เครียดหลังน้ำท่วม PTSD

เครียดหลังน้ำท่วม (PTSD) ดูแลป้องกันตัวเองอย่างไร

เครียดหลังน้ำท่วม ทำอย่างไรดี

เครียดหลังน้ำท่วม หรือโรคเครียดหลังประสบเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD: Post-traumatic Stress Disorder) เกิดได้ไม่บ่อยนักแต่มีความรุนแรง นายแพทย์อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ประจำกรมสุขภาพจิต โรงพยาบาลศรีธัญญา อธิบายรายละเอียดว่า “เป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นหลังพบเหตุการณ์ความรุนแรง เช่น อยู่ในเหตุการณ์ร้ายแรง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ถูกทำร้ายร่างกายโดนปล้น ถูกทารุณกรรมทางเพศ หรือพบเห็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญ”

เมื่อฟังคุณหมออธิบายจบ ภาพของคุณป้าท่านหนึ่งก็ผุดขึ้นในหัวของฉันทันทีท่านสูญเสียลูกชายไปจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี พ.ศ. 2547 สร้างความหวาดกลัวและความสะเทือนใจให้กับท่านเป็นอย่างมากแม้เวลาจะผ่านพ้นมานานกว่า 10 ปีแล้วแต่คุณป้าก็ไม่สามารถลืมเลือนเหตุการณ์นั้นได้ ทั้งยังจมดิ่งอยู่ในความเศร้าโศกเสียใจมากยิ่งขึ้น เมื่อมีสิ่งกระตุ้นเตือนความทรงจำ เช่น ข่าว คำบอกเล่าต่าง ๆ

How to check : อาการเบื้องต้นของโรคเครียดหลังน้ำท่วม

หลังประสบเหตุการณ์สะเทือนใจมีดังต่อไปนี้

  1. ผู้ที่เป็นจะรู้สึกหวาดกลัวมากและรู้สึกว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นอีกโดยภาพเหตุการณ์นั้นยังติดตาและตามมาหลอกหลอน (Flashback)
  2. แม้ว่าเหตุการณ์น่ากลัวจะผ่านไปแล้ว แต่ร่างกายยังตื่นตัว ทำให้รู้สึกกระวนกระวาย ผุดลุกผุดนั่งไม่มีสมาธิ ใจสั่น ตกใจง่าย สะดุ้งง่าย เกิดความเครียดง่ายกับเรื่อง
    ธรรมดา โดยเฉพาะเมื่อมีอะไรมาสะกิดให้นึกถึงเหตุการณ์นั้น
  3. บางรายมีอาการนอนหลับยาก คลื่นไส้ ท้องร่วง ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น
  4. โดยทั่วไปแล้วอาจมีอาการหลังจากประสบเหตุ 3 – 6 เดือน

เครียด วิตกกังวลแก้ไขอย่างไรดี

หลังจากพูดคุยกับคุณหมอและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรควิตกกังวลชนิดต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือภาวะเครียดหลังจากน้ำลด หรือเกิดภัยพิบัติ ทำให้ฉันรู้ว่ามีคนรอบข้างจำนวนไม่น้อยที่กำลังเผชิญกับโรคนี้อยู่ จนต้องรีบสอบถามวิธีแก้ไขจากคุณหมอโดยด่วนโดยคุณหมออภิชาติแนะนำว่า หนทางรักษาที่ดีที่สุดคือ ปรึกษาแพทย์เพราะสามารถตรวจวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำว่ามีอาการของโรคกลุ่มวิตกกังวลหรือไม่ ไม่ควรคิดและแก้ไขเอง ซึ่งสรุปกระบวนการรักษาได้ดังต่อไปนี้

  1. ยา ตัวช่วยเบื้องต้น ในการรักษาขั้นต้นอาจมีการใช้ยา หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง หรือใช้ยาเพื่อลดอาการวิตกกังวลในระยะแรก เช่น ยาคลายเครียด ยานอนหลับ
    ยาบำรุงประสาท เป็นต้น
  2. จิตบำบัด ระบายทุกข์ การรักษาด้วยจิตบำบัดจะทำโดยนักจิตบำบัดวิชาชีพที่ได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะ นักจิตบำบัดจะช่วยให้ผู้ที่เป็นได้ระบายความทุกข์และเข้าใจว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริง และช่วยค้นหาแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมเพื่อให้คลายความวิตกกังวลการรักษาด้วยจิตบำบัดอาจเพียงพอสำหรับผู้ที่มีความกังวลบางรายแต่บางรายอาจต้องใช้วิธีอื่นรักษาร่วมด้วย
  3. พฤติกรรมบำบัด สร้างกำลังใจ โดยการให้เข้าเผชิญกับสิ่งที่ทำให้กลัวและปรับให้คิดทางบวกเพิ่มขึ้นการรักษาจะค่อยเป็นค่อยไป ต้องใช้เวลา อย่าคาดหวังว่าจะหายได้ทันทีเพราะจะทำให้ผิดหวังและหมดกำลังใจ ในบางรายที่มีอาการกลัวหรือวิตกกังวลมากจนทุกข์ทรมานและกระทบต่อการดำเนินชีวิตอาจต้องใช้ยาร่วมด้วย

