ตรวจสุขภาพสำหรับผู้หญิง ตรวจสุขภาพ สุขภาพผู้หญิง โรคของผู้หญิง ผู้หญิง

ตรวจสุขภาพสำหรับผู้หญิง เรื่องเฉพาะที่ควรตรวจเพิ่ม

ผลการตรวจแมมโมแกรม

การแปลผลตรวจแมมโมแกรมสามารถทำได้โดยรังสีแพทย์หรือแพทย์ผู้สั่งตรวจ ปกติจะให้แพทย์ผู้สั่งตรวจเป็นผู้แจ้งผล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบของแต่ละโรงพยาบาล ผลการตรวจสามารถอธิบายคร่าวๆ ได้ดังนี้

ผลบวก (Positive) หมายถึง มีความผิดปกติภายในเต้านม โดยจะสังเกตเห็น “จุดขาว” ซึ่งอาจเป็นถุงน้ำ ถุงไขมัน ถุงอากาศ ก้อนหินปูน ก้อนเนื้อแข็งที่มิใช่มะเร็ง หรือเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง ซึ่งจะต้องมีการตรวจวินิจฉัยต่อไปด้วยวิธีอัลตราซาวนด์และการเจาะตรวจชิ้นเนื้อเต้านมตามลำดับต่อไป

ผลลบ (Negative) หมายถึง ไม่พบร่องรอยของความผิดปกติใดๆ (พบว่าประมาณ 20% ของจำนวนผู้หญิงที่รับการตรวจด้วยแมมโมแกรมและได้ผลลบ แต่เมื่อได้ตรวจด้วยวิธีอื่นๆ กลับพบว่ากำลังเป็นมะเร็งเต้านมอยู่ จึงควรหมั่นดูแลสุขภาพและตรวจอย่างสม่ำเสมอ)

 

การรายงานผลตรวจแมมโมแกรมจะรายงานเป็น ค่าไบแรดส์ (BI – RADS : Breast Imaging Reporting and Data System) ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานสากล ค่าที่ได้จะออกมาเป็นตัวเลขแสดงถึงความรุนแรงตามการตรวจพบ พร้อมกับคำแนะนำว่าควรปฏิบัติอย่างไรต่อไป โดยแบ่งเป็น 7 ขั้น ดังนี้

 

ค่าไบแรดส์ สภาวะเต้านม ซึ่งวิเคราะห์ได้จากภาพ การปฏิบัติในขั้นตอนต่อไป
BI-RADS Category 0 ไม่เคยตรวจแมมโมแกรมหรือตรวจแล้ว แต่ไม่สามารถแปลผลได้ ต้องมีการตรวจแมมโมแกรมซ้ำให้เห็นภาพ เพื่อจะได้จัดขั้นตอนการปฏิบัติต่อไป
BI-RADS Category 1 (Negative) เคยตรวจแมมโมแกรมมาแล้ว และไม่พบสิ่งผิดปกติ ผู้หญิงที่มีอายุเกิน 40 ปี ควรตรวจซ้ำต่อไปเป็นประจำทุกปี
BI-RADS Category 2 ตรวจพบก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติที่มิใช่มะเร็ง ต้องตรวจแมมโมแกรมต่อไปทุกๆ 1 ปี โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
BI-RADS Category 3 ตรวจพบก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติที่อาจจะไม่ใช่มะเร็ง ให้ตรวจแมมโมแกรมทุก 6 เดือน เพื่อติดตามผล
BI-RADS Category 4 ตรวจพบก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติที่น่าจะเป็นมะเร็ง อาจมีการสั่งตรวจชิ้นเนื้อตัวอย่างว่าเป็นมะเร็งหรือไม่
BI-RADS Category 5 ตรวจพบก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติที่น่าจะเป็นมะเร็งได้สูง แพทย์จะสั่งตรวจชิ้นเนื้อตัวอย่างทันทีเพื่อยืนยันว่าก้อนที่พบในเต้านมเป็นมะเร็ง
BI-RADS Category 6 ผลการตรวจชิ้นเนื้อได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นมะเร็ง ให้ทำการตรวจชิ้นเนื้อซ้ำอีกครั้ง เพื่อยืนยันว่ามะเร็งยังคงมีอยู่ ก่อนที่จะเริ่มขั้นตอนการรักษาต่อไป

 

แม้จะไม่พบความผิดปกติใด ๆ จากการตรวจแมมโมแกรม แต่ก็อย่าได้วางใจ 100% ว่าจะปลอดภัยจากมะเร็งเต้านม เช่นเดียวกับหากตรวจพบความผิดปกติใดๆ จากการตรวจนี้ ก็ไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะต้องเป็นมะเร็ง

 

ข้อมูลจาก หนังสือเจาะลึกตรวจสุขภาพ 4.0 สำนักพิมพ์ AMARIN Health


บทความน่าสนใจอื่นๆ

ต้องรู้ตรวจสุขภาพ ก่อนวางแผนมีบุตร

ชวนเช็กข้อมูล ตรวจสุขภาพ เลือกแพ็คเก็จอย่างไรให้เหมาะ คุ้มค่าชัวร์

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.