ลัลลาเบล ยาเสียสาว

จากคดีลัลลาเบล มาทำความรู้จัก ” ยาเสียสาว ” คืออะไร โดนยาแล้วอาการเป็นอย่างไร

คดี ” ลัลลาเบล ” ส่งผลให้คนเริ่มสนใจ ” ยาเสียสาว “

เชื่อว่าจากคดีการเสียชีวิตของพริตตี้สาว ลัลลาเบล ตอนนี้หลายคนคงกำลังติดตามข่าวความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงมูลเหตุที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตด้วย ข้อสงสัยหนึ่งเลยคือการ “มอมยา” และอาจมีการใช้ ” ยาเสียสาว ” เกิดขึ้น เราจึงยกข้อมูลจากทาง RAMACHANNEL เพื่อมาอธิบายว่าเจ้ายาตัวนี้คืออะไรกันแน่

ว่าด้วย GHB ยาเสียหนุ่ม ยาเสียสาว

GHB หรือชื่อเต็มๆ คือ gamma-Hydroxybutyric (แกมมา ไฮดรอกซี บูเทอริก) ในชื่อภาษาไทยเรา มักจะเรียกว่า “ยาเสียสาว” หรือตอนนี้อาจจะต้องเพิ่มว่าเป็น “ยาเสียหนุ่ม” ด้วย ยาชนิดนี้มีผลออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท ทำให้รู้สึกตื่นตัว รู้สึกสนุก รวมถึงการที่อยากมีเพศสัมพันธ์ด้วย ปัจจุบันพบการระบาดใช้ในสถานบันเทิงต่างๆ มากมาย

การใช้ทางการแพทย์

ในทางการแพทย์เราใช้ยาชนิดนี้อยู่บ้างในการวางสลบ การผ่าตัด การทำคลอด รักษาโรคบางโรค เช่น โรคง่วงหลับ โรคพิษสุราเรื้อรัง มีการควบคุมการใช้ที่เข้มงวดโดยแพทย์ แต่ยาตัวนี้ถูกถอนออกจากบัญชียาตั้ง แต่ปี 2533 แล้ว

ยา GHB มีทั้งชนิดเม็ด ชนิดผง หรือชนิดเหลว ที่นิยมใช้กันจะเป็นลักษณะเหลวใส เพราะใช้ง่าย มีรสเค็มเล็กน้อยกลมกลืนกับเครื่องดื่ม ในตลาดมืดจะเรียกว่า Liquid X หรือ Liquid E สามารถผสมกับเครื่องดื่มได้โดยที่เราไม่รู้ว่ามีส่วนผสมของยาชนิดนี้อยู่

ลัลลาเบล
พริตตี้สาว ลัลลาเบล ผู้เสียชีวิต

อาการเมื่อโดนยา

อาการเมื่อเราโดนยา GHB จะแตกต่างกันไปตามขนาดยาที่ได้รับ หากได้รับปริมาณมากๆ ก็มีสิทธิ์ที่จะทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ ผลอาการจากยา GHB ที่พอจะสรุปได้ มีดังนี้

1. หากได้รับปริมาณยาไม่มาก ช่วง 5-10 นาทีแรก จะมีอาการมึนงง คลื่นไส้ อาเจียน เคลื่อนไหวลำบาก

2. หากได้รับปริมาณยาขนาดสูง อาจทำให้เกิดการกดการทำงานของสมอง กดการทำงานของระบบหายใจ หมดสติ หรือเกิดการเสียชีวิตได้

3. หากได้รับร่วมกับยาเสพติดอื่นๆ หรือแอลกอฮอล์ ก็จะทำให้เกิดผลเสียที่มากกว่าหลายเท่า

การป้องกันและหลีกเลี่ยง

1. การป้องกันทำได้ยาก เพราะเราจะสังเกตยากว่ามีส่วนผสมของยา GHB หรือไม่ในเครื่องดื่ม

2. ไม่ไปสถานบันเทิงคนเดียว ควรมีเพื่อนที่ไว้ใจได้ไปด้วย

3. ดื่มแอลกอฮอล์ให้พอดี เพื่อให้มีสติ ไม่เกิดอาการมึนเมา

4. ไม่รับเครื่องดื่มจากคนที่เราไม่รู้จัก

5. ไม่ดื่มเครื่องดื่มอย่างรวดเร็ว หากเราดื่มทีละน้อย จะสังเกตตัวเองได้ว่าเกิดอะไรผิดปกติหรือไม่

6. ไม่ดื่มเครื่องดื่มแก้วเดียวกันกับผู้อื่น

7. ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่อยู่ในภาชนะที่มีปากกว้าง เพราะภาชนะแบบนี้สามารถใส่ส่วนผสมเช่น ยาอันตราย ลงไป ได้ง่าย

8. ไม่ควรละสายตาจากเครื่องดื่มของตัวเอง

ขอขอบคุณข้อมูลและคำแนะนำจาก : รศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

รวมเทคนิคบอกลายาลดความดัน รับมือความดันโลหิตสูงด้วยตัวเอง

ยาไมเกรน กินไม่ถูกวิธี เสี่ยงอันตรายกว่าที่คิด

หยุดก่อน ยาชุดแก้หวัด อาจก่อผลเสียมากกว่าผลดี

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.