“นอกจากนี้ผู้ป่วยต้องเริ่มต้นที่ตัวเองด้วย คือต้องยอมรับความจริงว่าเป็นโรคนี้ และถ้าต้องการให้อาการเหล่านี้หายไป ต้องตัดสินใจต่อสู้และอดทน รวมถึงพยายามหากิจกรรมอื่น ๆ ทำเพื่อให้เกิดความสุข ซึ่งช่วยให้ค่อย ๆ หายจากอาการเหล่านั้นได้” คุณหมอกล่าวเสริม

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อวิตกกังวล

นอกจากการปฏิบัติตนตามคำแนะนำของคุณหมอแล้ว การดูแลตนเองก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เนื่องจากอาการวิตกกังวลประกอบด้วยอาการทางกายและทางความคิด การปรับความคิดอาจต้องใช้เวลา ส่วนอาการทางกายนั้นสามารถบำบัดด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

ผู้ที่มีความเครียดหรือวิตกกังวล ควรฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อและควบคุมการหายใจ จะเป็นการผ่อนคลายความวิตกกังวลในเบื้องต้นสามารถเริ่มทำได้โดยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เงียบสงบ ไม่มีสิ่งรบกวน หายใจเข้า – ออกช้า ๆ นับ 1 – 10 ต่อการหายใจเข้า – ออกแต่ละครั้ง โดยอยู่ในท่านั่งหรือท่านอนที่สบาย เมื่อทำตามวิธีดังกล่าวจะทำให้ร่างกายตอบสนองต่อระบบประสาทอัตโนมัติลดลง อย่างไรก็ตาม ควรทำอย่างสม่ำเสมอวันละ 10 – 15 นาที จะช่วยป้องกันความเครียดและความวิตกกังวลไม่ให้อาการ
รุนแรงจนพัฒนากลายเป็นโรควิตกกังวลในภายหลังได้ดูแลสุขภาพกายแล้ว ก็อย่าลืมหันมาดูแลสุขภาพใจร่วมด้วย เพื่อจะได้ห่างไกลโรควิตกกังวลอย่างไรล่ะคะ

อาหารบำรุงสมองและระบบประสาท

เนื่องจากความวิตกกังวลส่งผลให้เกิดความเครียด ซึ่งการหลั่งฮอร์โมนความเครียดในระดับสูงอย่างต่อเนื่องอาจทำลายสมอง ทำให้ความจำเสื่อม เกิด
ความวิตกกังวล และไม่สามารถควบคุมการระเบิดอารมณ์ได้ อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต แนะนำสารอาหารบำรุงสมองและระบบประสาทที่มีอยู่
ในอาหารธรรมชาติไว้ในนิตยสาร ชีวจิต คอลัมน์ เรื่องพิเศษ ฉบับที่ 326 ดังนี้

  1. วิตามินบี1 ข้าวซ้อมมือ รำข้าว ข้าวสาลีไม่ขัดขาว ข้าวโอ๊ต และถั่วลิสง
  2. วิตามินบี 6 ข้าวซ้อมมือ จมูกข้าว แคนตาลูป และกะหล่ำปลี
  3. วิตามินบี 12 ตับ เนื้อสัตว์ ไข่ และนม
  4. กรดโฟลิก (Folic Acid) ผักใบเขียวเข้มทุกชนิด แครอต ตับ แคนตาลูป ฟักทอง อะโวคาโด ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเหลือง
    และข้าวซ้อมมือ
  5. ไนอะซิน (Niacin) ข้าวซ้อมมือ ข้าวสาลีไม่ขัดขาว จมูกข้าว ปลา ไข่ ถั่วลิสงคั่ว อินทผลัม มะเดื่อ และไก่ (เนื้อขาว)
  6. สังกะสี (Zinc) จมูกข้าว เมล็ดฟักทอง บริวเวอร์ยีสต์ ไข่ นม และมัสตาร์ดผง
  7. โพแทสเซียม (Potassium) ส้ม ส้มโอ แคนตาลูป มะเขือเทศ แห้ว ผักใบเขียว สะระแหน่ เมล็ดทานตะวัน กล้วยน้ำว้า มันเทศ และมันฝรั่ง
  8. เคลป์ (Kelp) สาหร่ายทุกชนิด
  9. ทริปโตแฟน (Tryptophan) ปลา กล้วย อินทผลัม และถั่วลิสง
  10. ฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ถั่วอัลมอนด์ ถั่วลิสง งา เมล็ดฟักทอง กุ้ง และหอย
  11. ดีเอ็นเอ / อาร์เอ็นเอ (DNA/RNA) จมูกข้าว รำข้าว ผักโขม หน่อไม้ฝรั่ง เห็ดทุกชนิด หัวหอมใหญ่ เเละปลา

ชีวจิตขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประสบภัยหลังน้ำท่วม เเละภาวะเครียดหลังน้ำท่วม ฟื้นตัวกลับมาไวๆค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

5 โรคติดต่อ ควรเฝ้าระวังพิเศษ และกลุ่มโรคที่พบบ่อยในหน้าฝน

เครียดหลังน้ำท่วม (PTSD) ดูแลป้องกันตัวเองอย่างไร

วิธีคลายเครียด หลังเลิกงาน เคล็ดลับของคนวัยทำงานตามแบบฉบับญี่ปุ่น

รู้ทันโรค วิตกกังวล ก่อนจิตป่วย

 

อ้างอิง : นิตยสาร ชีวจิต ปี 2558 ฉบับที่ 400 (1 มิ.ย. 58) หน้า 28-33
ชื่อคอลัมน์ : เรื่องพิเศษ
ชื่อบทความ : stop 5 anxiety disordes รู้ทันโรควิตกกังวลก่อนจิตป่วย

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.