โรคหืด ภูมิแพ้ โรคภูมิแพ้ โรคระบบทางเดินหายใจ

รู้จัก “โรคหืด” โรคที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคภูมิแพ้

การรักษาโรคหืด

การรักษาโรคหืดประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก คือ การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ การใช้ยา การฉีดวัคซีนภูมิแพ้

1. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ที่เป็นสาเหตุของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย

โดยจะทราบจากผลการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ง่ายๆ ในเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป เมื่อพบว่าแพ้สิ่งใดแล้ว ควรหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นด้วยวิธีการต่างๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของสารที่แพ้

2. การใช้ยา

การใช้ยานี้จะใช้แตกต่างกันตามระดับความรุนแรงของโรค โดยยาที่ใช้จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

2.1 ยาที่ใช้เฉพาะเมื่ออาการกำเริบ

โดยยาจะช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก หายใจลำยาก ไอ เช่น

– ยาขยายหลอดลมชนิด Beta 2 agonists ที่ออกฤทธิ์สั้น

มีทั้งแบบสูดพ่น แบบกิน (เม็ดและน้ำ) และแบบฉีด ซึ่งยาสูดพ่นจะออกฤทธิ์เร็วและมีฤทธิ์ข้างเคียงต่ำกว่ายาชนิดอื่น มีความปลอดภัยสูง ใช้ได้แม้ในเด็กเล็ก ยาจะออกฤทธิ์อยู่ครั้งละประมาณ 4 ชั่วโมง

– ยากลุ่ม anticholinergic

เป็นยาสูดพ่อออกฤทธิ์ขยายหลอดลม (แต่อ่อนกว่ายากลุ่ม Beta 2 agonists ที่ออกฤทธิ์สั้น และเริ่มออกฤทธิ์ช้ากว่า คือประมาณ 30 นาที) มักใช้ร่วมกับยา Beta 2 agonists ที่ออกฤทธิ์สั้น ใช้ในรายที่อาการรุนแรง

 

โรคหืด ภูมิแพ้ โรคภูมิแพ้ โรคระบบทางเดินหายใจ
โรคหือเป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจ ทำให้หลอดลมมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ มากผิดปกติ

 

2.2 ยาที่ใช้ประจำเพื่อควบคุมโรคให้สงบ เพื่อป้องกันและลดอัตราและความรุนแรงของการกำเริบของโรค

ยากลุ่มนี้ เช่น

– สเตียรอยด์ (steroid)

เป็นยาในกลุ่มควบคุมโรคที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุด นำมาใช้รายที่มีอาการต่อเนื่องทุกระดับความรุนแรงของโรค มีทั้งแบบพ่นสูด กิน ฉีด โดยยาจะออกฤทธิ์ลดการอักเสบและลดความไวต่อสิ่งกระตุ้นของหลอดลม ทำให้สมรรถภาพการทำงานของปอดเพิ่มขึ้น ลดอาการ ความถี่ และความรุนแรงของโรค รวมทั้งเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้วย ซึ่งการใช้ยาสเตียรอยด์นี้ในรูแบบของยาพ่นจะให้ความปลอดภัยสูงกว่าชนิดกินและชนิดฉีด เนื่องจากปริมาณยาที่ใช้ในยาพ่นมีน้อยมาก แม้ในเด็กเล็กก็สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในขนาดยาที่แพทย์สั่ง

ส่วนการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดกินและฉีดจะใช้เมื่อเป็นมากเท่านั้น เพราะยากิน ยาฉีดสเตียรอยด์ หากใช้ต่อเนื่องจะมีผลเสียต่อร่างกาย เช่น กดการเจริญเติบโต เป็นเบาหวาน กระดูกผุ แผลในกระเพาะอาหารต้อกระจด ต้อหิน ความดันโลหิตสูง บวมน้ำ กดภูมิต้านทาน

– ยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาว 12 ชั่วโมง

โดยใช้ร่วมกับยาพ่นสเตียรอยด์ พบว่าทำให้อาการของโรคดีขึ้น ลดการกำเริบของโรค สมรรถภาพการทำงานของปอดเพิ่มขึ้น ทำให้ไม่ต้องเพิ่มยาพ่นสเตียรอยด์ให้สูงขึ้น ปัจจุบันจึงมีการรวมยาทั้งสองชนิดไว้ในกระบอกยาสูดเดียว เพื่อความสะดวกของผู้ป่วยและทำให้ค่ายาถูกลงกว่าการแยกยาทั้งสองออกเป็นสองกระบอก โดยผลต่อผู้ป่วยคงเดิม

ยาขยาดหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาวนี้ยังมีในรูปแบบยาเดี่ยวที่ไม่ผสมกับสเตียรอยด์ มีทั้งยาพ่น ยาเม็ด และยาน้ำ ไว้ใช้ในการป้องกันการหอบหลังออกกำลังกาย เหมาะกับเด็กที่ต้องไปออกกำลังกายที่โรงเรียน โดยสามารถใช้ยาจากบ้านตอนเช้า ยาจะออกฤทธิ์ได้จนถึงช่วงเย็น และใช้ควบคุมอาการของโรคในรายที่มักมีอาการหอบกำเริบช่วงกลางคืน

