สุนัขกัด พิษสุนัขบ้า

สุนัขกัด ทำอย่างไรดี รีวิวเบื้องต้น จนถึงฉีดวัคซีน

สุนัขกัด ทำอย่างไรดี

สุนัขกัด แล้วต้องทำไง หาหมอดีไหม จำไม่ได้ว่าเคยฉีดวัคซีนมาเเล้วหรือยัง ต่อไปนี้หมดคำถามแน่ เพราะชีวจิตขอรีวิวเป็นขั้นตอน จนหมดข้อสงสัยชัวร์ รีวิวจากประสบการณ์จริงสุนัขกัด ตามมาดูกันเลยครับ

เเต่ก่อนอื่นขอเล่าก่อนว่า ตอนนั้นสุนัขกระโจนเข้ากัดจังๆ ที่ต้นขา  ฝังเขี้ยวไว้ทะลุผ่านกางเกงยีนส์ ลักษณะแผลเป็นรอยเขี้ยว มีเลือดซึมเล็กน้อย ชี้ชัดว่ามีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อแน่นอน

  1. สิ่งแรกที่ต้องทำต้องรีบล้างแผลโดยด่วน ฟอกด้วยสบู่หรือน้ำสะอาดหลายๆครั้งทันที  อย่างน้อย 15 นาที
  2. และที่สำคัญคือต้องจำลักษณะและสังเกตอาการสุนัข หรือสัตว์ที่กัดด้วย หรือต้องจับมากักตัวไว้เพื่อสังเกตุอาการ 10 วัน เเต่รอดตัวไปตอนนั้นเป็นหมาของเพื่อนที่เลี้ยงไว้ในบ้าน (มารู้ทีหลังว่าสุนัขตัวที่กัดมีประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษ สุนัขบ้า ครบนะจ๊ะ)
  3. หลังจากนั้นรีบไปพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาล ภายใน 2 วัน (24-48 ชั่วโมง)
  4. เมื่อไปหาหมอ จะมีการซักประวัติ โดนกัดเมื่อไหร่ สุนัขที่ไหน  เคยได้รับวัคซีนไหม แผลเป็นอย่างไร
  5. แล้วหลังจากนั้น พยาบาลจะทำความสะอาดแผลให้อีกครั้ง ตามหลักการแพทย์เป๊ะ
  6. การให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก ในกรณีคนที่เคยได้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง และได้เข็มสุดท้ายนานกว่า 5 ปี มาแล้ว ให้ใช้ tetanus-diphtheria toxoid (Td) หรืออาจใช้ tetanus toxoid (TT) 1 เข็มเข้ากล้าม (TTอาจผสมกับ rabies vaccine ชนิด PVRV (Verorab®) ในกรณีที่ฉีด
    เข้ากล้ามเหมือนกัน)
  7. ถ้าไม่เคยได้หรือเคยได้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักน้อยกว่า 3 ครั้ง ให้วัคซีน Td หรือ TT เข้ากล้าม 3 ครั้ง คือวันที่ 0, 1 เดือนและ 6 เดือน สามารถใช้วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก (Tdap) แทน TT หรือ Td 1 ครั้งในวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่
  8. ต่อมาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดแบบไหน อย่างไีขึ้นอยู่กับดุลพินิจคุณหมอ ปกติมี 2 แบบ คือ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ กับฉีดเข้าชั้นผิวหนังกรณีฉีดเข้ากล้ามเนื้อ– หากไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันมาก่อน แล้วมาถูกสัตว์กัด จะต้องฉีดทั้งหมด 5 เข็มที่กล้ามเนื้อต้นแขน โดยฉีดในวันที่ 0 (วันที่เริ่มฉีด) วันที่ 3, 7, 14 และวันที่ 28 แต่กรณีถ้าแผลที่โดนกัดอยู่ใกล้เส้นประสาทไปเลี้ยงมาก เช่น ใบหน้า หรือมีแผลฉกรรจ์มาก จะต้องฉีดเซรุ่ม หรือวัคซีนอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) เพิ่มด้วย  โดยฉีดรอบแผลทุกแผลร่วมกับการฉีดวัคซีนในวันที่ 0

    – สำหรับคนที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันมาก่อนครบตามจำนวน แล้วถูกสุนัขกัดอีก ไม่ต้องเริ่มฉีดใหม่ แต่ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่มอีก 1 เข็มในวันที่โดนกัด (กรณีวันที่ฉีดเข็มสุดท้ายผ่านมาไม่เกิน 6 เดือน) หรือ 2 เข็ม (กรณีวันที่ฉีดเข็มสุดท้ายผ่านมาเกิน 6 เดือนแล้ว) ในวันที่ 0 และ 3 โดยไม่ต้องฉีดเซรุ่ม

    กรณีฉีดเข้าชั้นผิวหนัง

    – หากไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันมาก่อนแล้วมาถูกสัตว์กัด จะต้องฉีดวัคซีนเข้าผิวหนัง 4 ครั้ง ครั้งละ 2 จุด คือต้นแขนทั้ง 2 ข้าง ฉีดในวันที่ 0 (วันที่เริ่มฉีด), 3, 7 และวันที่ 28

    – หากเคยฉีดวัคซีนป้องกันมาแล้วครบตามจำนวน แล้วมาถูกกัดอีก ก็เพียงแค่ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่มเช่นกัน โดยฉีด 1 เข็ม 1 จุด หากช่วงที่ถูกกัดห่างจากการฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายมาน้อยกว่า 6 เดือน แต่หากฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายมานานกว่า 6 เดือน ก็ต้องฉีดกระตุ้นอีก 2 เข็ม ครั้งละ 1 จุด ในวันที่ 0 และวันที่ 3 และไม่ต้องฉีดเซรุ่มด้วย

  9. หลังจากนั้นคุณหมอจะให้ใบนัดมา บันทึกข้อมูลการฉีดวัคซีน กำหนดการวันไหนต้องไปฉีด ซึ่งเราสามารถนำไปฉีดโรงพยาบาลไหนก็ได้ตามที่สะดวกเลย
  10. ไม่ควรลืมการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะ 3 เข็มแรก (วันที่ 0, 3, 7) เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ส่วนเข็มที่ 4 และ 5 ซึ่งจะฉีดในวันที่ 14 และ 28 เป็นแค่การฉีดกระตุ้น  ไม่งั้นจะต้องเริ่มฉีดวัคซีนใหม่ตั้งเเต่ต้น

ยังไงก็อย่าชะล่าใจ สุนัขกัด รีบไปพบเเพทย์ เเละหมั่นสังเกตอาการของสัตว์เลี้ยงที่บ้าน ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าให้รีบร้อย ก็ป้องกันตัวเองได้ระดับนึงจ้า

อ้างอิง : แนวทางการให้การดูแลรักษาผู้ป่วยสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า (พ.ศ. 2559) สถานเสาวภา สภากาชาดไทย

บทความที่เกี่ยวข้อง

วัคซีนไข้เลือดออก ป้องกันโรคไข้เลือดออก

เช็กแพ็คเก็จ+ราคา วัคซีนแนะนำสำหรับผู้สูงอายุ จากโรงพยาบาลชั้นนำ

เชื้อพิษสุนัขบ้าระบาดหนัก เจ้าของสัตว์อย่านอนใจ รีบสังเกตสัญญาณเสี่ยง

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.