ชวนทำความรู้จัก โรคจอประสาทตาเสื่อม หรือ AMD กันเถอะ

โรคจอประสาทตาเสื่อม ใกล้ตัวคุณ

โรคจอประสาทตาเสื่อม (Age-related Macular Degeneration) หรือเรียกย่อๆว่าเอเอ็มดี ที่ทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง
อย่างช้าๆ และเป็นโรคตาที่พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ

ใครบ้างที่มีโอกาสเป็นโรคนี้

แม้ในปัจจุบันจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าโรคนี้เกิดจากอะไร แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายๆประการ โดยล่าสุด นายแพทย์เทียนชัย เมธานพคุณ และนายแพทย์ธนาพงษ์ สมกิจรุ่งโรจน์ จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาจอประสาทตาและน้ำวุ้นตา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สรุปถึงปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดของโรคเอเอ็มดีไว้ในการประชุมเชิงปฏิบัติการของภาควิชา
จักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเดือนตุลาคม ปีพ.ศ. 2556 ดังนี้

• อายุ : พบโรคนี้ได้บ่อยในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป โดยพบอุบัติการณ์มากขึ้นตามอายุ

• พันธุกรรม : ในปัจจุบันสามารถค้นพบยีนหลายตัวที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคจอประสาทตาเสื่อม

• เชื้อชาติ: พบมากในชาวคอเคเซียน ผิวขาว ตาสีฟ้า

• เพศ : มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

• บุหรี่ : การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอย่างน้อย 6 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

• ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง : ผู้ป่วยทั้งสองโรคนี้มีความเสี่ยงต่อโรคเอเอ็มดีมากกว่าผู้ที่มีความดันโลหิตและไขมันในเลือดในระดับปกติ

โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคตา

ประเภทของโรคเอเอ็มดี

โรคเอเอ็มดีแบ่งเป็น 2 ประเภท โดยแต่ละประเภทมีอาการดังนี้

• เอเอ็มดีแบบแห้ง (Dry AMD หรือ Non-neovascular AMD) เป็นแบบที่พบได้มากที่สุด คือประมาณ 85-90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยจะมีการมองเห็นแย่ลงอย่างช้าๆ มักตรวจพบจุดสีเหลืองบริเวณจุดรับภาพชัดหรือกระจายรอบๆจุดรับภาพซึ่งเกิดจากการสะสมของของเสีย ในระยะต่อมาอาการของโรคอาจรุนแรงขึ้น โดยพบการตายของเซลล์เนื้อเยื่อคอรอยด์ การฝ่อของหลอดเลือดในผนังลูกตาชั้นกลางและการตายของเซลล์จอประสาทตาชั้นบน ทำให้บริเวณนั้นบางลงผิดปกติ และสุดท้าย หากมีการตายของเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณกว้างเป็นรูปแผนที่ (Geographic Atrophy) ซึ่งเป็นรูปแบบที่รุนแรงที่สุด โรคเอเอ็มดีแบบแห้งนี้จะพัฒนาไปเป็นเอเอ็มดีแบบเปียกได้

• เอเอ็มดีแบบเปียก (Wet AMD หรือ Neovascular AMD) กลุ่มนี้พบได้น้อยกว่าแบบแห้งประมาณ 10 – 15 เปอร์เซ็นต์ จะมีการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว ทําให้ตาบอดได้ ซึ่งเกิดจากการที่มีเส้นเลือดงอกใหม่ผิดปกติจากชั้นคอรอยด์ที่ใต้จอประสาทตาทะลุผ่านเข้าไปใต้จอประสาทตา ทําให้มีการรั่วซึมของเลือดและสารเหลวจากเส้นเลือด มีเลือดออกหรือแผลเป็นที่จอประสาทตา ทำให้มองเห็นภาพ
บิดเบี้ยวหรือเงาดําบริเวณกึ่งกลางของภาพอย่างฉับพลัน จึงควรป้องกันก่อนสูญเสียการมองเห็นถาวร

ควรตรวจสุขภาพตา ในช่วงอายุใดบ้าง

เพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็นซึ่งมีสาเหตุจากโรคเอเอ็มดี วิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพตาไว้ว่า บุคคลทั่วไปอายุระหว่าง 40 – 64 ปีที่ไม่มีอาการผิดปกติในการมองเห็น ควรได้รับการตรวจสุขภาพตา รวมทั้งตรวจ
จอประสาทตาทุก 2 – 4 ปี หากเป็นกลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจทุก 1 – 2 ปี แม้ไม่มีอาการผิดปกติ เพื่อจะได้รักษาอาการของโรคนี้อย่างได้ผล ก่อนสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร


 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.