พญ.นันทกา เทพาอมรเดช

ศัลยแพทย์ผู้เสียสละแห่งแดนใต้ “พญ.นันทกา เทพาอมรเดช”

การเป็นนักเรียนแพทย์กับการเป็นแพทย์แตกต่างกันอย่างไร

ตอนเรียนแพทย์เราเรียนเพื่อสอบ เรียน ๆ ท่องตามตำรา แพทย์เรียนหกปี สามปีเขาจะเรียกว่าพรีคลีนิก ก็คือเรียนวิทยาศาสตร์ แต่พอจบมาเป็นหมอนี่คืออีกเรื่องหนึ่งเลย เหมือนเราต้องมองที่ความเป็นจริง อย่างโรคเบาหวาน ตอนที่เรียนเราตามตำรา เบาหวานขึ้นเท่านี้ ให้ยาเท่านี้ คนไข้ต้องกินแบบนี้ แต่พอเรามาเจอจริงตอนเป็นหมอ ทำไมคุณป้าคนนี้เบาหวานสูงตลอด ควบคุมน้ำตาลไม่ได้ เราต้องตามไปดูที่บ้านว่าที่บ้านเขากินแบบไหน เราต้องอธิบายเขา บางทีเขาขาดยา ไม่ใช่ว่าเขาขี้เกียจกินยาหรือกินยาไม่ครบ แต่ความจริงคือเขาไม่สะดวก มาโรงพยาบาลไม่ได้ ก็จะมีหลายเหตุผลที่ต่างกันไป มันก็จะไม่เหมือนกับที่เราเรียนมา ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในแต่ละเคสไป

ที่นี่มีนักศึกษาแพทย์ไหม

มีค่ะ ปีหนึ่ง ประมาณสามสิบคน เขาจะวนกันเข้ามา แบ่งกลุ่มเป็นสามหรือสี่กลุ่ม

คุณหมอได้สอนนักศึกษาแพทย์ไหม

สอนค่ะ สอนปีสี่กับปีห้า เขาจะมีตารางของเขาว่าปีหนึ่งต้องเข้าห้องผ่าสองอาทิตย์ มันจะมีช่วงที่เขาวนมาอยู่ที่ห้องผ่าตัด นอกจากนักศึกษาแพทย์แล้ว ต้องสอนพยาบาลด้วย ที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนียะลาจะมีหลักสูตรของระบบประสาท ปีหนึ่ง ปีสอง ปีสาม ปีหนึ่งหมอจะเข้าไปสอนครั้งหนึ่ง ๕ – ๖ ชั่วโมง เป็นหนึ่งในรายวิชาที่พยาบาลต้องเรียน

เคสใหญ่ ๆ ที่คุณหมอเคยเจอ ผ่านานสุดกี่ชั่วโมง

อย่างเคสใหญ่ เช่น เนื้องอกในสมองก็จะผ่าตั้งแต่ ๙.๐๐ น. จนถึง ๑๙.๐๐ น.  ก็มีคล้าย ๆ กับที่อื่นค่ะ ที่โรงพยาบาลจุฬา ฯ หรือโรงพยาบาลศิริราช ถ้าเคสใหญ่ก็จะใช้เวลานานเป็นปกติค่ะ ไม่ต้องตกใจ (หัวเราะ)

อย่างที่คลินิกของคุณหมอ คนไข้บอกว่าคนเยอะมาก ต้องต่อแถวยาวไปถึงถนน ต้องรอคิวหลายวันจริงไหม

( หัวเราะ ) ไม่จริง เว่อร์แล้ว

มีคนไข้ที่คุณหมอไม่เก็บค่ารักษาไหม

มีบ้างค่ะ แต่น้อยมาก อย่างที่คลินิกจะมีพี่ที่อยู่หน้าร้าน เป็นพยาบาล ชื่อพี่แป๊ด บางทีเวลามาตรวจ คนไข้ก็จะเอาของมาฝากหิ้วลองกองมา กิโลละไม่กี่บาท สมมติหิ้วมาห้าโล กิโลละสามสิบบาทก็ตีไปร้อยห้าสิบบาท พอมาหาหมอแล้วต้องมีค่ายาอีกสี่ถึงห้าร้อยบาทเราก็เก็บค่ารักษาไม่ลง ก็จะเขียนบอกพี่แป๊ดว่าไม่เก็บตัง คนไข้เอาลองกองมา ( หัวเราะ )  เขียนใว้ใน OPD การ์ด แล้วพี่แป๊ดก็จะบอกว่านี่ลองกองกี่บาทเนี่ย หมอก็จะบอกว่า เออ ช่างมันเถอะ เขาหิ้วมา เขาหนัก อย่างคนไข้บางคนที่หายแล้ว แต่ก็ยังอยากมาคลินิก บอกว่าแค่มาคุยกับคุณหมอก็พอ หมอก็จะบอกว่าไม่ต้องมา ๆ คนไข้เยอะแล้วไม่ต้องมา ( หัวเราะ ) บางคนแค่เดินผ่าหน้าร้านก็ซื้อของแล้วเอามาฝากใว้ มาวางใว้ให้ บอกไม่อยากกวนคุณหมอ คนไข้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบนี้

