กินอยู่ครบสูตร ด้วยผักผลไม้ ต้านโรคเอสแอลอี โรคภูมิแพ้

ต้านโรคเอสแอลอี ด้วยการเลือกกินผัก ผลไม้

โรคเอสแอลอี ที่นับวันจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกขณะ หลายคนสามารถดูแลตัวเองเพื่อประคับประคองอาการได้เป็นอย่างดีแต่บางคนลืมใส่ใจสุขภาพจึงทำให้อาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว วันนี้เรามาแนะนำผักผลไม้ กินอร่อย ต้านโรคเอสแอลอี และภูมิแพ้ค่ะ แต่ก่อนจะไปดูเรื่องอาหารการกิน เราไปทำความรู้จักโรคนี้กันสักนิด

SLE โรคร้าย ใกล้ตัวกว่าที่คิด

SLE (Systemic Lupus Erythematosus) โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรืออีกชื่อที่เราคุ้นเคยกว่าคือ “โรคพุ่มพวง” คือภาวะที่เม็ดเลือดขาวทำงานผิดปกติ แทนที่จะไปทำลายเชื้อโรค กลับไปทำลายเซลล์ร่างกายตัวเองเสียได้ ทำให้เกิดอาการอักเสบขึ้นกับอวัยวะภายใน รวมถึงระบบต่างๆ ของร่างกาย

เช็กความเสี่ยงการเกิดโรค SLE

แม้จะเป็นโรคที่ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ แต่ก็มีอาการเบื้องต้นที่อาจใช้สังเกตได้ เนื่องจากเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการอักเสบของระบบต่างๆ ร่างกาย ที่เซลล์เกิดการทำลายตัวเอง แต่ใช่ว่าใครที่มีอาการเหล่านี้แล้วจะต้องเป็น SLE เสมอไป เพราะบางครั้งก็อาจเกิดจากโรคอื่นๆ รวมถึงพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งหากอยากให้แน่ใจ ควรให้แพทย์วินิจฉัยอย่างละเอียด

1.สมองตื้อ สมาธิสั้น อาการเหล่านี้ส่อสัญญาณอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับความเครียดหรืออาการนอนไม่หลับ เป็นสัญญาณของภูมิคุ้มกันบกพร่อง

2. เป็นสิว โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนัง ผิวหนังอักเสบ หรือผื่นรูปผีเสื้อ

3. โรคภูมิแพ้หอบหืด เนื่องจากว่าโรคหอบหืดอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติกับโรคแพ้ภูมิตัวเอง ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนมากที่อ้างว่าโรคแพ้ภูมิตัวเองเป็นโครงสร้างพื้นฐานของโรคหอบหืด

4.น้ำหนักเพิ่มหรือน้ำหนักลดลง โรคแพ้ภูมิตัวเองบางชนิดส่งผลต่อต่อมไทรอยด์ ซึ่งเป็นอวัยวะที่ควบคุมกระบวนการเผาผลาญในร่างกาย หากเริ่มมีการผลิตฮอร์โมนมากเกินไปหรือผลิตฮอร์โมนไม่เพียงพอ ก็จะส่งผลต่อเรื่องน้ำหนัก

5.ปวดท้อง จุกเสียด มีแก๊ส ท้องอืด ท้องร่วง ท้องผูก เรื่องการย่อยอาหารเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคแพ้ภูมิตัวเอง อย่างโรคแพ้กลูเตน (เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน) โรคสำไส้ใหญ่บวมเป็นแผล ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์และอื่นๆ

6. ผมร่วงมากผิดปกติ เมื่อระบบภูมิคุ้มกันเริ่มโจมตีรูขุมขนที่ผิวหนังซึ่งเป็นสาเหตุให้ผมร่วง เริ่มต้นด้วยการอักเสบของผิวหนังที่ศีรษะ นอกจากนี้ยังอาจส่งผลต่อขนส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วย

อาการของ SLE

สำหรับอาการของ SLE ที่หากใครมี 4 อาการเหล่านี้ร่วมกัน ควรไปพบแพทย์เป็นการด่วน เนื่องจากเป็นสัญญาณที่ชัดเจนแล้วว่า ถูก SLE คุกคามเข้าแล้ว แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคยเป็นคนแข็งแรงมากๆ ก็ตาม โดยอาการที่สังเกตได้คือ

ต้านโรคเอสแอลอี

  • ผื่นผิวหนังบริเวณใบหน้า หู แขน ขา และลำตัว
  • ตัวซีดเหลือง จากเม็ดเลือดขาว
  • เมื่อโดนแดดจะมีผื่นผิวหนังขึ้นอย่างรุนแรง
  • ปวดข้อ บวม แดง
  • ผมร่วง
  • มีแผลในปาก
  • อักเสบที่อวัยวะภายใน เช่น เยื่อหุ้มสมอง ไต
  • ชัก