– ยากลุ่ม leukotrience modifier

ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์หลายด้าน เช่น สามารถขยายหลอดลมได้เล็กน้อย ลดอาการของโรค ทำให้สมรรถภาพปอดเพิ่มขึ้น และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วย แต่ฤทธิ์อ่อนกว่าสเตียรอยด์ และยาขยายหลอดลมอื่นๆ นิยมนำมาใช้ในการควบคุมโรคหืดในเด็ก โดยเฉพาะรายที่ไม่สะดวกเรื่องการพ่นยาและมีอาการไม่รุนแรงนัก

ข้อดี ของยากลุ่มนี้ คือ มีความปลอดภัยสูง และใช้สะดวก เนื่องจากเป็นยากิน

ข้อเสีย คือ ราคาค่อนข้างสูง

– Sodium cromoglycate

เป็นยาพ่นที่อ่อนกว่ายาพ่นสเตียรอยด์ ทั้งในแง่การควบคุมอาการ การลดความไวผิดปกติของหลอดลม การเพิ่มสมรรถภาพของปอด แต่ยานี้มีข้อดี ในแง่ความปลดภัยสูง

ข้อเสีย ต้องใช้ยาวันละหลายครั้ง

– Methylxanthines

เป็นยากินโดยมักใช้ชนิดออกฤทธิ์ยาวที่กินวันละ 2 เวลา โดยมักใช้ในรายที่มีอาการไม่รุนแรง หรือใช้ร่วมกับยาสูดพ่นสเตียรอยด์

ข้อดี คือ มีราคาถูก

ข้อเสีย คือ การดูดซึมยาไม่ค่อยแน่นอน หากได้ยาเกินขนาดอาจเกิดผลเสีย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ใจสั่น ชัก

การเลือกใช้ยาชนิดต่างๆ จะขึ้นระดับความรุนแรงของโรคและความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ปัจจุบันแพทย์นิยมใช้ยาชนิดพ่น มากกว่ายาชนิดกิน เนื่องจากปริมาณยาที่เข้าสู่ร่างกายน้อยกว่า และเข้าถึงอวัยวะที่ต้องการได้โดยตรงทันที ยาพ่นจึงมีประสิทธิภาพและความปลดภัยสูงกว่ายากินชนิดเดียวกันเสมอ

 

โรคหืด ภูมิแพ้ โรคภูมิแพ้ โรคระบบทางเดินหายใจ
โรคหือเป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจ ทำให้หลอดลมมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ มากผิดปกติ

 

3. การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ (Immunotherapy)

ใช้เฉพาะผู้ป่วยที่มีภูมิแพ้เป็นสาเหตุของโรค เป็นการปรับเปลี่ยนสภาวะภูมิต้านทานของผู้ป่วยที่เคยแพ้ต่อสารหนึ่งๆ ให้แพ้ลดลง จนถึงไม่มีอาการเมื่อสูดหายใจเอาสารนั้นเข้าไปอีกในภายหลัง หลอดลมจะไม่เกิดการหดตัวหรือมีปฏิกิริยาลดลงกว่าเดิม เป็นผลให้โรคดีขึ้น

นอกจากนี้ผู้ป่วยควรดูแลสุขภาพทั่วไปด้วย เช่น

– หลีกเลี่ยงจากมลพิษต่างๆ เช่น ควันบุหรี่ ควันท่อไปเสียรถยนต์ ควันธูป ก๊าซโอโซน

– ส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายตามความเหมาะสม โดยอาจใช้ยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์สั้นพ่นก่อนออกกำลังกาย 15 นาที รักษาสุขภาพจิตให้แจ่มใส หากไม่สบาย เช่น เป็นหวัด ควรรีบรักษา อย่าปล่อยให้เป็นนาน

 

ผู้ป่วยโรคหืดบางรายจะมีอาการของโรคกำเริบเมื่อรับประทานยาจำพวกแอสไพริน ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงยาแอสไพรินลดไข้ ยาในกลุ่มที่แก้ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ควรใช้ยากลุ่มพาราเซตามอลแทน

 

ข้อมูลจาก หนังสือโรคภูมิแพ้ สำนักพิมพ์คลินิกสุขภาพ


บทความน่าสนใจอื่นๆ

มาทำความรู้จักกับ โรค “ไซนัสอักเสบ” อีกหนึ่งโรคที่เกิดจากโรคภูมิแพ้

ภูมิแพ้ขึ้นตา หรือภูมิแพ้ตา โรคที่ไม่ควรละเลย

โพรงจมูกอักเสบ โรคที่มีสาเหตุมาจากโรคภูมิแพ้

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.