ตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง โรคตับ ไขมันพอกตับ มะเร็งตับ ตับอ่อน

“ตับ” ของเราป่วยด้วยอาการใดได้บ้าง

ตับแข็ง

ตับแข็ง (Cirrhosis) เป็นภาวะที่ตับเกิดการอักเสบ ได้รับความเสียหายและเกิดแผลเป็นที่มีลักษณะเฉพาะ คือมีเนื้อเยื่อพังผิดเกิดขึ้นในเนื้อตับ ส่งผลให้การทำงานของตับลดลงในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตโปรตีน การเก็บสะสมสาระสำคัญและแร่ธาตุต่างๆ การทำลายสารพิษ รวมทั้งเกิดการปิดกั้นและบิดเบี้ยวของการไหลเวียนเลือดที่ไหลผ่านตับด้วย ทำให้เกิดทางเบี่ยงเป็นเส้นเลือดขอดในทางเดินอาหาร เป็นต้น

สาเหตุ

ตับแข็งเป็นผลพวงจากภาวะตับอักเสบเรื้อรังจากทุกๆ สาเหตุ เช่น จากภาวะไขมันพอกตับ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันเป็นเวลานาน การใช้ยาเกิดความจำเป็น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ฯลฯ เมื่อตับอักเสบติดต่อกันเป็นเวลานาน เซลล์ตับจะเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดภาวะตับแข็งได้

นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การที่ผู้ป่วยเป็นโรคอื่นๆ ที่พบได้ไม่บ่อย เช่น โรคสะสมธาตุเหล็กมากผิดปกติ หมายความว่าแทนที่จะดูดซึมตามปกติ กลับดูดซึมมากเกินปกติ จนเหล็กเข้าไปสะสมในตับมากและก่อให้เกิดการอักเสบจนเป็น ตับแข็ง หรือ โรควิลสัน (Wilson’s Disease) ซึ่งเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ร่างกายขับสารทองแดงออกจากร่างกายได้น้อยกว่าปกติ จนเกิดภาวะคั่งของทองแดงในตับและอวัยวะอื่นๆ ก็ทำให้เกิดตับแข็งได้เช่นกัน หรือภาวะท่อน้ำดีอุดตัน ทำให้น้ำดีไหลย้อนกลับไปที่ตับและทำลายเนื้อตับจนเป็นตับแข็งได้

ลักษณะการเกิด

โดยปกติตับของเราจะมีสีแดงเหมือนตับหมูที่เห็นทั่วไปตามท้องตลาด ผิวเรียบเนียน แต่เมื่อเกิดอาการอักเสบ เซลล์ตับตายจะทำให้ตับมีสีคล้ำขึ้น เมื่อตับอักเสบนานๆ เข้า เซลล์ตับถูกทำลายไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเกิดรอยแผลในตับ พอแผลหายก็กลายเป็นแผลเป็นที่มีลักษณะเป็นพังผืดดึงรั้งเนื้อตับให้บิดเบี้ยวไปจากเดิม คล้ายกับเวลาที่เราโดนมีดบาดแล้วแผลหายกลายเป็นแผลเป็นนั่นเอง

แต่ขณะเดียวกันเซลล์ตับที่ตายก็พยายามแบ่งตัวเพิ่มขึ้นเพื่อเยียวยาตัวเอง ฉะนั้นพังผืดที่เกิดขึ้นก็เหมือนเป็นหนังสติ๊กที่ไปดึงรั้งผิวตับเกิดเป็นเนื้อตับปูดขึ้นมา เมื่อมีแผลเป็นมากขึ้นก็เกิดการดึงรั้งมากขึ้นและค่อยๆ กระจายไปทั่วเนื้อตับ ในที่สุดจากผิวตับที่เรียบเนียนเหมือนผิวมะนาวก็เริ่มขรุขระกลายเป็นผิวมะกรูด หรือที่เรียกว่าตับแข็ง นั่นเอง

 

ตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง โรคตับ ไขมันพอกตับ มะเร็งตับ ตับอ่อน

ผลที่ตามมาของโรคตับแข็ง

1. เซลล์ตับเหลือน้อยลง ส่งผลให้การทำงานน้อยลงตามไปด้วย

2. พังผืดที่เกิดขึ้นไปดึงรั้งหลอดเลือดที่รับ-ส่งเลือดภายในตับทำให้เลือดไหลเข้า-ออกจากตับได้ยากขึ้น เลือดจึงคั่งค้างอยู่ในหลอดเลือด เมื่อเลือดไม่มีทางไปก็เกิดเหตุการณ์ตามมาได้ 2 รูปแบบดังนี้

– น้ำและน้ำเหลืองจำนวนหนึ่งอาจรั่วไหลไปในช่องท้องเกิดอาการท้องมาน

– เลือดดำที่เข้าไปหล่อเลี้ยงในตับพยายามหาทางเบี่ยงไปสู่เส้นเลือดอื่นๆ เช่น เส้นเลือดฝอยในหลอดอาหาร เป็นต้น เพื่อหาทางกลับสู่หัวใจ ทั้งนี้ทางเบี่ยงที่ไม่ได้ตั้งใจสร้างขึ้นนี้แม้จะสามารถรองรับการไหลเวียนของเลือดได้จริง แต่ก็ไม่ดีนัก เพราะนานวันเข้าเส้นเลือดนั้นๆ จะเกิดการโป่งพอง ผนังบางขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นหากความดันเลือดเพิ่มขึ้น หรือหากเบ่งอุจจาระแรงๆ เส้นเลือดนั้นๆ ก็มีโอกาสแตกและนำไปสู่การเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ในหลอดเลือดเส้นหลักยังมีคุปเฟอร์เซลล์ ซึ่งเป็นเซลล์สำคัญที่ช่วยดักจับเชื้อโรค เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางของการไหลเวียนเลือดไปยังทางเบี่ยงต่างๆ แทนที่เชื้อโรคจะถูกทำลายโดยคุปเฟอร์เซลล์ ก็มีโอกาสเข้าสู่กระแสเลือดได้มากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยโรคตับมีความเสี่ยงในการติดเชื้อมากขึ้นด้วย

3. เซลล์ตับพยายามแบ่งตัวเพื่อเยียวยาตัวเอง เมื่อเซลล์แบ่งตัวมากๆ เข้าก็อาจเกิดการแบ่งตัวผิดพลาด ก่อให้เกิดเป็นเซลล์มะเร็งได้

ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคตับแข็งส่วนใหญ่มักมีคำถามว่า ตอนนี้ตับที่ใช้งานได้เหลือกี่เปอร์เซ็นต์ จริงๆ แพทย์ไม่สามารถระบุการทำงานของตับออกเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ เพราะเมื่อตับแข็งจะไม่ได้แข็งเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่จะแข็งพร้อมกันทั้งหมด เหลือเซลล์ตับบางเซลล์เท่านั้นที่สามารถทำงานได้ตามปกติ

 

 

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 5 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.