ตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง โรคตับ ไขมันพอกตับ มะเร็งตับ ตับอ่อน

“ตับ” ของเราป่วยด้วยอาการใดได้บ้าง

อาการ

อาการของผู้ป่วยโรคตับแข็งแบ่งได้ 2 ระยะ คือ ระยะไม่แสดงอาการ และระยะแสดงอาการ โดยส่วนใหญ่ผู้ที่มีภาวะตับแข็งจะอยู่ในระยะไม่แสดงอาการ ซึ่งระยะนี้ใช้เวลานานหลายปี อาจนานนับ 10 ปีกว่าจะเข้าสู่ระยะแสดงอาการ ฉะนั้นหากเราไม่ตรวจสุขภาพแบบเฉพาะเจาะจงจะไม่มีทางรู้เลยว่ากำลังป่วยเป็นโรคตับแข็ง

ทั้งนี้เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ระยะแสดงอาการจะมาพบแพทย์ด้วยอาการหลักๆ คือ

– อ่อนเพลีย เนื่องจากตับมีหน้าที่สร้างพลังงาน เมื่อตับทำงานได้น้อยลงร่างกายก็ได้รับพลังงานน้อยลงด้วย

– มีภาวะดีซ่าน ตัวเหลืองและตาเหลือง เพราะตับไม่สามารถขับน้ำดีออกจากร่างกายได้

– เลือดออกแล้วหยุดยาก เกิดจ้ำเลือดตามตัวได้ง่าย เนื่องจากตับสร้างสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้น้อยลง

– ขาบวม ท้องโต มีน้ำคั่งอยู่ในช่องท้องเนื่องจากตับผลิตโปรตีนแอลบูติน (โปรตีนที่ช่วยโอบอุ้มน้ำและเกลือแร่เอาไว้ในหลอดเลือดได้น้อยลง ส่งผลให้น้ำและเกลือแร่รั่วออกมาสะสมตามท้องและขา

– เหนื่อยง่าย เนื่องจากร่างกายรับออกซิเจนได้ไม่เต็มที่เพราะมีน้ำในช่องท้องมาก น้ำจะดันกะบังลมให้สูงขึ้น ทำให้เวลาเราหายใจเข้า ปอดก็ขยายเพื่อรับอากาศได้ไม่เต็มที่ บางครั้งน้ำอาจรั่วเข้าไปในปอดจะยิ่งทำให้เหนื่อยมากขึ้น

– เบื่ออาหาร อิ่มเร็ว เพราะมีน้ำแน่นอยู่ในช่องท้อง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอึดอัด

– ร่างกายไวต่อยาและเกิดผลข้างเคียงของยามากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยโรคตับแข็งจะไม่สามารถขับยาออกจากเลือดได้ในอัตราปกติ ดังนั้นตัวยาจึงสะสมอยู่ในร่างกายและออกฤทธิ์นานขึ้น

– ผู้หญิงอาจมีประจำเดือนผิดปกติ ส่วนผู้ชายอาจมีเต้านมขยายใหญ่ขึ้นและสมรรถภาพทางเพศลดลง

– มีอาการคันที่ผิวหนังทั่วร่างกายอย่างรุนแรง เนื่องจากน้ำดีที่รั่วไหลมาตามผิวหนังไปก่อความระคายเคืองให้เส้นประสาท

– อาจมีอาการทางสมองเพราะตับไม่สามารถขับสารพิษออกมาได้ สารพิษจึงสะสมให้เส้นเลือดและไหลเข้าสู่สมอง โดยผู้ป่วยจะเริ่มละเลยการดูแลตนเอง ไม่มีการตอบโต้ หลงลืมง่าย รวมทั้งไม่มีสมาธิ

– มีเลือดออกอย่างรุนแรงในกระเพาะอาหารส่วนบนหรือหลอดอาหาร เนื่องจากการไหลเวียนเลือดผิดปกติอาจส่งผลให้อาเจียนเป็นเลือด

– มีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดได้มากขึ้น เพราะน้ำที่คั่งค้างในท้องเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ชั้นดีของเชื้อโรคต่างๆ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตในที่สุด

นอกจากนี้แล้วผู้ป่วยก็อาจมาด้วยอาการของมะเร็งตับ คือ มีเนื้องอกในตับและมีอาการจุกแน่นท้องก็ได้เช่นกัน

กลุ่มเสี่ยง

ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคตับแข็งนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำและมีภาวะไขมันพอกตับ รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคอื่นๆ ซึ่งส่งผลกระทับต่อตับดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

ตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง โรคตับ ไขมันพอกตับ มะเร็งตับ ตับอ่อน

การวินิจฉัย

แพทย์จะซักประวัติความเสี่ยงของผู้ป่วยก่อน โดยผู้ป่วยต้องมีโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงซึ่งสามารถนำมาสู่การเป็นตับแข็งได้ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันเป็นเวลานาน มีภาวะไขมันพอกตับ ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น พร้อมกับตรวจดูอาการภายนอกว่ามีท้องมาน ประวัติอาเจียนเป็นเลือดจากการที่เส้นเลือดฝอยในหลอดอาหารแตก ซึ่งเป็นอาการของโรคตับแข็งหรือไม่

จากนั้นจึงตรวจเลือดเพื่อเช็กว่ามีหลักฐานการทำงานของตับที่ผิดปกติ เช่น สร้างโปรตีนได้น้อยลง ระดับแอลบูมินต่ำ ระดับ AST หรือ ALT สูง เป็นต้น หรืออาจตรวจอัลตราซาวนด์ เอกซเรย์ช่องท้องเพื่อดูความผิดปกติของผิวตับว่ามีผิวขรุขระหรือไม่ การตรวจเลือดวัดพังผืด หรือการตรวจอัลตราซาวนด์วัดพังผืด (Fibroscan) รวมถึงอาจเจาะเนื้อตับเพื่อตรวจดูปริมาณพังผืด หากหลักฐานทุกอย่างบ่งชี้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคตับแข็ง ก็จะประเมินอาการแล้วหาแนวทางการรักษาเป็นลำดับถัดไป

การรักษา

จุดประสงค์สำคัญของการรักษาโรคตับแข็ง คือ หยุดการอักเสบและการสร้างพังผืดในเนื้อตับ โดยพฤติกรรมของผู้ป่วยมีบทบาทสำคัญมากในการรักษา

แบ่งการรักษาออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

1. รักษาที่ต้นเหตุ

ก่อนอื่นแพทย์ต้องทราบก่อนว่าสาเหตุของการเกิดโรคตับแข็งคืออะไร เช่น ผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ผู้ป่วยก็ต้อง งดดื่มประมาณ 3-6 เดือน ตับก็อาจกลับมาทำงานเป็นปกติได้ หรือหากผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ก็ต้องหาทางควบคุมหรือกำจัดไวรัสเหล่านั้น เป็นต้น

อย่างที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า ตับมีความสามารถในการเยียวยาตัวเอง ฉะนั้นการรักษาที่ต้นเหตุจึงเป็นวิธีสำคัญที่ทำให้ตับกลับคืนสู่การทำงานตามปกติได้

นอกจากนี้ยังต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะกระตุ้นให้เกิดอักเสบและพังผิดให้ได้มากที่สุด เช่น หลีกเลี่ยงการใช้ยาพร่ำเพรื่อ หากมีอาการบวมตามข้อเท้าและท้องก็ควรลดการรับประทานเกลือและอาหารรสจัด ควรดื่มน้ำสะอาดและรับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัย เพื่อป้องดันการติดเชื้อ รับประทานอาหารอย่างพอเหมาะ รวมทั้งควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ บี ไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดบวม เนื่องจากผู้ป่วยโรคตับแข็งประสิทธิภาพการทำงานของตับจะด้อยลง ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็แย่ลง ทำให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อที่รุนแรงมากกว่าปกติ