อย่างมีคุณป้าที่เป็นแม่ค้าขายกับข้าวอยู่คนหนึ่ง แกจะหิ้วแกงส้มมาฝาก แกงส้มปลากะพงตัวเบ้อเริ่มเลย หม้อหนึ่งนี่ตั้งสี่ห้าร้อยตั้งหลายบาท แล้วเอามาให้เรา ยกหม้อแกงส้มแล้วมาบอกว่า ฝากให้คุณหมอด้วยแล้วอีกสองวันจะมาเอาหม้อคืน ( หัวเราะ )

พญ.นันทกา เทพาอมรเดช

ต้นแบบในชีวิตการทำงานของคุณหมอคืออะไร

คุณหมอประชาเลยค่ะค่ะ ตอนที่ท่านอยู่ที่นี่คนเดียวก็เห็นท่านทำงานดึก ๆ ดื่น ๆ ช่วงที่หมอมาใหม่ ๆ เราก็ผ่าทั้งวัน แทบจะไม่ได้ออกไปดูคนไข้ในตึกเลย เพราะว่าต้องอยู่ห้องผ่าตัดอย่างเดียว ซึ่งถ้าถามว่าในเวลาราชการ ๑๖.๓๐ น. ให้เราผ่าตัดและดูแลคนไข้ในตึกด้วย เราทำไม่ทันอยู่แล้ว พอคุณหมอประชาผ่าตัดเสร็จ ๑๗.๓๐ น. ก็จะไปเปิดคลินิก ถึงสามทุ่มท่านก็เลิก แล้วเราก็มาตรวจคนไข้พร้อมท่าน ห้าทุ่มถึงจะเสร็จนั่นคืองานประจำที่ทำทุกวัน ก็เลยติดนิสัยท่านมาจนถึงทุกวันนี้

ทางครอบครัว อย่างคุณแม่มีห่วงหรือบอกให้กลับไปทำงานที่บ้านไหม

ก็จะมีช่วงแรก ๆ เพราะช่วงแรกบอกเขาไว้ว่าจะกลับไปทำงานที่ รามา ฯ  (โรงพยาบาลรามาธิบดี ) สามปี เพราะอาจารย์ที่รามา ฯ บอกว่าพอเราเรียนจบปุ๊บ มาเป็นอาจารย์ที่รามา ฯ  เลยไหม ถ้าจบสมัยนั้นก็คือต้องใช้ทุนหนึ่งล้านบาท ถ้าเราได้กลับมาอยู่กระทรวงสาธารณสุขต้องใช้ทุนคือหมอก็ไม่ได้รวย ( หัวเราะ )

คุณหมอบอกว่าคุณแม่เป็นมะเร็ง ตอนที่ตรวจเจอมะเร็งของคุณแม่รู้สึกอย่างไร

ตอนนี้คุณแม่อายุแปดสิบปีแล้ว ตอนที่เป็นมะเร็งคือคุณแม่อายุเจ็ดสิบห้า เป็นมะเร็งเม็ดเลือด แต่ไม่กระจาย คุณแม่อยู่ตรัง แม่ก็บ่นว่า ปวดเมื่อย ปวดท้อง หมออยู่ที่ยะลาก็ได้แต่บอกว่าแม่ไปหาหมอสิ ส่องกล้องทำนู่นทำนี่แล้วก็ไม่เจออะไร งั้นแม่มาที่ยะลาแล้วกัน ก็เลยได้ตรวจแม่ตอนนั้นท่านปวดหลัง ก็เลยให้หมอดูหลัง เอาแม่ไปทำ MRI พอทำปุ๊บ อ้าวตายแล้ว เจอเข้าแม่ตัวเอง

หลังจากตรวจเจอก็ต้องบอกท่าน ก็ถามท่านว่าเอาไหม สู้ไหม รอดูผลชิ้นเนื้อ ถ้าต้องให้คีโม ถ้าทำไหวก็สู้ แต่ก็คิดว่าถ้าต้องให้คีโมก็ต้องทรมาณ แต่ตอนนั้นคุณแม่ก็แล้วแต่เรา แต่สำหรับเรา แม่สำคัญที่สุด หมอมีพี่น้องทั้งหมดสี่คน หมอเป็นคนที่สอง พี่ ๆ น้อง ๆ ก็แล้วแต่แม่หมดเลย หลังจากนั้นก็รักษามาเรื่อย ๆค่ะ ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว

อ่านต่อหน้าถัดไป

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.