มีอายุ 30 – 65 ปี ควรได้รับการตรวจแปปสเมียร์ ร่วมกับการตรวจหาเชื้อเอชพีวี (HPV) ทุก 5 ปี ถ้าผลการตรวจออกมาเป็นปกติ (Negative) โอกาสที่จะเป็นมะเร็งใน 3 – 5 ปีถัดไปนั้นจะมีน้อยมาก จึงสามารถเว้นการตรวจได้นาน 3 – 5 ปี (แต่ถ้าเลือกตรวจแปปสเมียร์เพียงอย่างเดียวให้ตรวจทุก 3 ปี)

– ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก เช่น มีการติดเชื้อเอชพีวี ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ติดเชื้อหรือมีคู่นอนที่ติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD) เช่น ซิฟิลิส โกโนเรีย ฯลฯ มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น จากการปลูกถ่ายอวัยวะ การได้รับยาเคมีบำบัด เป็นโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ) ได้ใช้ยาฮอร์โมนเพศชนิด Diethylstillbestrol (DES) เพื่อป้องกันการแท้งบุตร หรือมีมารดาใช้ยานี้ในขณะตั้งครรภ์ (พบได้น้อยมากในปัจจุบัน) ตั้งครรภ์และคลอดบุตรในขณะยังติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ติดบุหรี่ มีเพศมันพันธ์ครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย มีหรือเคยมีคู่นอนหลายคน คู่นอนมีแฟนหลายคน

– ผู้หญิงที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือเคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหรือเสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูก อาจต้องได้รับการตรวจบ่อยครั้งขึ้น โดยแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจแปปสเมียร์ปีละ 2 ครั้งในปีแรก หลังจากนั้นอาจเป็นทุก 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปีขึ้นกับผลการตรวจและดุลพินิจของแพทย์

– ผู้หญิงที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปที่ได้รับการตรวจแปปสเมียร์อย่างสม่ำเสมอในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือผลตรวจ 3 ครั้งสุดท้ายต่อเนื่องกันได้ผลออกมาเป็นปกติ (Negative) ทุกครั้ง กรณีแบบนี้แพทย์จะแนะนำให้ยุติการตรวจแปปสเมียร์ไปตลอดชีวิต

– ผู้หญิงที่ได้รับการผ่าตัดปากมดลูกออกไปอย่างสมบูรณ์เพื่อรักษาโรคที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น เนื้องอกมดลูก ในกรณีนี้แพทย์อาจให้ยุติการตรวจแปปสเมียร์ไปตลอดชีวิต (แต่ถ้ายังเหลือปากมดลูกอยู่ก็ต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไปตามปกติ)

 

ตรวจภายใน ตรวจสุขภาพ สุขภาพผู้หญิง อวัยวะของผู้หญิง มดลูก ช่องคลอด มะเร็ง

คำแนะนำก่อนตรวจแปปสเมียร์

– ห้ามสวนล้างภายในช่องคลอดหรือใช้น้ำยาใดๆ ฉีดลึกและล้างเข้าไปภายในช่องคลอดก่อนการตรวจแปปสเมียร์ในช่วงระยะเวลา 2 วัน หรือ 48 ชั่วโมง แม้ว่าน้ำยานั้นๆ จะมีไว้เพื่อการล้างช่องคลอดก็ตาม (ล้างด้วยน้ำสะอาดตามปกติ เพื่อให้คุณหมอได้คุ้นเคยกับธรรมชาติของช่องคลอดและกลิ่นปกติ)

– ห้ามอาบน้ำด้วยวิธีการลงไปนอนแช่ในอ่างอาบน้ำ หรือลงเล่นน้ำในคลองก่อนตรวจ 24 ชั่วโมง เนื่องจากแบคทีเรียอาจหลุดเข้าไปในช่องคลอดได้ อาจทำให้ผลการตรวจพบแบคทีเรียบางชนิดเพิ่มขึ้นผิดไปจากความเป็นจริงได้

– งดมีเพศสัมพันธ์ในช่วงระยะเวลา 48 ชั่วโมง ก่อนการตรวจแปปสเมียร์เนื่องจากอาจมีตัวอสุจิตกค้างอยู่จนทำให้ยุ่งยากต่อการตรวจ

– งดใช้ยาเหน็บช่องคลอดทุกประเภท รวมถึงครีม ยาฆ่าเชื้ออสุจิ และผ้าอนามัยแบบสอดเข้าไปในช่องคลอดก่อนการตรวจ 48 ชั่วโมง

– ควรนัดตรวจแปปสเมียร์ในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน โดยวันที่เหมาะสมสำหรับการตรวจ คือ ระหว่างวันที่ 10 – 20 นับจากวันที่ 1 คือ วันที่เริ่มต้นการมีประจำเดือน

 

 

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 5 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.