กิน+อยู่ครบสูตร หยุดภูมิแพ้เอสแอลอี

อาจารย์สาทิส อินทรกำแหงเคยกล่าวว่า  “ภูมิแพ้เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค  และไม่มียาชนิดใดสามารถรักษาให้หายได้  การรักษาที่ต้นเหตุด้วยการดูแลตนเองให้ระบบภูมิคุ้มกันหรือภูมิต้านทานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอิมมูนซิสเต็ม (Immune System) แข็งแรงจึงเป็นวิธีที่ได้ผล

ฉะนั้นการปรับวิถีชีวิตทั้ง การกิน การออกกำลังกายเพื่อให้ภูมิชีวิตแข็งแรงจึงเป็นเสมือนเกราะป้องกัน รวมถึงบำบัดรักษาโรคดังกล่าวได้ดีกว่ายาชนิดไหนๆ  ดังเช่นคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญดังต่อไปนี้ค่ะ

กินเสริมภูมิคุ้มกัน

อาหารที่เราบริโภคอยู่ทุกวันส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิต้านทาน  มีอาหารหลายอย่างที่นักวิจัยเชื่อว่าช่วยเพิ่มภูมิต้านทานทำให้อายุยืน  และสุขภาพแข็งแรงได้  เช่น โยเกิร์ต  ปลาซาร์ดีน  เซเลอรี่ (ขึ้นฉ่ายฝรั่ง) และยังพบอีกว่า  แม้ขณะที่คนเรามีสุขภาพแข็งแรง  อาหารก็ยังเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะในวัยผู้สูงอายุ

ผัก ผลไม้ ที่โรค SLE ควรกิน

แพทริก โฮลฟอร์ด และ ดร.เจมส์ บราลี อธิบายไว้ในหนังสือ HIDDEN FOOD ALLERGIES ว่า ผักผลไม้หลายชนิด  โดยเฉพาะผักสด และผลไม้ที่ไม่ปอกเปลือก  เช่น  แอปเปิ้ล  ลูกแพร์  เบอร์รี่  มะเขือเทศ และแครอต  ล้วนมีเควอร์เซติน (Quercetin) และสารแอนติออกซิแดนต์สูง  ซึ่งทั้ง 2 มีคุณสมบัติช่วยต่อต้านอาการแพ้และลดอาการอักเสบต่างๆ ทั้งยังช่วยทำให้มาสต์เซลล์(ซึ่งปล่อยสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฮิสตามีนออกมา) สงบลง จึงช่วยลดโอกาสการเกิดภูมิแพ้ของคุณได้ โดยจัดอันดับผักผลไม้ที่มีเควอร์เซตินสูงไว้ดังต่อไปนี้

โรค sle กินผลไม้อะไรได้บ้าง

จากตารางจะเห็นได้ว่า  ผักที่มีเควอร์เซตินมากที่สุดคือ  หัวหอม รองลงมาคือ  ผักโขม  แครอต  และบรอกโคลี  ส่วนผลไม้ที่มีเควอร์เซติน ได้แก่  แอ๊ปเปิ้ล  เบอร์รี่  โดยเฉพาะแครนเบอร์รี่ ซึ่งนับได้ว่ามีมากเป็นอันดับหนึ่งของทางฝั่งผลไม้เลยทีเดียว

สำหรับองุ่นนั้น แม้จะมีเควอร์เซตินน้อยกว่าสตรอว์เบอร์รี่ไม่เท่าไหร่ แต่ก็เป็นผลไม้ที่ควรรับประทานอย่างระมัดระวัง เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีกลูโคสสูง ซึ่งอาจกลายเป็นผลเสียต่อผู้ที่มีภาวะเบาหวาน เนื่องจากอาจทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงได้

ทั้งนี้ แพทริก โฮลฟอร์ด และ ดร.เจมส์ บราลีแนะนำให้บริโภคเควอร์เซตินถึงวันละ 10 มิลลิกรัม  ซึ่งยิ่งกินมากเท่าไรก็จะยิ่งมีผลดีมากเท่านั้น  และสำหรับผู้ที่ดื่มกาแฟให้หันมาดื่มชาซึ่งมีเควอร์เซตินในปริมาณสูงแทน

ที่มา

  • นิตยสารชีวจิต
  • Siriraj Online
  • คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

วิธีออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยภูมิแพ้ ฉบับมือใหม่

เบาหวาน อยากกินผลไม้ต้องอ่าน

ผักผลไม้ สู้มะเร็ง

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.