ตรวจสุขภาพสำหรับผู้หญิง ตรวจสุขภาพ สุขภาพผู้หญิง โรคของผู้หญิง ผู้หญิง

ตรวจสุขภาพสำหรับผู้หญิง เรื่องเฉพาะที่ควรตรวจเพิ่ม

การตรวจเต้านมด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์

การตรวจเต้านมด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ (Breast Ultrasound) คือ การใช้คลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อตรวจหาความผิดปกติในเต้านม เมื่อคลื่นเสียที่ถูกส่งเข้าไปในเนื้อเต้านมกระทบกับเนื้อเยื่อต่างๆ จะสะท้อนกลับขึ้นมาเป็นภาพรายละเอียดภายใน จึงทำให้แยกเนื้อเยื่อเต้านมปกติกับก้อนในเต้านมได้ และยังสามารถบอกได้ว่า ก้อนที่พบนั้นเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ กรณีที่เป็นถุงน้ำอาจจะโชคดี เพราะไม่เหมือนมะเร็ง แต่ถ้าเป็นก้อนเนื้อ เครื่องอัลตราซาวนด์ยังช่วยบอกได้ว่าก้อนเนื้อนั้นมีแนวโน้มเป็นปกติหรือค่อนไปทางเนื้อร้าย

ข้อดีของการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ : ตรวจได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่ต้องใช้เครื่องมือกดเต้านมเหมือนแมมโมแกรม จึงไม่ทำให้เจ็บและผู้รับการตรวจไม่ได้รับรังสีใดๆ แต่การตรวจเพื่อหาจุดหินปูนหรือจุดที่สงสัยมะเร็งตั้งแต่ที่ยังคลำไม่พบนั้น การตรวจวิธีนี้ยังสู้แมมโมแกรมไม่ได้ ผู้เชียวชาญจึงนิยมใช้อัลตราซาวนด์เสริมกับการตรวจแมมโมแกรมในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำมากขึ้น และช่วยให้วางแผนการรักษาได้ง่ายขึ้น

 

การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม

การตรวจเต้านมแมมโมแกรม หรือการตรวจเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) เป็นการตรวจภาพเนื้อเยื่อภายในเต้านมด้วยรังสีเอกซ์ (เอกซเรย์) ซึ่งใช้หลักการเดียวกับการฉายเอกซเรย์ตรวจปอดหรือตรวจอวัยวะอื่นๆ เพียงแต่ว่าเจาะจงเฉพาะเนื้อเยื่อของเต้านมเท่านั้น เครื่องนี้ใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป 30 – 60% และมีความสามารถในการตรวจที่ละเอียดมากในระดับที่เห็นเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ แม้จะเป็นก้อนหรือจุดขนาดเล็กก็ตาม

การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมเป็นการตรวจที่มีประสิทธิภาพมาก สะดวก รวดเร็ว และประหยัดเวลา ส่วนค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับปานกลาง ปัจจุบันเรานิยมใช้ดิจิทัลแมมโมแกรม (Digital Mammography) เป็นเครื่องแสดงภาพแบบดิจิทัลที่ดูได้จากหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีข้อดีตรงที่ตรวจง่าย การเก็บผลและการดึงภาพออกมาดูซ้ำได้ภาพที่ดีกว่า ง่ายต่อการสังเกตและเปรียบเทียบเนื้อเยื่อที่ผิดปกติกับเนื้อเยื่อที่เป็นปกติ

สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในคนปกติ แพทย์มักแนะนำให้ตรวจแมมโมแกรมเริ่มต้นเมื่ออายุ 40 ปี ต่อจากนั้นอาจตรวจทุก 1 – 2 ปีต่อเนื่องไปโดยไม่จำกัดอายุที่สิ้นสุดการตรวจ

ตรวจสุขภาพสำหรับผู้หญิง ตรวจสุขภาพ สุขภาพผู้หญิง โรคของผู้หญิง ผู้หญิง มะเร็ง มะเร็งเต้านม มะเร็งในผู้หญิง
ตรวจสุขภาพสำหรับผู้หญิง

ข้อจำกัดของการตรวจแมมโมแกรม

  • การตรวจในผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี การแปลผลจะทำให้ยากและอาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้สูง เนื่องจากเนื้อเยื่อภายในเต้านมของผู้หญิงอายุน้อย มักจะมีความหนาแน่นจนทำให้เนื้อเยื่อเต้านมอาจบดบังก้อนเนื้อมะเร็งได้ แพทย์จึงมักแนะนำให้ตรวจด้วยวิธีอัลตราซาวนด์ทดแทน หรือตรวจแมมโมแกรมควบคู่ไปด้วยเพื่อความแม่นยำมากขึ้น
  • การตรวจแมมโมแกรมไม่สามารถบอกได้ว่าก้อนที่ตรวจพบนั้นเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ ซึ่งจำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอัลตราซาวนด์ต่อไป
  • หากสงสัยว่าตนเองอาจเริ่มตั้งครรภ์จำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน เพราะรังสีเอกซ์จากการตรวจอาจกระทบต่อทารกในครรภ์ ก่อให้เกิดความพิการได้
  • ในช่วงสัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน และ/หรือในช่วงให้นมบุตร เต้านมมักจะเพิ่มขนาดใหญ่ขึ้นและเจ็บ และอาจส่งผลให้การตรวจผิดพลาดได้จากการบวมหรือจากการไม่สามารถบีบเต้านมได้เวลาตรวจกับเครื่อง
  • งดการทาแป้ง ยาระงับกลิ่นตัว รวมถึงการใช้น้ำหอมหรือทาโลชั่นใดๆ เนื่องจากการตรวจจะรวมการตรวจภาพต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ด้วย สารเคมีเพียงเล็กน้อยอาจไปปรากฏในภาพและทำให้แพทย์เข้าใจผิดว่าเป็นจุดผิดปกติได้
  • หากเคยตรวจเต้านมเองที่บ้านแล้วพบจุดผิดปกติ อย่าลืมแจ้งแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจดูเต้านมข้างนั้น

 

 

 

 

 

<< รายงานผลตรวจแมมโมแกรม อ่านต่อหน้าที่ 4 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.