2. รักษาตามอาการ

เป็นขั้นตอนการรักษาที่ต้องทำควบคู่กับข้อที่ 1 หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการใด ก็จะรักษาตามอาการนั้นๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องเพิ่มภาวะทางโภชนาการของผู้ป่วยให้มากขึ้น เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มักรับประทานอาหารได้น้อย ประกอบกับตับทำงานผิดปกติทำให้กักเก็บอาหารได้ไม่เต็มที่ ร่างกายจึงไม่มี่พลังงานสำรอง ซ้ำยังต้องอาศัยพลังงานในการหายใจมากกว่าปกติ เพราะน้ำในช่องท้องดันกะบังลมและปอดทำให้รับออกซิเจนได้น้อย เมื่อรับประทานได้น้อย กักเก็บไม่อยู่ และใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ผลที่ตามมาคือผู้ป่วยจะอยู่ในภาวะทุพโภชนาการอย่างมาก กล้ามเนื้อลีบ ท้องป่องเพราะบวมน้ำ ภูมิต้านทานตก และมีโอกาสติดเชื้อสูง

ฉะนั้นแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยโรคตับรับประทานอาหารโดยการแบ่งเป็นมื้อย่อยๆ วันละ 6-7 มื้อ คือ เช้า สาย เที่ยง บ่าย เย็น และก่อนนอน เพื่อให้ร่างกายมีพลังงานหล่อเลี้ยงอยู่ตลอด และต้องรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด (มักเค็ม) และเค็มจัด เพราะจะส่งผลกระทับให้อาการบวมน้ำยิ่งแย่ลง ที่สำคัญน้ำและอาหารต้องสะอาด ถูกสุขอนามัย และปรุงสุก เพราะผู้ป่วยโรคตับภูมิต้านทานร่างกายจะอ่อนแอลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย เชื้อโรคบางชนิดที่พลได้ในสัตว์น้ำเค็ม เช่น หอยแครง หอยนางรมสด และสัตว์น้ำจืด เช่น ปลานิล หรือผักน้ำจืดจำพวกผักกระเฉดอาจเข้าสู่กระแสเลือดจนทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยจึงต้องใส่ใจเรื่องสุขอนามัยมากเป็นพิเศษ

การติดตามผลการรักษา

เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง ตับของเขาไม่สามารถกลับมามีสภาพเป็นปกติได้ ตับมีพังผืดอย่างไรก็ยังคงมีพังผืดอย่างนั้น หรือหากเกิดทางเบี่ยงของเส้นเลือดอย่างไร ก็ยังมีทางเบี่ยงอยู่เช่นเดิมเพียงแต่การทำงานของตับโดยรวมดีขึ้นเท่านั้น ฉะนั้นเราต้องมีการติดตามผลการรักษาเพื่อดูว่ามีอาการใดๆ แทรกซ้อนหรือไม่

เบื้องต้นจะดูว่า อาการท้องมาน อาการบวมลดลงหรือไม่ หรือมีอาการเส้นเลือดแตกซ้ำหรือเปล่า อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายลดลงไหม รวมทั้งต้องนัดให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ซ้ำทุกๆ 3-6 เดือน เพื่อตรวจเช็กการทำงานของตับ และดูความเสี่ยงว่ามีโอกาสเกิดมะเร็งตับหรือไม่

 

ข้อมูลจาก หนังสือเมื่อตับประท้วงร่างกายก็พ่ายแพ้ สำนักพิมพ์ AMARIN Health


บทความน่าสนใจอื่นๆ

ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ภัยเงียบที่คุณควรรู้

ผู้ป่วยควรระวัง โรคเบาหวานจะกลายเป็น โรคมะเร็งตับ

เทคนิค 6+3 ป้องกัน+ดูแล ต้านโรคมะเร็งตับ

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.